YAK FEST เทศกาลที่ให้คุณลองออกจากชีวิตเดิมๆ รับรองว่าลองแล้วจะยักษ์

บันเทิง
YAK FEST เทศกาลที่ให้คุณลองออกจากชีวิตเดิมๆ รับรองว่าลองแล้วจะยักษ์

ในหนึ่งวันเราทำอะไรได้บ้าง คุณเคยลองคิดกันดูไหม เราเสียเวลา 24 ชั่วโมงในแต่ละวันไปกับอะไรซ้ำๆ แบบนี้

เข้าห้องน้ำ กินข้าว เดินทาง ทำงาน กินข้าว ทำงาน เดินทาง กินข้าว นอน ทั้งวันเราวนเวียนอยู่กับเรื่องพวกนี้ 

สำหรับคนทำงานออฟฟิศ คุณเคยลองนับเวลาที่ใช้ที่ออฟฟิศกับที่ใช้ที่บ้านดูไหม ถ้าคุณตัดเวลาที่คุณนอนหลับออกไป นับเฉพาะตอนตื่น ใน 1 วันคุณตื่นอยู่ที่บ้านกี่ชั่วโมง ตื่นอยู่ที่ออฟฟิศกี่ชั่วโมง ตื่นอยู่บนถนนตอนรถติดกี่ชั่วโมง คุณใช้เวลา 1 วันซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้มากี่ปีแล้ว
 
ใครสักคนเคยบอกไว้ว่า “อย่าคิดว่าจะได้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป ถ้าคุณยังใช้วิธีเดิม” หรือ “อย่ารอให้มะม่วงหล่นจากต้นมะพร้าว” ผมชอบประโยคหลังนี่มาก คือถ้าคุณปลูกแต่ต้นมะพร้าว แล้วคุณจะไปหวังจะได้มะม่วงจากไหน อยากได้มะม่วงก็ต้องปลูกมะม่วง อยากได้ทุเรียนก็ต้องปลูกทุเรียน ไม่อยากได้ชีวิตที่จำเจ ก็ต้องไปนอกระเบียบของชีวิตบ้าง
 
งานยักษ์เฟสเราเลยตั้งใจจะขอเวลาคุณสัก 24 ชั่วโมง ให้คุณลืมระเบียบชีวิตของคุณทั้งหมด มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในงานของเรา เราจะเตรียมกิจกรรมนอกระเบียบไว้มากมายให้คุณได้ลอง ลองทำเรื่องที่ไม่เคยทำ ลองชิมของที่ไม่เคยชิม ลองคุยกับคนที่คุณไม่รู้จัก ลองเต้นกับเพลงที่คุณไม่คุ้นเคย ลองนั่งนิ่งๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่แปลกตา ลองนู่นนี่นั่น
 
เราไม่รับประกันว่าคุณจะชอบทุกอย่างที่คุณจะได้ลองในงานนี้ แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่าหลังจากได้ลองแล้วคุณจะมองโลกได้กว้างขึ้น รู้อะไรมากขึ้น รู้จักคนมากขึ้น หรือแบบที่เราเรียกว่า “ลองแล้วคุณจะตัวใหญ่ขึ้น” อาจจะไม่ใหญ่เท่ากับความฝันที่คุณฝันไว้ แต่ใหญ่กว่าตอนที่ใช้ชีวิตในระเบียบของคุณเองแน่ๆ
 
เราเลยตั้งวลีสรุปความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในงานของเราว่า ‘ลองแล้วจะยักษ์’ น่ารักสุด พิมพ์อยู่นี่ยังรู้สึกเขินเลย
 
แล้วเรามีอะไรมาให้คุณลองบ้างในงานนี้
 
หลังจากได้ไอเดียเรื่องตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ไปแล้ว เราก็นั่งหารือและได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ถึงแม้เราจะชอบมันแค่ไหน แต่ก็คงเป็นได้แค่เปลือกของงานนี้ เปลือกที่จะดึงให้คุณหันมาสนใจ แต่ยังไม่ใช่แก่น ผู้คนคงจะสนใจมาถ่ายรูปกับตุ๊กตาเหล่านั้น หรือยืนชื่นชมผลงานของศิลปินที่เขาชื่นชอบ แต่จะทำให้เขาอยู่ร่วมกันทั้งวันเพื่อชื่นชมตุ๊กตาเหล่านี้ก็คงจะไม่ใช่ เราต้องการเนื้อหาที่ลึกและกว้างกว่านี้ ที่สำคัญ ต้องบันเทิง
 
ระหว่างที่นั่งคิดเรื่องแก่นของงานนี้ผมนึกถึงคำของ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค รุ่นพี่ที่ผมให้ความเคารพ พี่ด้วงบอกผมไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “เต็ดอย่าทำงานให้เป็นเต็ดอย่างเดียว ทำให้มันเป็นของชุมชนอะไรสักอย่างด้วย คุณจะได้มีเพื่อนมาช่วยคุณทำงานเยอะๆ”
 
คำเตือนจากพี่ด้วงนี้เป็นเหมือนนาฬิกาปลุกให้ผมสะดุ้งตื่น จริงของพี่เขานะ เนื่องด้วยเราทำงานมานาน มีประสบการณ์เยอะ บางทีเราก็เริ่มสร้างระเบียบชีวิตให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว เราเริ่มฟังคนอื่นน้อยลง คิดเองมากขึ้น บางทียักษ์เฟสอาจจะเป็นงานที่แม้แต่เราเองก็ต้องทำตัวเป็นคนดูด้วย ระเบียบชีวิตเราเริ่มจะเยอะเกินไปเสียแล้ว ผมนึกย้อนกลับไปถึงงานที่เคยทำหลายงานในอดีต
 
ที่ชัดที่สุดก็คือ FAT Festival ถึงแม้ภาพที่ออกมาจะเหมือนผมเป็นเจ้าของงานนั้น แต่จริงๆ แล้ว ทุกๆ คนในงานนั่นแหละที่เป็นเจ้าของ ผมและทีมงานมีหน้าที่แค่ชวนค่ายเพลง นักดนตรี คนทำหนังสือทำมือ คนทำหนังสั้น เอางานมาโชว์ในงาน ถึงวันงานเราไม่ต้องออกแบบ ไม่ต้องทำสคริปต์ ไม่ต้องบอกให้เขาแต่งหน้าร้านอย่างไร เราแค่ตีเส้นบอกให้รู้ว่าค่ายเพลงไหนมีพื้นที่เท่าไหร่ วงไหนเล่นตอนไหน หนังฉายกี่โมง แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยตัวของมันเอง
 
เมื่อคนดูมาถึงเขาจะเลือกเองว่าจะเดินไปดูอะไร ไปซื้ออะไร แต่งตัวอย่างไร ชวนใครมาบ้าง เท่ากับร่วมสร้างบรรยากาศของงานให้ออกมาเป็นอย่างที่เป็น ไอเดียที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี ก็เกิดจากการที่เราดูความเป็นไปในวงการเพลงว่าปีนั้นเกิดอะไรขึ้น ใครมีงานน่าสนใจ ใครมีไอเดียอะไรใหม่ๆ แล้วเราก็รวบรวมมาสรุปเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในงานปีต่อไปอีกที มันเป็นงานของชุมชนคนดนตรีจริงๆ
 
FAT Festival ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนคนดนตรี ถ้าเราปฏิบัติตัวกับศิลปินเหล่านั้นเหมือนเราเป็นเจ้าของงานแล้วก็จ้างเขามาเล่น แฟตเฟสจะเป็นงานที่น่าเบื่อมาก
 
วิธีแบบนี้พวกเราก็เอามาใช้กับงานทีเชิร์ตเฟสติวัล ที่ชวนผู้คนมาออกแบบเสื้อยืดขาย และก็เป็นเหตุผลให้ Big Mountain มีเวทีอโคจรให้น้าเน็กดูแล เวทีรำวงให้โจอี้บอยสร้างสรรค์ หรือการประกวดข้าวไข่เจียวเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าคิดสูตรข้าวไข่เจียวมาประชันกัน
 
พอนึกถึงประโยคนี้ของพี่ด้วง เราก็เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราจะไม่นั่งคิดอยู่คนเดียว เราจะหาเพื่อนมาช่วยกันทำให้ยักษ์เฟสเป็นงานของทุกคน และเพื่อให้วิธีสร้างงานนี้กลับไปเป็นวิธีที่เราสนุกกับมันอีกครั้ง เราเลยเริ่มนึกถึงคนที่เราไม่รู้จักแต่เราอยากทำงานด้วย หรือถ้าเป็นคนรู้จักอยู่แล้ว ก็อยากทำอะไรที่ไม่เคยทำด้วยกันดูบ้าง
 
คำว่าคอมมูนิตี้ใช้กันบ่อยขึ้นในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ผู้ที่มีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องนั้นมันจะเล็กแค่ไหนในสายตาคนอื่น แต่ถ้ามีคนคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ร่วมกันมากพอ คอมมูนิตี้ของเรื่องนั้นก็จะเกิดขึ้น เฟซบุ๊กมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารร่วมกันของคอมมูนิตี้ต่างๆ เพราะมีทุกอย่างที่ต้องมีครบ และฟรี เราจึงเห็นเพจรวมคนชอบเรื่องเดียวกันเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด ตั้งแต่เรื่องเพลง เรื่องหนัง เรื่องรถ เรื่องกิน เรื่องพระเครื่อง เรื่องคลิปโป๊ เราเชื่อว่าเพื่อนๆ ที่จะมาช่วยกันจัดงานยักษ์เฟสรอเราอยู่ในคอมมูนิตี้เหล่านี้แหละ เราแค่ต้องหาเขาให้เจอ หลังจากนั้นทีมแก่นก็ใช้เวลาเป็นเดือนค้นหาคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจ และสามารถเอาความชอบร่วมกันเหล่านั้นมาจัดเป็นอีเวนต์ได้
 
การรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อหาคอมมูนิตี้ที่เหมาะสมจึงเริ่มขึ้น 5 เดือนผ่านไป หลังจากที่ถกเถียงกันในที่ประชุม พบปะกับผู้คนจากคอมมูนิตี้ต่างๆ มากมาย แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเปิดโลกของทีมงานเรามาก มีเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนให้ได้ตื่นเต้นกันไม่เว้นแต่ละวัน
 
เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้ว่ามีคนบ้าเรื่องดูเมฆเหมือนกันอยู่กลุ่มใหญ่ วันๆ คุยกันแต่เรื่องดูเมฆ บางกลุ่มก็บ้าเรื่องเต้นแจ๊ส นัดกันไปเต้นแจ๊สในที่ต่างๆ เต้นกันแบบเอาเป็นเอาตาย ทุกกลุ่มที่เราได้พูดคุยด้วยต่างสนใจที่จะมาร่วมงานกับเรา ตื่นเต้นกับคอนเซปต์ของเรา แต่น่าเสียดายที่บางกลุ่มยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาร่วมในงานครั้งแรกนี้ หลังจากรวบรวมข้อมูลกันจนครบเราก็มาสรุปกันที่ 5 ชุมชนที่เหมาะกับงานครั้งแรกของเรามากที่สุด และพร้อมที่จะร่วมงานกับเรามากที่สุด แล้วเขาจะมาช่วยเราสร้างงานนี้ด้วยกันอย่างไร
 
ในงาน YAK Fest จะประกอบไปด้วย 5 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำชุมชนต่างๆ ที่เราคัดเลือกมาแล้วทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านมีหน้าที่ร่วมกับทีมแก่นคิดระบบนิเวศของตัวเองขึ้นมา เพื่อคอยต้อนรับผู้คนที่จะไปเที่ยวแต่ละหมู่บ้านนั้น
 
อยากให้ลองนึกถึงองค์ประกอบหลักของหมู่บ้านแบบไทยๆ
 
ลานวัด เป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน ใช้จัดกิจกรรมบันเทิง งานบุญ เลือกตั้ง ร้องทุกข์ ได้หมด
 
ตลาดโต้รุ่ง รวมของกินข้างถนน ประเภทของอาหารก็ต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
 
ตลาดนัด เป็นเสมือนช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ของหมู่บ้าน จะซื้อเสื้อผ้า ของใช้ มีให้เลือก
 
โรงเรียน เอาไว้เรียน
 
แลนด์มาร์ก บางที่ก็เป็นอนุสาวรีย์ บางที่ก็เป็นวงเวียน บางที่ก็เป็นบึงเป็นหาด แล้วแต่ลักษณะของภูมิศาสตร์ มักใช้เป็นที่นัดพบ นั่งคุย จู่จี๋ เม้ามอย  
 
หัวหน้าของแต่ละหมู่บ้านต้องมานั่งคิดกับเราว่าอยากให้แต่ละองค์ประกอบของแต่ละหมู่บ้านเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อแสดงตัวตนของชุมชนนั้นออกมาได้ชัดที่สุด
 
ต่อไปนี้คือ 5 หมู่บ้านที่จะเปิดทำการในงาน YAK Fest ครั้งที่หนึ่ง
 
 
Talk Village
เป็นหมู่บ้านขี้เล่าครับ รวมคนชอบฟังและคนชอบเล่า หัวหน้าหมู่บ้านคือ ทีม Glow Story ผู้ชื่นชอบและเชี่ยวชาญเรื่องทอล์กมากๆ งานสร้างชื่อของทีมนี้ก็คืองาน TEDxBangkok และ The Last Talk ที่ชวนคนมาคุยเรื่องความตายได้อย่างน่าสนใจ หมู่บ้านนี้ย่อมต้องเด่นเรื่องการเล่า มีตั้งแต่เล่าเรื่องหนัง เล่าเรื่องเพลง ไปยันเล่าเรื่องผี คนที่มาเล่าก็มีตั้งแต่ เต๋อ นวพล, มาโนช พุฒตาล, วง Lipta ยันทีมกรรมการ The Mask Singer นี่เป็นแค่ตัวอย่างนะ โซนอาหารที่นี่ก็เน้นให้นั่งกินนั่งเล่ากัน จึงเป็นร้านกาแฟให้นั่งจิบกาแฟ กินขนม บรรยากาศแบบสภากาแฟจริงๆ และยังมีกิจกรรมให้คุณได้ค้นหาตัวเองผ่านบททดสอบบุคลิก ให้รู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ควรจะคุยกับคนแบบไหน ที่สำคัญคือ ควรจะจีบคนแบบไหนมากที่สุด พร้อมรับสายรัดข้อมือแบ่งสีกันไปเลยจะได้มองหาสีที่ใช่ในงานได้ง่ายขึ้น ย้ำอีกที นี่แค่ยกตัวอย่าง

 
Rap Village
หัวหน้าหมู่บ้านคือ Rap is Now เจ้าพ่อแห่งการแรพแบทเทิล งานนี้จะรวมแรพเปอร์ตัวเจ็บทั้งใหม่และเก่ามาขึ้นเวที Thaitanium, Fukking Hero, UrboyTJ, YOUNGOHM มากันหมด คู่แบทเทิลสุดเดือดในตำนานก็จะกลับมาแบทเทิลล้างตากันอีกหลายคู่ แชมป์ของ Rap is Now ทั้งสามสมัยก็จะมาสอนคุณเขียนแรพในแบบของตัวเอง เรียนแป๊บเดียวก็ไปเปรี้ยวกับคนอื่นได้ มี Rap Exibition ให้คุณได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของสไตล์การแรพ นี่ก็แค่ยกตัวอย่างนะ

 
Organic Village
Thailand Young Farmer รับหน้าที่หัวหน้าหมู่บ้าน คนกลุ่มนี้จริงจังกับเรื่องการปลูก การเพาะ การปรุง การรักษาความสะอาด แบบไม่ประนีประนอม แต่ขณะเดียวกันก็มีไอเดียสนุกมากมาย ทั้งอาหารแบบ Farm to Table เตาบาร์บีคิวแบบเป็นกันเอง ที่พร้อมเสิร์ฟทั้ง Crayfish แบบสดๆ หรือเห็ดย่างอันเท่าแขนที่พวกเขารับประกันว่าอร่อยยังกะปลาหมึกย่าง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางเลือกที่อร่อยแบบยั่งยืน แต่ถ้าดื่มเยอะก็อาจจะยืนไม่ค่อยตรง เวทีคอนเสิร์ตในป่าที่ออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานที่สุด พร้อมศิลปินรักษ์โลกอย่าง Greasy Cafe, Morlum Paradise Bangkok, Rasmee Isan Soul หรือ ชาติ สุชาติ เป็นต้น

 
Bitchy Land
ทีม Trasher มาพร้อมกับไอเดียหมู่บ้านของเหล่านางแพศยา รวมตัวร้ายจากทุกวงการมาสนุกสนานด้วยกันที่นี่แบบเสรีไม่มีเรื่องรสนิยมทางเพศมาปิดกั้น เข้าหมู่บ้านนี้แล้วรู้สึกไม่มั่นใจ เรามีทีม ‘หิ้วหวีไปหิ้วหวีมา’ รับหน้าที่แปลงโมให้คุณเฉิดฉายได้ทั้งคืน บรรดาเหล่านางเงือกแพศยาก็ลอยคออยู่ในสระน้ำขนาดกะทัดรัดให้คุณได้สัมผัสด้วยสายตา หรือจะไปกราบไหว้บูชาอนุสาวรีย์ปากคว่ำปวารณาตัวเข้าเป็นสาวกความแพศยาของหมู่บ้านนี้ก็ได้ เมื่อเริ่มมั่นใจจะไต่เวทีขึ้นประกวดคาราโอเกะรวมเพลงร้ายๆ ชิงรางวัลตุ๊กตาหมีก็ไม่มีใครห้าม แต่ถ้ายังอยากหลบมุมดูเชิง ก็เพลิดเพลินกับบรรดาตัวแม่ของวงการ ทั้งเจนนี่ ปาหนัน หรือ Gene Kasidit ไปก่อนก็ได้ แล้วปิดท้ายด้วยปาร์ตี้กับทีม Trasher ยันเช้าก็จะเลิศมาก แม้แต่อาหารของหมู่บ้านนี้ก็ยังรวมอาหารรสแซ่บจากแม่ค้าปากตลาดทั่วฟ้าเมืองไทยมาไว้ด้วยกัน ใครอย่าเผลอทะเลาะกับแม่ค้าที่หมู่บ้านนี้ก็แล้วกัน ย้ำอีกสักครั้ง ว่านี่เป็นแค่ตัวอย่างจริงๆ

 
B Village
จริงๆ แล้วไม่ใช่ชื่อนี้ แต่ถ้าใช้ชื่อจริงเกรงว่าจะออกอากาศไม่ได้ เลยขอเรียกย่อๆว่า B Village หัวหน้าหมู่บ้านคือทีม Stonehead ผู้เคยประสพความสำเร็จกับการจัดงาน Beer Festival กลางกรุงเทพฯ มาแล้ว (ทำไมงานเขาใช้ชื่อเต็มๆ ได้นะ) หมู่บ้านนี้ไม่มีลีลาเยอะ เน้นกันที่ B เป็นหลัก มีคราฟต์ B ให้ได้ลองทำความรู้จัก จะลองเป็นขวดหรือ Tap ก็เลือกได้เต็มที่ หรือถ้าอยากลองอย่างละนิดแต่ได้ลองหลายอย่างเขาก็มีแพ็กเกจ B Testing ให้ได้ชิมนู่นนิดนี่หน่อยก่อนจะเลือกปักใจกับยี่ห้อที่เหมาะกับคุณที่สุด มีการให้ความรู้เรื่อง B ชนิดต่างๆ ออกจากหมู่บ้านนี้ไปจะเข้าใจ B มากขึ้น บนเวทีก็จะมีการแสดงของศิลปินดีๆ ที่เหมาะกับ B อร่อยๆ อย่าง The Toys หรือ Boom Boom Cash เป็นตัวอย่าง

 
ทั้งหมดนั้นเป็นแค่ตัวอย่างนะ จะให้บอกทั้งหมดที่นี่จะดูไม่ดี มันเหมือนเอาพื้นที่บทความมาโฆษณางานตัวเอง ซึ่งไม่อยากทำอย่างนั้นเลย นี่แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ ว่ามันจะมีอะไรประมาณนี้ แต่งานมันดีอะนะ อ่านแล้วน่าสนใจยังกะอ่านโฆษณาเลย
 
ลองนึกภาพทั้งหมดรวมกันนะครับ พื้นที่เขียวขจี มีต้นไม้เยอะ เดินเข้าไปแล้วเจอ 5 หมู่บ้าน 5 สไตล์ชีวิต มีตุ๊กตาเป่าลมยักษ์จากศิลปินดังวางกระจายอยู่ทั่วงาน มีผู้คนแปลกหน้าที่อาจจะต่างรสนิยมกับคุณ บางคนมาเพราะหมู่บ้านทอล์ก บางคนมาเพราะหมู่บ้าน B บางคนเป็นแฟนฮิปฮอป บางคนเป็นแฟนแทรชเชอร์ หรือบางคนมาเพราะอยากทาน Crayfish แต่ทุกคนน่าจะคิดอะไรเหมือนกันอย่างหนึ่ง เขาเบื่อระเบียบชีวิตของเขา เหมือนกับที่คุณก็เบื่อระเบียบชีวิตของคุณ เราให้เวลาคุณ 1 วันเต็มๆ ในนั้น ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงวัน คุณว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง อันนี้เราบอกไม่ได้ คุณต้องทำให้มันเกิดขึ้นมาเอง เพราะนี่ไม่ใช่งานของผม มันเป็นงานของพวกเราทุกคนรวมถึงคุณด้วย
 
เหมือนจะจบนะ แต่ยังไม่จบหรอก จะมาอัพเดตให้ฟังเรื่อยๆ ว่าเราทำอะไรไปถึงไหนกันแล้ว รออ่านกันนะ ส่วนเรื่องงาน เรารอเจอกันวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า ที่ The Ocean เขาใหญ่ ใน YAK Fest ลองแล้วจะยักษ์

ที่มา : yakfestival.com

โดย ยุทธนา บุญอ้อม
เเท็กที่เกี่ยวข้อง : YAK FEST