"สูงวัย" เดินดีไม่มีล้ม

ไลฟ์สไตล์
"สูงวัย" เดินดีไม่มีล้ม

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และจะมีแนวโน้มหกล้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th 
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือการดูแลผู้สูงอายุ “เดินดีไม่มีล้ม” โดย สวรส. สสส. มส.ผส.
 
“ลูก...คุณย่าล้ม ตอนนี้อยู่โรงพยาบาล” ปลายสายส่งเสียงด้วยความสั่นเครือ....
 
หลังจากวางโทรศัพท์ เด็กหญิงชั้นประถมศึกษาตอนต้น รีบเก็บของกลับบ้านทันทีหลังจากเลิกเรียน ด้วยจิตใจที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เพราะคนที่เธอรัก ดูแลเธอในทุกวัน “หกล้ม” โดยที่เธอก็ยังไม่รู้ว่าคุณย่าจะอาการหนักมากน้อยแค่ไหน แต่ในใจตอนนั้นดูวุ่นวาย และเป็นห่วงคุณย่าสุดหัวใจ
 
“ต้องผ่าตัดเนื่องจากกระดูหัก และใส่เหล็กไว้ในขานะครับ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกถึงแนวทางการรักษาให้ทางญาติทราบ
 
ผู้สูงวัย
 
วันนั้นเธอยังจำได้ดี ถึงเหตุการณ์ที่คุณย่าผู้เป็นที่รักหกล้มในวัย 65 ปี และภาวนาว่าอยากให้เหตุการณ์ “หกล้ม” ที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุลดน้อยลง เพื่อจะได้ลดจำนวนปู่ ย่า ตา ยาย ที่เป็น ‘มนุษย์ขาเหล็ก’ ให้น้อยลงไป เพราะเธอเองรับรู้ความเจ็บปวดหลังการรักษา และการกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดวันนั้นของคุณย่าได้ดี
 
ข้อมูลจากมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มหกล้ม ร้อยละ 28-35 ต่อปี และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 32-42 เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 เป็นต้นไป หมายความว่า การหกล้มจะเสี่ยงมากขึ้น ในอายุที่เพิ่มขึ้น
 
ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 20-30 ของการล้ม เป็นสาเหตุการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น กระดูกหัก หรือการบาดเจ็บของศีรษะและสมอง ยังส่งผลต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหว จากการเก็บข้อมูลของผู้สูงอายุที่ล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตัวเอง และนำมาสู่การเป็นโรคซึมเศร้า
 
ราคา “ค่าล้ม” เท่าไหร่?
 
หลังจากที่ผู้สูงอายุล้มลง แน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายในการรักษา ดูแล อย่างแน่นอน จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้สูงอายุที่หกล้มสูงกว่า 100000 บาท/คน/ครั้ง หากรวมค่าใช้จ่ายที่รวมค่าจ้างดูแล ราคาประมาณ 1,200,000 บาท/คน/ปี
 
ผู้สูงวัย
 
การจัดการปัญหาการหกล้ม
 
ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการดูแลผู้สูงอายุที่หกล้มนั้น ค่อนข้างเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว ดังนั้นการจัดการปัญหาการล้มในผู้สูงวัย ที่ดีที่สุด คือ การประเมินเพื่อจัดการความเสี่ยง และการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการล้มที่จะเกิดขึ้น
 
ปัจจัยภายในร่างกายที่มีผลต่อความเสี่ยงหกล้มของผู้สูงอายุ
 
1. การเดินและการทรงตัวผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ เป็นต้น
 
2. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง และภาวะโรคต่างๆ
 
3. ความบกพร่องด้านการมองเห็น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก
 
4. ระดับการทำกิจวัตรประจำวันและการเคลื่อนไหวลดลง เพราะไม่ได้ออกกำลังกาย
 
5. มีความบกพร่องด้านการกลั้นปัสสาวะ
 
6. กินยาบางชนิดที่มีผลต่อการทรงตัว
 
7. ความบกพร่องของการรับรู้ และภาวะจิตใจ
 
8. อื่นๆ
 
ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อความเสี่ยงหกล้มของผู้สูงอายุ
 
1. พื้นทางเดิน และสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย เช่น ฟื้นเปียก ลื่น ขรุขระ ของในบ้านวางแกะกะ
 
2. แสงสว่างในบ้านไม่เพียงพอ
 
3. สิ่งก่อสร้างไม่เอื้ออำนวย เช่น ห้องน้ำไม่มีราวเกาะ บันไดแคบและชัน
 
4. ทางเท้าและพื้นถนนอยู่ระหว่างการซ่อมแซม
 
5. เครื่องใช้และเครื่องแต่งกายไม่พอดีตัว เช่น เสื้อผ้าหลวมและยาวรุ่มร่าม รองเท้าหลวม พื้นรองเท้าลื่น
 
 
ผู้สูงวัย
 
การจัดการปัจจัยเสี่ยง
 
การจัดการปัจจัยเสี่ยงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ โดยจัดการทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เกิดขึ้น
 
1. ผู้สูงวัยควรได้รับการรักษาโรคประจำตัวหรือภาวะผิดปกติที่เสี่ยงต่อการล้ม
 
2. หมั่นรักษาระดับการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
 
3. ปรับพื้นทางเดินบ้านให้เรียบ ไม่ลื่น
 
4. เพิ่มแสงสว่างภายในบ้านให้เพียงพอ
 
5. ใช้พรมเช็ดเท้าแบบไม่ลื่นไถลง่าย
 
6. ติดราวจับในห้องน้ำและบริเวณบันได
 
7. หลีกเลี่ยงพื้นถนนที่ขรุขระ ควรใช้อุปกรณ์เสริมหรือมีคนดูแลใกล้ชิด
 
8. เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะกับตัวเอง
 
9. ใส่รองเท้ากระชับ พื้นไม่ลื่น
 
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะลดความเสี่ยงเรื่องการหกล้ม คือ การออกกำลังกาย โดยผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย ในระดับเบา โดยเน้นเรื่องการทรงตัว และการยืนเป็นหลัก เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
 
 
 


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส