"สงกรานต์" คนไทยกลับบ้านปลอดภัย

ไลฟ์สไตล์
"สงกรานต์" คนไทยกลับบ้านปลอดภัย

ขอเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมสร้างสถิติใหม่ ให้ปีนี้เป็นสงกรานต์ที่ทุกคนได้กลับบ้านปลอดภัย เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ขับขี่ปลอดภัย มีวินัยจราจร และที่สำคัญคือ ดื่มไม่ขับ

เรื่องโดย ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) 
 
วันสงกรานต์โดยทั่วไปคือช่วงเวลาของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขอพรปีใหม่ สำหรับวัยรุ่นคือการเล่นน้ำ ปะแป้ง สนุกสนาน แต่สำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ วันสงกรานต์ถือเป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะกลับบ้านไปเจอครอบครัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
 
สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนอยากอยู่กับคนที่เรารัก สสส.และภาคีเครือข่ายจึงได้จัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย ไม่มีใครเป็นหนึ่งในสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน” ขึ้น และขอเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมสร้างสถิติใหม่ ให้ปีนี้เป็นสงกรานต์ที่ทุกคนได้กลับบ้านปลอดภัย เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ขับขี่ปลอดภัย มีวินัยจราจร และที่สำคัญคือ ดื่มไม่ขับ
 
สงกรานต์
 
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาตลอด 15 ปี อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลจะมีอุบัติเหตุทางถนนมากว่าช่วงปกติ จึงถือโอกาสใช้เทศกาลสงกรานต์เป็นวาระสำคัญในการรณรงค์เพื่อกระตุ้นเป็นพิเศษ ซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียคือ การเมาสุรา และการขับรถเร็วกว่ากำหนด
 
สงกรานต์
 
สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รณรงค์ใน 4 ประเด็นสำคัญในการขับขี่กลับบ้านอย่างปลอดภัย คือ 1. คาดเข็มขัดนิรภัย 2. สวมหมวกนิรภัย 3. ลดเร็ว ลดเสี่ยง 4. ดื่มไม่ขับ นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ปัจจัยเสี่ยงของการขับขี่ในช่วงเทศกาลที่มีอยู่ 4 ด้าน ได้แก่
 
ด้าน “คน” พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน อาทิ ความสามารถของผู้ขับขี่ลดลงเนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม ไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่เคารพกฎจราจร ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

ด้าน “ยานพาหนะ” ที่ไม่มีมาตรฐาน อาทิ ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์พื้นฐานในรถยนต์ อุปกรณ์ความปลอดภัย การปรับแต่งสภาพยานพาหนะ การบรรทุกที่ไม่ปลอดภัย

ด้าน “ถนน” ลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่สมบูรณ์ อาทิ ถนนชำรุด ผิวถนนเป็นหลุมบ่อ สภาพการจราจรที่หนาแน่น อุปกรณ์การควบคุมการจราจร ป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ มีสภาพไม่สมบูรณ์ และติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน จุดเสี่ยงจุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยและจุดตัดทางรถไฟที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ด้าน “สิ่งแวดล้อม” ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุดและไม่เพียงพอ อุปสรรคทางธรรมชาติและลักษณะภูมิอากาศ สิ่งกีดขวางตกหล่นบนช่องทางจราจร วัตถุอันตรายขวางทาง สิ่งกีดขวางทัศนวิสัย


ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและการสูญเสีย จึงอยากให้ผู้ที่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตรวจเช็คยานพาหนะให้พร้อมก่อนออกเดินทาง ระมัดระวังขณะขับขี่บนถนน และตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยง 4 ด้าน ขณะเดียวกัน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้กล่าวถึงอัตราของการเจ็บและเสียชีวิตว่า 2 ใน 3 นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน เพราะว่าในปัจจุบันคนกรุงเทพที่เดินทางออกต่างจังหวัดนิยมเดินทางออกก่อนช่วงเข้าเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นช่วงที่รถบนท้องถนนยังไม่เยอะ ทำให้สามารถขับขี่เร็วได้ และการขับขี่ไปยังจังหวัดที่ห่างไกลย่อมทำให้เกิดอาการหลับในตามมา จึงอยากฝากเตือนให้ประชาชนที่กลับบ้านเร็วตระหนักในข้อนี้ และเมื่อถึงจุดหมายไม่อยากให้ตั้งหลักดื่มฉลอง แต่อยากให้เข้าสู่ประเพณีวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมกิจกรรมครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เป็นต้น
 
สงกรานต์
 
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานแถลงข่าว "สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า" กระตุ้นเตือนให้ประชาชนขับขี่ไม่ประมาท และร่วมกันลดสถิติการสูญเสียในช่วงเทศกาล พร้อมร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการมีพื้นที่ปลอดภัยปลอดเหล้าในการเล่นสงกรานต์ และร่วมกันรักษาค่านิยมประเพณีการเล่นน้ำที่ดีงามของไทย
 
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนมีสติและนึกถึงความงดงามของประเพณีสงกรานต์และอย่าทำลายมันลงเพียงเพราะการดื่มเหล้า  และขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ไทยโดยสวัสดิภาพกันทุกคน



ขอบคุณข้อมูลจาก สสส