คำครู ฟังคำ ครูทอม คำไทย ว่าด้วยเรื่องภาษาไทย วรรณคดีไทย เด็กไทย และการศึกษาไทย

บันเทิง
คำครู ฟังคำ ครูทอม คำไทย ว่าด้วยเรื่องภาษาไทย วรรณคดีไทย เด็กไทย และการศึกษาไทย

ประโยคที่ว่าอย่าตัดสินคนจากการมองภายนอกใช้ได้อย่างดีกับชายตรงหน้า ลองหลับตาแล้วนึกภาพตาม ภายใต้บุคลิกสนุกสนาน เฮฮา ใบหน้ามีหนวดเคราครึ้ม ไว้ผมทรงเดรดล็อกแบบตำนานนักร้องเร็กเก้อย่าง Bob Marley

เขาคือผู้ที่สนใจภาษาไทยแบบลงลึกและหลงใหลวรรณคดีไทยจนเล่าได้เป็นฉากๆ เขาคือแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่และเขียนหนังสือชื่อ สุนทรภู่ไม่ได้เป่าปี่ พระอภัยมณีไม่ใช่คนระยอง และที่สำคัญ
 
เขาคือครู เขาคือ ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม หรือที่ใครๆ ต่างจดจำในนาม ‘ครูทอม คำไทย’
 
ทรงผมบนหัวไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่อยู่ในนั้น–ครูทอมมักตอบแบบนี้เสมอยามมีใครสักคนถามถึงเรื่องบุคลิกที่ขัดแย้งกับสิ่งที่สนใจใคร่รู้
 
จากชายหนุ่มที่จบด้วยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกภาษาไทย เขาสร้างชื่อด้วยการเป็นแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ รวมถึงงานต่างๆ ในวงการบันเทิง ทั้งในฐานะพิธีกรและนักแสดง แม้จะออกตัวว่าชอบทำหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำผ่านบทสัมภาษณ์ต่างๆ เสมอมาคือ เขามีความสุขกับการสอนหนังสือ นั่นจึงทำให้เขาเลือกเป็นครูตระเวนสอนตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกลโอกาส
 
ล่าสุดผมได้ข่าวว่าเขากำลังจะทอล์กโชว์ครั้งแรกในชีวิตที่ชื่อ ‘ครูทอม ออน สะเตด ตอน…ทอม-ขึ้น-คูล’ ในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ เลยตัดสินใจนัดเขาในบ่ายวันฝนพรำเพื่อคุยเรื่องไทยๆ หลายๆ เรื่องก่อนขึ้นเวที
 
ทั้งเรื่องภาษาไทย วรรณคดีไทย เด็กไทย การศึกษาไทย และดราม่าเรื่องการเขียนคำไทยให้ถูก

 
ทำไมคุณมักพาตัวเองไปอยู่ดราม่าเรื่องคำผิดในโลกโซเชียล
เรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกว่าคนมักจะเข้าใจผิดและคิดไปเองคือ คนชอบคิดว่าเรามักจะเข้าไปแก้คำผิดให้คนนั้นคนนี้ ซึ่งเราไม่ได้ทำเลย
 
คือเรารู้สึกว่าถ้าเป็นคนทั่วไปเขาจะใช้คำผิดมันก็เป็นเรื่องของเขา คือเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จักกัน เราจะไปแก้ให้เขาทำไม คนที่เราไปทักแก้คำผิดก็จะมีแต่เพื่อนสนิทที่เรารู้ว่าเขาเข้าใจ และเขายินดีให้เราเข้าไปแก้ให้ แล้วก็เวลาที่มีสื่อมวลชน สำนักข่าวต่างๆ เขียนผิด เราก็จะเข้าไปบอกว่าคำที่ผิดคืออะไร เพราะเรามองว่าสื่อมวลชนไม่ควรจะใช้ผิด เพราะจะมีคนอีกมากมายที่เห็นสื่อมวลชนใช้ผิดแล้วก็ใช้ตาม แต่คนทั่วไปใดๆ เราไม่เคยไปแก้คำผิดให้เขาเลยนะ แต่คนก็จะมองว่าเราชอบไปทำ ซึ่งกูไม่เคย (หัวเราะ)
 
ในมุมของคุณมีอะไรที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษาไทยบ้างไหม
อย่างหนึ่งที่เจอเยอะมากคือ หลายๆ คนจะเข้าใจว่าภาษาไทยมันต้องเป็นแบบนี้ ต้องตายตัวเป๊ะๆ อย่างเช่นคนจะบอกว่าคำว่า ‘ครับ’ ต้องเป็นครับ ต้องเป็น บ ใบไม้ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ มันสามารถที่จะพลิกแพลงไปเป็นอย่างอื่นได้ อย่างคำว่า ‘นะครัช’ เรามองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภาษารูปแบบหนึ่ง ทุกภาษาบนโลกมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางภาษามีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนการสะกดบ้าง เปลี่ยนความหมายบ้าง มีความหมายเพิ่มมา มีคำบางคำเกิดใหม่ หรือมีคำบางคำหายไป ซึ่งคำที่เกิดใหม่ในแต่ละยุคสมัยมันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรายังใช้ภาษานั้นอยู่ ภาษายังมีชีวิตอยู่ และมันยังเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ เรามองว่ามันคือความคิดสร้างสรรค์มากๆ ของคนในแต่ละยุค
 
คือพิมพ์ ครัช คุณรับได้ แต่พิมพ์ คะ-ค่ะ ผิดรับไม่ได้
มันคนละอย่างกันนะ บางคนจะเข้าใจว่าเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันเลย กรณีของคะ-ค่ะผิดมันผิดมาจากการผันวรรณยุกต์ พอผันวรรณยุกต์ผิดปุ๊บมันทำให้ออกเสียงคนละอย่าง และบางครั้งก็ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป แต่ในกรณีของคำว่า ‘ครัช’ เราก็เข้าใจว่าความหมายของมันก็คือ ‘ครับ’ แต่สิ่งที่ต่างกันคือระดับความเป็นทางการ อย่างเราบอกว่าสวัสดีครับ อันนี้คือเป็นทางการ แต่พอบอกว่าสวัสดีครัช มันคือสวัสดีครับแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งหน้าที่มันต่างกัน เพราะว่าเราไม่อยากเป็นทางการแบบสวัสดีครับ เราเลยพูดว่าสวัสดีครัช เพียงแต่ว่าถ้าจะใช้คำแบบนี้คุณก็ต้องดูกาลเทศะว่าควรใช้ตอนไหน ตอนไหนไม่ควรใช้ มุมมองเราเป็นแบบนี้
 
คนถามเราว่าทำไมซีเรียสกับคะค่ะ แต่ไม่ซีเรียสกับนะครับนะครัช คำตอบคือก็มันต่างกัน มันคนละก้อน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ อย่างคนที่ใช้คะ-ค่ะผิด นั่นแปลว่าเขาผิดเพราะเขาไม่รู้ แต่คนที่ใช้นะครัช ถามว่าเขาไม่รู้เหรอว่านะครับสะกดยังไง เขารู้ แต่เขาเลือกใช้นะครับที่เป็น ช ช้าง สะกดด้วยเหตุผลทางภาษา เพื่อลดระดับความเป็นทางการ
 
เห็นว่าเวลาว่างๆ คุณชอบอ่านพจนานุกรม
คนอื่นไม่อ่านกันเหรอ (หัวเราะ) สนุกนะ ผมชอบ
 
พจนานุกรมมีอะไรน่าสนใจ
เวลาเจอศัพท์แปลกๆ เราจะรู้สึกว่า ว้าว แปลกจังเลย ในนั้นมีคำแปลกๆ เยอะมาก เราได้เห็นได้รู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งพอคนถามว่ารู้ไปทำไม อ้าว ก็รู้น่ะ แค่นั้น รู้สึกสนุกเอง เป็นความสนุกส่วนตัวเวลาเราเจออะไรแปลกๆ หรือการนิยามความหมายแปลกๆ ในพจนานุกรม
 
อย่างเมื่อวานมีเพื่อนถามเรื่องคำว่า ‘กระโปก’ เราก็ไปเปิดพจนานุกรม คำว่า ‘กระโปก’ ความหมายที่หนึ่งคือส่วนของอวัยวะเพศชาย อีกความหมายหนึ่ง มันแปลว่าส่วนประกอบของล้อเกวียนตรงเพลา เราก็รู้สึกว่า ว้าว แปลกจังเลย คำนี้มันมีความหมายมากกว่าที่เราเคยรู้นะ ถึงแม้ว่าบางคำ บางความหมาย เราก็ยังนึกไม่ออกว่ากูรู้แล้วกูจะได้เอาไปใช้ตอนไหนวะ แต่แค่เรารู้ว่ามีคำนี้มันก็รู้สึกสนุกแล้ว
 
ล่าสุดคุณจัดงานทอล์กโชว์ ‘ทอมขึ้นคูล’ เห็นว่าก็จะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ทั้งเรื่องภาษาไทย วรรณคดีไทย
ใช่ ผมก็จะพูดถึงเกร็ดเกี่ยวกับภาษาไทย วรรณคดีไทย แต่ก็ต้องอธิบายก่อนว่าโชว์นี้มันไม่ใช่การสอนนะ บางคนจะคิดว่าพอเป็นครูแล้วต้องมาสอน ซึ่งไม่ แต่เราจะมาเล่าเรื่องตลกผ่านเกร็ดเกี่ยวกับภาษาไทย วรรณคดีไทย การศึกษาไทย แล้วก็ประสบการณ์การเดินทางหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่ไปมา
 
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าภาษาไทยกับวรรณคดีไทยเป็นสิ่งที่อยู่บนหิ้ง แตะต้องได้ยาก แต่คุณกลับจะเอามาเล่าเป็นเรื่องตลก
อันนี้คือปัญหาหนึ่งเลยที่ทำให้คนไม่สนใจภาษาและวรรณคดีไทย ผมเคยเจอหลายคนบอกว่าเราต้องสืบสานวรรณคดีไทยเพราะว่าวรรณคดีไทยเป็นมรดกของชาติ แต่เรารู้สึกว่าเป็นมรดกของชาติแล้วยังไง เรารู้สึกว่าทำไมไม่บอกไปเลยว่าอ่านวรรณคดีไทยกันเถอะ มันสนุกนะเว้ย อ่านวรรณคดีไทยเถอะ มันมีเกร็ดความรู้อันนี้นะ
 
ถ้าบอกว่าประโยชน์ของมันที่เห็นชัดคืออะไรบ้างมันจะทำให้คนรู้สึกว่าน่าอ่านกว่า การบอกว่าวรรณคดีไทยสนุก ตลก ได้ความรู้ มีเกร็ดอย่างนี้ เราว่ามันน่าอ่านกว่าการบอกว่าอ่านวรรณคดีไทยกันเถอะ เพราะวรรณคดีไทยคือมรดกของชาติ
 
ส่วนตัวเรารู้สึกว่าการที่เราเอาวรรณคดีไทย เอาภาษาไทย ไปไว้บนหิ้งมันไม่ใช่สิ่งที่ถูก มันเหมือนกับการแช่แข็ง อย่าทำแบบนั้นเลย ก็ในเมื่อวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่องเขาแต่งขึ้นมาเพื่อสร้างความบันเทิง เพื่อให้คนได้เสพความบันเทิงจากวรรณคดี ก็เอามันมาเล่นสิ
 
มุมมองแบบนี้เคยสร้างความเดือดร้อนให้คุณบ้างไหม
ไม่ถือว่าเดือดร้อน แต่ก็มีคนที่บ่นว่าทำไมเราถึงเอาวรรณคดีมาเล่าในเชิงสนุกสนานแบบนี้ อ้าว ทำไมล่ะ ก็วรรณคดีมันสนุกน่ะ ซึ่งผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
 
ฟังคุณพูดในงานทอล์กโชว์จบจะอยากกลับบ้านไปอ่านวรรณคดีไทยหรือเปิดพจนานุกรมอ่านตามคุณเลยไหม
จุดประสงค์หลักไม่ได้จะพูดเพื่อให้ทุกคนจะต้องกลับไปเปิดพจนานุกรมหรือกลับไปอ่านวรรณคดีไทย ไม่ใช่เลย จุดประสงค์คือมาดูแล้วต้องสนุก ซึ่งเรามั่นใจมาก บางคนอาจจะรู้สึกว่า โอ้โห ดูอวดมาก ซึ่งใช่ เรามั่นใจอย่างนั้น คือถ้าเรากำลังทำโชว์อยู่แล้วเราไม่รู้สึกแบบนี้ ถ้าเรารู้สึกว่าโชว์เราธรรมดามาก ไม่ค่อยสนุกหรอก มันก็แย่แล้ว เหมือนเวลาเราจะขายของน่ะ เราต้องมั่นใจว่าของเราดี มีคุณภาพจริงๆ อยากจะให้คนมาดู อยากให้คนมาเห็น ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าของเราดีหรือเปล่า เราไม่ควรจะเอาไปขายใคร ซึ่งตอนนี้เรารู้สึกแบบนั้นแล้วว่าของเราดีมากจริงๆ ดีชนิดที่คุณจะไม่เสียดายตังค์ที่ซื้อบัตรเข้ามาดู
 
แล้วคุณรู้สึกยังไงที่เราต้องพยายามทำเรื่องที่มีคุณค่าให้เป็นเรื่องตลกเพื่อให้คนสนใจ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่าบริบทสังคมที่ทำให้คนไม่อยากรับอะไรที่เครียดๆ หรืออะไรที่จริงจังอีกแล้ว คนไทยหลายคนรู้สึกเครียดมากพอแล้วกับสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ เวลาที่ต้องมาอ่านอะไรที่มันดูจริงจัง ที่มันเครียด เขาก็อาจจะคิดว่ามันยิ่งทำให้เขาเครียดขึ้นไปอีก เขาคงคิดว่าการเล่าเรื่องที่เนื้อหาจริงจังแต่ใช้กลวิธีที่เบาสมองจะทำให้เขามีความสุขกับการเสพเนื้อหาเหล่านั้นมากขึ้น
 
คุณคิดว่ามุมมองแบบนี้เป็นปัญหาไหม ที่อะไรก็ต้องทำให้ตลกคนถึงสนใจ
ใช่ เป็นปัญหามากๆ เลย เราเองเจอเด็กเยอะ เด็กมักจะมาบอกว่าครูที่โรงเรียนสอนไม่ดี เพราะว่าครูไม่ตลก ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่ สอนดีกับสอนตลกไม่เหมือนกัน ครูบางคนสอนดี สอนเข้าใจ ทำการบ้านต่างๆ มาสอนแต่เด็กไม่ชอบ เด็กบอกว่าครูไม่ตลกถือว่าสอนไม่ดี แบบนี้มันก็ไม่ใช่ ต้องบอกเด็กให้ปรับมุมคิดตรงนี้ใหม่ คือพอมีสื่อมากมาย มีครูที่สอนด้วยวิธีตลกๆ มากขึ้น เด็กก็เลยติดภาพว่าสอนตลกแปลว่าสอนสนุก แปลว่าสอนดี ถ้าครูในโรงเรียนจะสอนดีต้องตลกด้วย ซึ่งไม่ใช่
 
เห็นคุณเคยบอกว่าชอบสอนหนังสือมาก มีความสุขกับการสอน แล้วทำไมไม่เลือกเส้นทางเป็นครูประจำ
เราไม่เคยคิดอยากจะเป็นครูประจำในโรงเรียนเลย เพราะว่าเราไม่ได้อยากเป็นครูอย่างเดียว เราอยากทำอย่างอื่นด้วย เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นครูประจำในโรงเรียนมันปิดโอกาสในการทำอย่างอื่น เราคงไม่ได้มาเล่นละคร คงไม่ได้ทำงานพิธีกร เพราะว่าต้องทุ่มเทกับการสอนมากๆ แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้หรือตั้งแต่เมื่อก่อนครูไม่ได้สอนอย่างเดียว แต่ต้องมีภาระงานอย่างอื่นให้รับผิดชอบด้วย ก็เลยรู้สึกว่าถ้าไปเป็นครูประจำในโรงเรียนมันจะไม่ตอบโจทย์การทำงานของเรา เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มันเหมาะกับความต้องการ เพราะว่าได้สอนด้วย ได้ทำงานสายวงการบันเทิงด้วย
 
ทุกวันนี้คุณสอนบ่อยแค่ไหน
แล้วแต่โรงเรียนติดต่อมาเลย ถ้าโรงเรียนติดต่อมาแล้วคิวเราว่างเราก็จะไปให้ ส่วนใหญ่เนื้อหาที่สอนก็จะเป็นติวสอบ O-NET ติวสอบ GAT PAT เวลาที่เราจะอยู่กับเด็กบางโรงเรียนก็ 3 ชั่วโมง บางโรงเรียนก็ 6 ชั่วโมง บางโรงเรียนก็อาจจะ 2 วัน 12 ชั่วโมง แต่ก็จะมีบางโรงเรียนติดต่อมาอยากให้เราไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน แนะนำว่าควรจะอ่านหนังสืออย่างไร อ่านหนังสืออะไร หรือว่าไปเป็นวิทยากรเล่าเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีไทยให้เด็กชอบ ให้เด็กสนุกกับวรรณคดีไทย แบบนี้ก็มี
 
ในฐานะที่คุณเองเป็นติวเตอร์สอนเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่าเด็กไทยเรียนไปเพื่อสอบ
ก็จริง ก็จริง (เน้นเสียง) คือตราบใดที่ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งโรงเรียน ยังคิดว่าสิ่งหนึ่งที่จะเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าเด็กประสบความเร็จจากการเรียนชั้นมัธยมคือการสอบติดมหาวิทยาลัย มันก็ยังจะเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปแหละ
 
เรื่องการสอบเราเองก็ไม่มีอำนาจจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ทำได้แค่นี้แหละ คือต้องให้เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ด้วย อย่างเราเองเวลาไปสอน ถึงแม้ว่าจะเป็นการสอนเพื่อติวสำหรับไปสอบ แต่เราจะพยายามแทรกสิ่งต่างๆ เรื่อยๆ ให้เด็กเห็นว่านอกจากเพื่อไปสอบ สิ่งที่เขาเรียนมันเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรบ้าง ต้องพยายามทำให้เด็กคิดว่าอย่าเรียนแค่เพื่อสอบเท่านั้นนะ เรียนไปแล้วต้องเอาไปใช้ ต้องให้เขารู้ว่าที่เรียนมันเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง คือการเรียนทุกอย่างบนโลกนี้ ถ้าเราไม่รู้สึกว่าเกิดประโยชน์ แล้วเราจะเรียนทำไม
 
แล้วคุณรู้สึกย้อนแย้งไหม ที่ตัวเองเชื่อในการเรียนเพื่อนำไปใช้ แต่สุดท้ายการสอนของคุณก็ถูกวัดผลจากการสอบอยู่ดี
ใช่ แต่มันก็ไม่ได้รู้สึกย้อนแย้งขนาดนั้น เพราะว่าเราก็เข้าใจระบบการศึกษาไทยส่วนหนึ่งว่าเวลาจะคัดเลือกเด็กเข้าไปเรียนในแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องสอบ ถ้าไม่ใช้การสอบแล้วจะใช้วิธีไหนคดเลือกถึงจะเหมาะสมกับสภาพสังคม ผู้ใหญ่ก็ยังลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยๆ แต่เหมือนส่วนใหญ่จะลองยังไม่ค่อยถูกเสียมากกว่า
 
อันที่จริงปัญหามันก็สืบเนื่องมาจากการที่แต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน หลักสูตรไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น มันไม่ใช่ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน เด็กและผู้ปกครองก็อยากจะเรียนในที่ที่เหมาะกับตัวเขา ที่ที่เขาอยากจะเรียน แล้วถ้าอยากจะเรียนในที่ที่อยากเรียนก็ต้องสอบ

 
ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่อยู่กับการศึกษาบ้านเรา คุณพอจะมองเห็นปัญหาอะไรบ้างไหม
สิ่งที่ชัดมากอย่างหนึ่งคือ การศึกษาของประเทศนี้มันไม่เท่าเทียมกัน ตั้งแต่ประถม มัธยม คุณภาพของแต่ละโรงเรียนไม่เท่าเทียมกันเลย ทั้งคุณภาพด้านต่างๆ ทั้งสาธารณูปโภคหรือคุณภาพครู คือมันไม่เท่ากันเลย แล้วพอมันไม่เท่ากันแบบนี้ ผู้ปกครองก็อยากให้ลูกเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่ผู้ปกครองมั่นใจในคุณภาพ
 
อย่างตอนนี้ สิ่งที่เราไม่ชอบมากๆ คือหลายๆ โรงเรียนให้เด็กสอบเข้า ป.1 ซึ่งเด็กอนุบาลแทนที่เขาจะมีชีวิตวัยเด็กไปเล่นกับเพื่อนเพื่อไปพัฒนาทักษะด้านอื่นของชีวิต แต่ต้องมาติวเพื่อเข้า ป.1 ซึ่งผมจะรู้สึกว่าทำไมต้องทำแบบนี้ แต่มันก็เข้าใจได้ เพราะมันก็สอดคล้องกับที่บอกว่าแต่ละโรงเรียนคุณภาพไม่เท่ากัน ซึ่งการแก้ปัญหาจริงๆ ก็คือ คุณต้องทำให้คุณภาพแต่ละโรงเรียนเท่ากัน ซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว
 
คุณเชื่อว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาแก้ไม่ได้
เรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ยากมาก มากจนใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปไม่ได้เลย
 
อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณพยายามตระเวนสอนตามชนบทด้วยหรือเปล่า
ใช่ เราชอบไปสอนในชนบท เรามีความสุขมากเวลาไปสอนในต่างจังหวัดไกลๆ
 
เวลาเราไปสอนมันจะมีทั้งโรงเรียนที่มีตังค์และบางโรงเรียนที่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ซึ่งสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีเงินที่ติดต่อมา ถ้าคิวเราได้ เราก็จะไปให้แบบที่ไม่คิดค่าตัว หรือบางครั้งเราก็จัดกิจกรรมติวการกุศลของเราเอง ครั้งแรกที่ทำคือเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ซึ่งโรงเรียนที่เราเลือก เราเลือกโรงเรียนในชนบทจริงๆ เป็นที่ที่แทบจะไม่มีโอกาส ไม่มีงบประมาณจะมาเชิญวิทยากรข้างนอกเข้าไป ซึ่งค่าตัวจากที่ทำงานในวงการบันเทิง จากที่ขายบัตรทอล์กโชว์ ส่วนหนึ่งก็จะเอาไปแปลงเป็นงบประมาณสำหรับทำกิจกรรมการกุศลเหล่านี้ ถ้าผมไม่มีงานในวงการบันเทิงเลย หรือขายบัตรทอล์กโชว์ไม่ได้ ก็คงยากที่จะไปสอนฟรีได้บ่อย ๆ (หัวเราะ)
 
ที่บอกว่าชอบไปสอนในชนบท ชอบอะไร
ต้องบอกก่อนว่าเวลาทำ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากได้บุญนะ ไม่ได้รู้สึกว่าทำแล้วได้บุญ ดีจังเลย แต่เราทำแล้วสนุกดี มีความสุขที่ได้เห็นเด็กได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งเวลาเราเข้าไปสอนจะสอนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง แน่นอนว่าเราไม่สามารถจะให้ความรู้แบบเน้นๆ เนื้อ ๆ แบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่เราเชื่อว่าอย่างน้อยเด็กก็พร้อมจะไปต่อยอดด้วยตนเองได้ เขาจะสนุกกับการค้นคว้ามากขึ้น
 
แล้วการที่เราได้ไปเจอไปพูดคุยกับเด็กในพื้นที่จริงๆ ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นปัญหาอีกหลายๆ อย่าง เคยมีครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าสอนเรื่องอะไร แต่เราถามเด็กว่าลากับม้าผสมพันธุ์กันออกมาเป็นอะไร ซึ่งเด็กตอบว่า ‘ลามะ’ แล้วมันไม่ใช่มุก คือเด็กไม่รู้จริงๆ แล้วทั้งห้องไม่มีใครตอบได้เลยว่ามันคือ ‘ล่อ’ ซึ่งถ้าเราไม่ออกไปเจอจริงๆ เราก็จะไม่รู้เลยว่าเด็กไม่รู้จริงๆ
 
การได้ไปเจอเด็กเยอะๆ มันทำให้เรามีคลังคำถามมากขึ้นว่าอะไรที่คนยังไม่เข้าใจอยู่ แล้วพอเป็นแบบนี้มันก็ทำให้เราได้พัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนมากขึ้น
 
นอกจากไปสอน มีอะไรคุณพยายามบอกเด็กๆ เหล่านั้นที่ได้เจอบ้าง
อีกอย่างหนึ่งที่พยายามจะบอก เหมือนเป็นแนะแนวการศึกษา คือเราจะบอกให้เด็กหาความฝันของตัวเอง ทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะเจออะไรก็แล้วแต่
 
เราเจอเด็กหลายๆ คนตามชนบท บางคนเขารู้ว่าเขาอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร แต่เขาไม่กล้าทำ เพราะเขาคิดว่าเขาคือเด็กต่างจังหวัด ยากจนข้นแค้นแสนสาหัส เราก็เล่าให้เขาฟังว่า เฮ้ย เราก็เป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนกันนะ เราก็จะพยายามแทรกตรงนี้ให้เด็กได้หาตัวเองให้เจอ แต่ก็บอกไปด้วยว่าเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราก็ต้องดูว่าแต่ละชีวิตมีเงื่อนไขยังไงบ้าง แล้วถ้าเราอยากจะทำตามความฝันของตัวเอง มันทำได้มากน้อยแค่ไหน
 
เคยคิดไหมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องโครงสร้าง สิ่งที่เราทำมันเล็กน้อยและไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ
เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่ใหญ่โตอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เราไปแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง แก้ที่ระบบ แก้ที่กระทรวง เราไม่มีอำนาจมากพอจะไปทำอะไรตรงนั้นอยู่แล้ว เราก็ทำเท่าที่เราจะทำได้ นั่นคือการที่เราไปเป็นวิทยากร ไปสอนตามที่ต่างๆ ซึ่งมันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรแหละ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เด็กบางกลุ่มรู้สึกดี มีความสุขกับการเรียนภาษาไทยมากขึ้น ได้เข้าใจ แล้วก็มีพลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น เรารู้ว่าการที่เราทำตรงนี้มันเป็นสิ่งเล็กๆ แต่เราโอเค มันก็ไม่ได้แย่นี่ การทำสิ่งที่เล็กๆ
เรื่อง จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์
 

ที่มา : The Cloud
 
พบกับ วาไรตี้ทอล์กโชว์ครั้งแรกของ คูลทอม 
ใน ครูทอม ออน สะเตด ตอน...ทอม-ขึ้น-คูล
วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม นี้ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์