รับมือ 4 โรคหน้าร้อน สำหรับคนทำงานกลางแจ้ง

ไลฟ์สไตล์
รับมือ 4 โรคหน้าร้อน สำหรับคนทำงานกลางแจ้ง

มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเฉลี่ยปีละ 32 คน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า ไม่ควรนิ่งนอนใจหากต้องออกไปสู้รบกับแสงแดดช่วงหน้าร้อน

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่  Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย : รอ.นพ.อดุลย์ชัย แสงเสริฐ  ทีมแพทย์จิตอาสา แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว และข้อมูลบางส่วนจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน
 
ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงเกือบ 40 องศา ในปลายเดือนเมษายน มองออกไปนอกหน้าต่าง เราจะเห็นผู้คนเดินขวักไขว่อยู่ริมถนน  ในมือถือพัด บ้างก็เอาหนังสือพิมพ์ที่ได้รับแจกฟรีก่อนขึ้นรถเมล์เมื่อเช้ามากำบังแสงแดดที่แผดเผา หยดเหงื่อที่ผุดขึ้นมาบนใบหน้า เป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัดนั่นเอง
 
หากลองมองย้อนกลับไป หลายคนโชคดีทีไม่ต้องออกแดดตลอดทั้งวัน สาวออฟฟิศได้นั่งทำงานในห้องแอร์ที่สามารถเนรมิตความเย็นเท่าไหร่ก็ได้  แต่คนอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ต่อสู่กับแสงแดดและหยาดเหงื่อที่โทรมกายทุกวัน อาทิ คนกวาดขยะ กรรมกร คนใช้แรงงาน  นอกจากความร้อนและความเหนื่อยที่ต้องต่อสู้แล้ว พวกเขาอาจไม่รู้เลยว่า มีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังคืบคลานมาเยือนตอนไหนก็ไม่สามารถรู้ได้ รู้ตัวอีกที อาจลืมตาตื่นขึ้นมาท่ามกลางแสงไฟของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลก็เป็นได้
 
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเฉลี่ยปีละ 32 คน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า ไม่ควรนิ่งนอนใจหากต้องออกไปสู้รบกับแสงแดดช่วงหน้าร้อน โดย รอ.นพ.อดุลย์ชัย แสงเสริฐ  หรือ หมอเกมส์ ทีมแพทย์จิตอาสา แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว ให้ข้อมูลว่า หากรู้สึกกระหายน้ำ สูญเสียเหงื่อมาก เวียนศีรษะ หน้ามืด นี่คืออาการเบื้องต้นของ โรคฮีทสโตรก หรือ ลมแดด หนึ่งในโรคช่วงหน้าร้อนที่คนทำงานกลางแจ้งมักจะพบเจอ ซึ่งเป็นโรคที่ระดับอุณหภูมิสูงเกินกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดน้ำมากเกินไป และทำให้เกิดอาการช็อกได้ ซึ่งต้องบอกว่าทุกคนทั่วไปที่อยู่ในอากาศร้อนๆ ก็สามารถเป็นได้ ไม่จำเป็นว่าต้องวัยทำงานอย่างเดียว
 
โรคตะคริวแดด หากขาดน้ำ ก็เกิดปัญหาแน่นอน เพราะอากาศร้อนมาก ตะคริวก็เป็นส่วนหนึ่งที่เมื่อเราขาดน้ำ จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง มีการสูญเสียของระบบสารน้ำในร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ 
 
โรคผิวหนังไหม้เกรียม ผิวไหม้ ลอก เนื่องจากออกกลางแจ้ง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ได้ป้องกันผิว ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ยังใช้ครีมกันแดดไม่ถูก เพราะมีความคิดว่าหาก SPF เยอะๆ จะดี ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ SPF คือระยะเวลาที่ปกป้องบนผิวหนัง แต่ไม่ได้ว่ามีความสามารถในการป้องกันยูวีได้ดี สิ่งที่ถูกต้องคือ ต้องดูค่า PA ยิ่งบวกเยอะ ยิ่งป้องกัน UV ได้ดีนั่นเอง
 
โรคผดร้อน เป็นการอักเสบของท่อเหงื่อ ทำให้เกิดตุ่มแดงที่ผิวหนัง มักจะพบตามขาหนีบ รักแร้ ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนอ้วน เหงื่อจะออกเยอะ เช่น รักแร้เป็นร่องแดง เกิดการเสียดสี เป็นต้น
 
โรคหน้าร้อน
 
หากต้องออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรเตรียมตัวอย่างไร?
 
1.เตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที
 
2.ดื่มน้ำ1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด
 
3.หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกาย ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร คือประมาณ 4-6 แก้วต่อชั่วโมง แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม แต่ในภาวะปกติ คนเราต้องดื่มน้ำวันละประมาณ 1.5-2 ลิตร
 
4.ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบาและสามารถระบายความร้อนได้ดี
 
5.ทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป ค่า PA +++
 
6.ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น.
 
7.ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด
 
การเผชิญกับ 4 โรคหน้าร้อนไมได้เป็นเฉพาะคนทำงานกลางแจ้งเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายอ่อนแอ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ขาดการเตรียมสภาพร่างกายให้เคยชินต่อความร้อน หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาและระบายความร้อนได้ไม่ดี หรือเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ติดสุรา ผู้เสพสารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาทางจิตเวช ยาเม็ดแอสไพรินและยาขับปัสสาวะ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความรู้เรื่องของการออกกำลังกาย และการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถไปกระตุ้นให้เกิดโรคดังกล่าวทั้ง 4 โรค ได้ง่ายขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส