วิ่งแบบนี้หักโหมไปรึเปล่า?

ไลฟ์สไตล์
วิ่งแบบนี้หักโหมไปรึเปล่า?

การออกกำลังกายนั้นดีกับสุขภาพ แต่ในอีกมุมหนึ่งการออกกำลังกายก็มีข้อเสียหากหักโหมร่างกายมากเกินไป

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลจาก : หนังสือ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนแปลงชีวิตคนมาแล้วจำนวนมาก” โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากรรมการกองมทุน สสส.
 
ปัจจุบันเทรนด์การออกกำลังกายที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ "การวิ่ง" กิจกรรมที่ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง อย่างไรก็ตามจริงอยู่ที่การออกกำลังกายนั้นดีกับสุขภาพ แต่ในอีกมุมหนึ่งการออกกำลังกายก็มีข้อเสียหากหักโหมร่างกายมากเกินไป ซึ่งผลที่ตามมาจากการออกกำลังกายหนักจนเกินไปนั้นก็มีตั้งแต่อาการบาดเจ็บ ไปจนถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งอาจเพิ่ม ความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงได้
 
วันนี้เว็บไซต์สสส. ได้รวบรวมคำแนะนำของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้บุกเบิกกระแสการวิ่งในเมืองไทย ที่ได้ถ่ายทอดผ่านหนังสือ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนแปลงชีวิตคนมาแล้วจำนวนมาก” มาฝากนักวิ่งกันค่ะ
 
“ไม่ว่าจุดมุ่งหมายของการออกกำลังกายของท่านจะอยู่ที่อะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความปลอดภัย” เพราะเราออกกำลังเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น เราควรประเมินระดับความสมบูรณ์ของร่างกายเพื่อจะได้เข้าใจถึงสภาพความแข็งแรง ความพร้อมหรือไม่พร้อมของร่างกายเรา” ศ.นพ.อุดมศิลป์ กล่าว
 
6 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดการหักโหมจากการวิ่ง
 
1.อย่าฝืนความรู้สึกของตัวเอง ร่างกายจะเป็นโค้ชและหมอที่ดีดีสุดทีจะบอกเราว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร ดังนั้นหากมีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นขณะวิ่งควรหยุด เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้หรือหน้ามืดเป็นลม รู้สึกคล้ายหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่ออก ใจสั่น แน่น หน้าอก หรือลมออกหู อาจเกิดจากร่างกายอ่อนแอ อดนอน หรือเจ็บไข้ รวมไปถึงอาจเกิดจากมีอากาศร้อนจัด ไม่ได้ดื่มน้ำและเกลือแร่พอเพียง หากมีอาการเกิดขึ้นควรชะลอความเร็ว เปลี่ยนเป็นเดิน แล้วจึงค่อย ๆ หยุดนั่งพัก หากยังไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์
 
2.เล่นกีฬาเสริมสลับกับการวิ่ง ไม่ควรซ้อมหนักเกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเมื่อร่างกายเกิดการเจ็บปวด ควรพักผ่อนให้หายดีเสียก่อนแล้วค่อยฝึกซ้อมให้เข้าสภาพเดิมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
3.การยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนและหลังวิ่ง หลาย ๆ คนมักละเลยการทำท่ายืดกล้ามเนื้อเพื่อยืด ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นไม่แพ้การอุ่นเครื่องร่างกายก่อนลงสนาม ไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบหนักหรือเบาก็ตาม เพราะการยืดกล้ามเนื้อจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
 
4.ระวังสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เช่น พื้นผิวถนน สิ่งกีดขวางระหว่างทาง เป็นต้น
 
5.ระวังปัจจัยที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยของตนเอง เช่น  อดนอน ภาวะเครียดจากการทำงานหรือทางอารมณ์ และการกินอาหารที่ได้คุณค่าไม่ครบถ้วน เป็นต้น
 
6.ฝึกการวิ่งอย่างถูกวิธี เนื่องจากโครงสร้างของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การจัดท่าทางการวิ่งควรจัดเพื่อให้วิ่งได้อย่างสบาย ไม่กระแทกและลื่นไหลก็ย่อมแตกต่างกัน ลักษณะการวิ่งอาจลงส้น หน้าเท้า หรือเต็มเท้า ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ท่าทางการวิ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้าง จังหวะการวิ่งของแต่ละคน ซึ่งต้องฝึกฝนและเรียนรู้
 
สำหรับท่าทางการวิ่งเบื้องต้นคือ จังหวะของการก้าวขาให้งอเข่าลงเล็กน้อยเสมอ เพื่อป้องกันแรงกระแทก ลำตัวตั้งตรงและเอนไปหน้าเล็กน้อย ไม่ส่ายไปมาหรือโยกขึ้นโยกลง แกว่งแขนขึ้นลงเบาๆ ให้ขนานแล้วตัดเข้าลำตัวเล็กน้อย โดยให้สัมพันธ์กับการก้าวเท้า ให้หายใจตามธรรมชาติเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้เพียงพอ หมั่นฝึกวิ่งเร็วสลับกันกับการวิ่งปกติเพิ่มความทนทานและความแข็งแรงของหัวใจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังยกระดับความสามารถของกล้ามเนื้อคุณ และส่งผลให้คุณวิ่งได้นานด้วยในที่สุด
 
รู้แบบนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่พร้อมจะออกวิ่งไปกับงาน วิ่งสู่ชีวิตใหม่ หรือ Thaihealth Day Run 2018 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพดี และสร้างนักวิ่งหน้าใหม่  ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ที่สนามศุภชลาศัย
 
 
 
ติดตามรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/runfornewlife  



ขอบคุณข้อมูลจาก สสส