เที่ยวลำปางกับ 10 สถานที่สุดประทับใจน่าไปสัมผัส

เที่ยวลำปางกับ 10 สถานที่สุดประทับใจน่าไปสัมผัส

ลำปาง นับเป็นอีกจังหวัดในภาคเหนือที่เป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง ทำให้จังหวัดลำปางกลายเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั้งหลายต้องแวะเที่ยวชม มิใช่เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป



 
      ลำปาง เดิมชื่อ เขลางค์นคร เป็นเมืองหลวงคู่แฝดกับอาณาจักรหริภุญไชย ซึ่งเจ้าเมืองทั้งสองเป็นโอรสแฝดของพระนางจามเทวี นับเป็นอีกจังหวัดในภาคเหนือที่เป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ มีวัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีรถม้าที่ไม่เหมือนใคร มีอาหารการกินแสนอร่อย มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ทำให้ลำปางกลายเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง เช่น ถ้วยชามตราไก่ ที่เห็นกันจนคุ้นชิน

เที่ยว, ลำปาง, วัดพระธาตุลำปางหลวง, สะพานรัษฎาภิเศก, อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน, วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม,  กาดกองต้า, วัดศรีชุม, บ้านเสานัก, ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย, เหมืองแม่เมาะ, ชมเมืองลำปางบนรถม้า


 
1. วัดพระธาตุลำปางหลวง

     วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย


2. สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว

    สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา อำเภอเมือง เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ที่ตั้งชื่อจากพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟมีอายุผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว และรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรมาได้ด้วยการทาสีพรางตา และด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของนางลูซี สคาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น

    แต่เดิมสะพานรัษฎาภิเศกเป็นสะพานไม้เสริมเหล็กชำรุดผุพัง จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน ที่บริเวณสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพาน



 3. อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

     อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อยู่ในอำเภอเมืองปาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมสูงและเป็นแหล่งที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัส ในการใช้พลังงานน้ำธรรมชาติมาประยุกต์การดำเนินงานอย่างสอดคล้องเป็นประโยชน์

     อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 592 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีน้ำตกและบ่อน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์



4. วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

    วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่บนถนนสุชาดา ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า วัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ต่อมาจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน

    ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ องค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า, วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับวัดนี้ นอกจากนี้ ยังมีวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารพระเจ้าทองทิพย์ สร้างโดยพระนางจามเทวี อายุกว่า 1,000 ปี ประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ศิลปะสมัยเชียงแสน, มณฑป หรือพญาธาตุศิลปะแบบพม่า วิหารลายคำสุชาดาราม ฝีมือช่างเชียงแสน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน และยังมี พิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนา อันเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวัตถุแบบล้านนา เช่น สัตภัณฑ์ เครื่องถ้วยกระเบื้อง พระพุทธรูป เป็นต้น



5. กาดกองต้า

    ถนนคนเดินกาดกองต้า ตั้งอยู่ที่ถนนตลาดเก่า ริมแม่น้ำวัง อำเภอเมืองลำปาง เดิมเป็นย่านชุมชนทางเศรษฐกิจที่มีอายุกว่า 100 ปี เริ่มจากชัยภูมิที่เป็นที่ริมแม่น้ำวัง และต่อมาได้พัฒนาไปเป็นศูนย์กลางการค้าขายและส่งผ่านสินค้าสำคัญของเมืองลำปาง รูปแบบของสถาปัตยกรรมมีความหลากหลายทั้งศิลปะตะวันตก พม่า-ไทใหญ่ และจีน หลัง พ.ศ. 2459 ศูนย์กลางการค้าแห่งนี้ถูกลดบทบาทลงเนื่องจากการตัดผ่านเส้นทางรถไฟสายเหนือที่มาถึงลำปาง ผู้คนในจังหวัดจึงขยายถิ่นฐานไปตั้งอยู่รอบ ๆ สถานีรถไฟ จนเกิดกลายเป็นชุมชนใหม่ที่เรียกว่า "ชุมชนเก๊าจาว" แต่ในปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้กลับมาเป็นย่านการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง และคงไว้ซึ่งรูปแบบที่งดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม กาดกองต้าจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้าทำมือ อาหารพื้นบ้าน สินค้าที่ระลึก ลานกิจกรรม เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น.


6. วัดศรีชุม

    วัดศรีชุม ตั้งอยู่ที่ถนนศรีชุม-แม่วะ ตำบลศรีชุม อำเภอเมือง เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างใน พ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในตำบลสวนดอก จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่ พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้มีศิลปะการตกแต่งแบบล้านนาและพม่า หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น เป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่ง ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่และยังมีชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปจัดแสดงไว้ด้านหลังวิหาร วัดศรีชุมได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2524


7. บ้านเสานัก

    บ้านเสานัก ตั้งอยู่เลขที่ 6 ถนนราษฎร์วัฒนา ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง เป็นบ้านไม้ที่มีเสาไม้สักมากถึง 116 ต้น จึงเรียกว่าบ้านเสานัก (ตามภาษาพื้นเมือง นัก มีความหมายว่า มาก) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 โดย หม่องจันโอง ต้นตระกูลจันทร ชวิโรจน์ ลักษณะศิลปะพม่าผสมล้านนา ประกอบด้วยเรือนใหญ่ซึ่งเป็นเรือนหมู่ มีเสาไม้สักรองรับน้ำหนักบ้านถึง 116 ต้น หน้าบ้านมีต้นสารภีอายุ 133 ปี แต่เดิมบ้านเสานักเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและใช้เป็นสถานที่จัดขันโตกและงานพิธีมงคล โดยเปิดให้เข้าชมบ้านและของสะสมต่าง ๆ ทุกวันเวลา 10.00-17.00 น. ค่าเข้าชมพร้อมเครื่องดื่ม 30 บาท พระภิกษุ เด็ก นักเรียน นักศึกษา ชมฟรี สอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 5422 7653 หรือ เฟซบุ๊ก Baan Sao Nak | บ้านเสานัก ลำปาง


8. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

    ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และสวนป่าทุ่งเกวียน ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล อยู่ในความดูแลของอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) แต่เดิม ออป. เป็นศูนย์ฝึกลูกช้างซึ่งเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้างเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งและมีความชำนาญในการทำไม้ขณะที่แม่ช้างไปทำงานในป่า และเนื่องจากมีนโยบายปิดป่าซึ่งทำให้ช้างต้องว่างงาน ศูนย์ฝึกลูกช้างจึงถูกปรับมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย และที่นี่ยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลช้างด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ออป. ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์


9. เหมืองแม่เมาะ

    เหมืองแม่เมาะ หรือเหมืองลิกไนต์ เป็นแหล่งถ่านหินซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2460 มีปริมาณถึง 630 ล้านตัน และมีอายุประมาณ 40 ล้านปี พื้นที่เหมืองทั้งหมดเป็นของกรมป่าไม้ มีประมาณ 20,000 ไร่ สามารถใช้ได้อีกประมาณ 50 ปี บริเวณเหมืองมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่หลายโรง

    สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณรอบเหมือนแม่เมาะ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) ซึ่งให้ความรู้ทางธรณีวิทยาบริเวณเหมืองแม่เมาะ รวมทั้งประวัติความเป็นมาของเหมืองและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า นำเสนอผ่านภาพยนตร์ 3 มิติและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปิดบริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดวันจันทร์ เปิดให้เข้าชมวันละ 4 รอบ เวลา 09.00 น., 10.30 น., 13.00 น. และ 14.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 054-254950-5



10. ชมเมืองลำปางบนรถม้า

      นับเป็นเวลาย้อนหลังไปช่วง 80 ปีที่แล้ว สมัยของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตซึ่งตรงกับสมัยรัชกาล ที่ 5 การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ยังพัฒนาไม่ถึงนครลำปาง รถม้าเป็นพาหนะชนิดเดียวที่ได้รับความนิยมในการเดินทางสูงสุดและสามารถใช้บรรทุกของหรือสินค้า รถม้าคันแรกได้ถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ มีรถยนต์ใช้มากขึ้น บทบาทของรถม้าลากในกรุงเทพฯ จึงลดลงรถม้าจึงได้ถูกนำมาใช้ที่นครลำปาง และยังได้กระจายไปสู่เมืองหลักของภาคต่าง ๆ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏผู้ประกอบการรถม้าในเมืองดังกล่าวจึงเลิกกิจการไป คงเหลือแต่เฉพาะจังหวัดลำปางแห่งเดียว ที่ยังคงใช้รถม้าอยู่ตราบจนกระทั่งวันนี้




ที่มา :