กินเพลินตอนประชุม ระวังเสี่ยงโรค

ไลฟ์สไตล์
กินเพลินตอนประชุม ระวังเสี่ยงโรค

อาหารว่าง อาจจะนำพาเราไปสู่โรคร้ายหลายโรคที่กำลังคุกคามคนไทยในปัจจุบัน ทั้ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลจาก : หนังสือ ประชุมได้ผล คนได้สุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
อาหารว่าง เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเวลาประชุม สัมมนา หรืออบรมต่าง ๆ และมักเป็นเมนูขนมหวาน เบเกอรี่ ที่อุดมไปด้วยส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล และไขมัน ที่หากบริโภคมากเกินไป อาจจะนำพาเราไปสู่โรคร้ายหลายโรคที่กำลังคุกคามคนไทยในปัจจุบัน ทั้ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
 
อาหารว่าง
 
อาหารว่าง หมายถึง อาหารระหว่างมื้อ เป็นอาหารเบาๆ มีปริมาณน้อยกว่า อาหารประจำมื้ออาจจะเป็นอาหารน้ำ หรืออาหารแห้ง มีทั้งคาวและหวาน หรือเป็นอาหารชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอคำ หยิบรับประทานได้ง่าย จัดให้สวยงามน่ารับประทาน เสิร์ฟควบคู่กับเครื่องดื่มร้อน หรือน้ำผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง
 
วันนี้เว็บไซต์สสส. มีหลักของการเลือกรับประทานอาหารว่างให้พอดีไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาฝากค่ะ
 
เทคนิคเลือกอาหารว่างเพื่อสุขภาพ
 
1.คำนึงถึงคุณค่าโภชนาการ
 
2.พลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน โดยผู้ใหญ่ควรได้รับพลังงานจาก อาหารว่างประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี่/วัน
 
3.อาหารว่างที่ดี ควรจำกัดปริมาณน้ำมัน น้ำตาล และเกลือ ไม่ให้สูงเกินไป
 
4.ผลไม้สดเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์ มีแร่ธาตุ ในอาหาร และวิตามินสูง ผลไม้ที่เหมาะสมสำหรับเป็นอาหารว่าง ได้แก่ ส้ม มะละกอ ฝรั่ง ชมพู่ เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการผลไม้ที่มีรสหวานหรือผลไม้แปรรูปที่มีน้ำตาล และเกลือมาก
 
5.เครื่องดื่มที่เหมาะสม ไม่ควรมีน้ำตาลเกินร้อยละ 5 หรือบริโภคไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม ใน 1 วัน ตามที่ทาง สสส. รณรงค์ร่วมกับองค์การอนามัยโลก
 
6. ของว่างจำพวกเบเกอรี่ ควรเลือกขนมปังบางชนิดที่ทำจากแป้งโฮลวีท หลีกเลี่ยงขนมที่ไขมันสูง รสหวานจัด ตัวอย่างเช่น คุกกี้ พัฟ พาย เค้กครีม
 
7. เลือกพืชหัวและธัญพืช เช่น ข้าวโพดต้ม ฟักทองต้ม เป็นต้น
 
8. ขนมไทยหลายอย่างมีประโยชน์ เนื่องจากมักนำธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้มาเป็นส่วนประกอบ โดยอาหารว่างไทยมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แม่บ้านสมัยก่อนใช้เวลาว่างในการทำอาหารว่างเก็บไว้  โดยใช้วัสดุที่เหลือจากอาหารมื้อหลักให้เป็นประโยชน์ และใช้วัสดุที่มีมากในฤดูกาลมาประกอบเป็นอาหารว่าง เมื่อมีการต้อนรับแขกก็จะนำอาหารออกมาเลี้ยงแขก พร้อมกับเสิร์ฟน้ำผลไม้หรือน้ำเย็นลอยดอกมะลิ ทั้งนี้ ขนมไทยบางชนิดก็มีกะทิเข้มข้น เช่น ตะโก้ ขนมหม้อแกง ฝอยทอง ควรหลีกเลี่ยงหรือบริโภคอย่างพอเหมาะ
 
9.การจัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพควรจัดให้หลากหลายชนิดในปริมาณพอเหมาะสำหรับ 1 มื้อ อาหารว่างบางชนิดให้พลังงานสูง ควรรับประทานคู่กับเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำ หรือน้ำเปล่า
 
ทั้งนี้ หลายคนคงกำลังสงสัยว่า จะทำอย่างไร? เพราะประชุมทีไรก็ต้องกินตามที่เขาจัดมาให้ ซึ่งหากเรารู้จักเลือก และรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย ก็จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแน่นอน ตลอดจนเมื่อประชุมเสร็จอาจเดิน หรือยืดเหยียดร่างกายก็จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า พร้อมจะลุยงานต่อได้อย่างเต็มที่ แถมยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs อีกด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส