เลิกเหล้า หยุดบุหรี่! เปิด 7 วิธีป้องกัน โควิด-19

ไลฟ์สไตล์
เลิกเหล้า หยุดบุหรี่! เปิด  7 วิธีป้องกัน โควิด-19

ข่าวการพบผู้ติดโควิด-19 เพิ่ม 11 ราย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 โดยเป็นการติดจากเพื่อนกลุ่มเดียวกันในงานเลี้ยงสังสรรค์ อยู่ในพื้นที่ห้องแอร์ที่มีพื้นที่จำกัด

สิ่งที่ชัดเจนในครั้งนี้คือ มีการดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ทำให้เกิดการติดโรคพร้อมกันมากถึง 11 คน !! เป็นบทเรียนสำคัญ ว่าเมื่อป่วยแล้วไม่กักตัว ทำให้เพื่อน คนใกล้ชิดติดเชื้อ แถมยังมีการใช้สิ่งของร่วมกันอีกด้วย
 
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  ระบุว่า การสูบบุหรี่นอกจากจะทำลายปอดแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด-19 สูงขึ้นถึง 14 เท่า !!“ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี   กล่าวภายในงานเสวนา “เหล้า บุหรี่ กับความเสี่ยงโควิด-19” ว่า การแพร่กระจายของโควิด -19  เกิดจากน้ำลายหรือเสมหะ ดังนั้น การแบ่งกันสูบบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกัน รวมถึงบารากู่และบารากู่ไฟฟ้า อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น
 

ดร.วศิน เล่าต่อว่า การสูบบุหรี่เสี่ยงปอดติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ กรณีแบคทีเรีย 2-4 เท่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า เชื้อวัณโรค มากกว่า 2 เท่า และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 4 เท่า ขณะที่โควิด-19 จะมีความเสี่ยงถึง 14 เท่า
 
โดยก่อนหน้านี้เคยมีโรคเมอร์ส ที่แพร่ระบาดในตะวันออกกลางเมื่อปี 2012 สาเหตุจากการสูบบารากู่โดยใช้สายสูบร่วมกัน จนทางการต้องสั่งห้ามบริการบารากู่ทั่วประเทศ เพราะเชื้อไวรัสแพร่กระจายทางน้ำลาย หรือสารคัดหลั่งได้
 
 “การสูบบุหรี่แม้เพียงมวนเดียว ก็ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพปอดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่ ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือให้บริการ ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ช่วงเวลานี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะเลิกบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19” ดร.วศิน กล่าว
 

ด้าน “รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ” ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ข้อมูลกรณีการดื่มแอลกอฮอล์ว่า การรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกันมาก ๆ หากมีใครสักคนที่มีเชื้ออยู่ก็มีโอกาสแพร่กระจายสู่คนรอบข้างได้ และการสังสรรค์ในกรณีที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ โอกาสแพร่เชื้ออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม โดยปกติคนที่ติดแอลกอฮอล์ มีโอกาสติดเชื้อในปอด เช่น วัณโรค หรือ ปอดบวม สูงกว่าคนทั่วไป
 
รศ.พญ.รัศมน บอกต่อว่า กลไกที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงคือ “ปัจจัยทางสังคม”   คนที่เป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าไปการดูแลสุขอนามัยจะไม่ดีเท่าคนอื่น เนื่องจากจะมีเรื่องของความเฮฮา สังสรรค์ บรรยากาศพาไป ทำให้ไม่ป้องกันตัวเองเต็มที่ บวกกับเรื่อง “ปัจจัยทางชีวภาพ”   การเป็นผู้ติดแอลกอฮอล์มานาน ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลง
 
ในงานวิจัยจึงพบว่า คนที่ติดแอลกอฮอล์ มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในเรื่องของปอด ได้มากกว่าคนทั่วไป 2.9 เท่า และในคนที่ติดเชื้อทางปอดเสียชีวิต 13.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร
 
สำหรับวิธีการป้องกัน โควิด-19 รศ.พญ.รัศมน  มีคำแนะนำ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด ผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก

2. เว้นระยะห่างกันประมาณ 1-2 เมตร เผื่อมีใครรับเชื้อมาแต่ยังไม่มีอาการ

3. ใช้ภาชนะที่เป็นของตนเอง รวมถึงควรแยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น

4. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%

5. ใส่หน้ากากอนามัย ถ้าไปที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ตามความสะดวกแต่ละคน

6. หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะการสังสรรค์ในสถานที่ปิด พื้นที่แออัด เพื่อลดการแพร่กระจาย

7. เลิกเหล้า หยุดบุหรี่ เพราะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ขณะที่การแพร่กระจายของเชื้อเกิดจากน้ำลายหรือเสมหะ  ดังนั้นการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน สูบบารากู่ร่วมกัน หรือใช้แก้วเดียวกัน ก็เสี่ยงที่จะติดเชื้อได้
 

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลโดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : สสส.