ฟัน(คุด)เราไม่เท่ากัน

ไลฟ์สไตล์
ฟัน(คุด)เราไม่เท่ากัน

ฟันคุดเป็นฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ ฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกราม ซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด

เรื่องโดย ชมนภัส วังอินทร์ team content www.thaihealth.or.th   
 
ข้อมูลบางส่วนจาก: โครงการ ฟันดีดี Better Teeth Thailand
 
เสียงโอดครวญจากการปวดฟันคุด สร้างปัญหาไปให้ใครหลายคน บางคนทนปวดอย่างทุกข์ทรมาน เพราะกลัวการไปพบทันตแพทย์ หรือบางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฟันที่ปวดนั่น คือ ฟันคุด
 
ฟันคุดเป็นฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตามปกติ ฝังตัวอยู่ที่ขากรรไกรใต้เหงือกบริเวณกราม ซึ่งเป็นฟันซี่ที่อยู่ด้านในสุด โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหากตัวฟันไม่โผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก ต้องใช้การเอกซเรย์จึงจะสามารถเห็นได้
 
ฟันคุด
 
หลายคนมีข้อสงสัยว่าฟันคุดต้องดูแลรักษาอย่างไร ด้าน ทพญ.นันท์มนัส แย้มบุตร ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาทันตสุขภาพวัยรุ่นและปัจจัยเสี่ยง สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า การจัดการกับฟันคุดที่ถูกวิธีเป็นเรื่องสำคัญในการรักษาสุขภาพฟัน บางกรณีหากเราทิ้งไว้ไม่รักษาอาจเกิดเป็นถุงน้ำ (cyst) หรือเนื้องอกชนิดต่าง ๆ ได้ ควรทำอย่างไรดีเมื่อมีฟันคุด
 
1.ฟันคุดจำเป็นต้องผ่าไหม จำเป็นเพราะจะทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุ เหงือกอักเสบ หรือทิ้งไว้นานอาจจะเกิดถุงน้ำในกระดูกขากรรไกรได้
 
2.จำเป็นต้องถอนฟันคุดก่อนจัดฟัน หรือถอนหลักจากจัดฟัน ในการถอนฟันคุดต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์ผู้จัดฟัน เพราะฟันคุดในบางกรณีมีประโยชน์ในการช่วยจัดฟัน แต่โดยส่วนใหญ่ 80% จะเอาออก เพื่อไม่ให้เบียดพื้นที่ในการขยับฟัน
 
3. อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ผ่าฟันคุด ควรงดอาหารเผ็ด ร้อน รสจัด โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ไม่ควรดื่มเด็ดขาดจะทำให้แผลหายช้า อาหารที่สามารถกินได้ เช่น ข้าวต้ม อาหารนิ่มๆ
 
4.มีประจำเดือนสามารถผ่าฟันคุดได้ ถึงแม้ในช่วงมีประจำเดือนจะเสียเลือดไป แต่ในระหว่างที่ผ่าฟันคุดก็ไม่ได้ทำให้เสียเลือดมากถึงขนาดทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จึงสามารถผ่าได้ปกติ
 
5.โรคที่ห้ามผ่าฟันคุด ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ควรระวัง เช่น โรคเลือด โรคเบาหวาน ต้องมีการปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อดูเป็นบางกรณี เพราะบางรายต้องมีการติดตามผลหลังผ่า หรือบางรายต้องใช้สารห้ามเลือด และดูระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
 
6.มียาหรือวิตามินที่ห้ามกินก่อนไปผ่าฟันคุด จะเป็นบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดก็จะมีผลต่อการรักษาโรคประจำตัว ผู้ป่วยจะต้องแจ้งรายละเอียดทันตแพทย์ตามจริง เพื่อการรักษาที่ไม่เป็นอันตราย
 
7.ฟันคุดลักษณะไหนที่ไม่ควรผ่า หากทันตแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าอาจไปกระทบต่อเส้นประสาท หรือเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทันตแพทย์จะเอ็กซเรย์เพื่อประเมินได้ทันที หากไม่สามารถผ่าออกได้คุณหมออาจจะมีการนัดให้มาตรวจอย่างสม่ำเสมอ
 
8.ห้ามบ้วนเลือดหลังจากผ่าฟันคุด เพราะหลักจากผ่าฟันคุดออกใน 1 ชั่วโมงแรก ไม่ควรบ้วนเลือดออก เพราะจะทำให้ลิ่มเลือดไม่แข็งตัว และเลือดจะไหลไม่หยุด เพราะฉะนั้น ใน 1 ชั่วโมงแรกไม่ควรบ้วนเลือดหรือน้ำลาย ต้องกลืนให้หมดแล้วเลือดจะหยุดไหล
 
9.ฟันคุดเกิดขึ้นกับทุกคนหรือไม่ ไม่ได้เกิดกับทุกคน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ ลักษณะขากรรไกร เพราะฟันคุดเกิดจากความไม่สัมพันธ์กันกับลักษณะของฟัน และขากรรไกร เช่น ขากรรไกรเล็กฟันซี่ใหญ่
 
10.การสังเกตการเกิดฟันคุด ส่วนใหญ่จะเกิดกับฟันซี่สุดท้ายในช่องปาก ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงอายุ 15-25 ปี เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสังเกต เช่น ถ้ามีตุ่มขึ้นตรงด้านท้ายของเหงือกก็ลองไปเอ็กซเรย์ดู หรือบางกรณีฟันขึ้นมาไม่เต็มซี่ ขึ้นเอียง เหงือกบวม ก็นับเป็นลักษณะทั่วไปของการเกิดฟันคุด
 
ฟันคุด
 
อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดจากฟันคุดเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบทั้งสุขภาพในช่องปากรวมไปถึงสุขภาพกายที่สร้างความลำบากในการรับประอาหาร  ดังนั้นหากสงสัยหรือรู้สึกมีความผิดปกติเกี่ยวกับเหงือก และฟัน ควรรีบพบทันตแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยทำการรักษาอย่างถูกวิธี
 
เห็นแล้วว่า การดูแลรักษาฟันเป็นเรื่องสำคัญที่บ่งบอกถึงสุขภาพในช่องปาก หากปล่อยให้เกิด ฟันผุ ฟันคุด หรือโรคเหงือกจะเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพช่องปากที่ร้ายแรง  ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปาก และการดูแลฟันตั้งแต่ฟันซี่แรก จึงสนับสนุน โครงการ ‘ฟันดีดี (Better Teeth Thailand)’ เพื่อความเป็นอยู่และการดูแลที่ดีขึ้นของ ‘สุขภาพช่องปากและฟัน’ และ ได้ร่วมกับ เครือข่ายเด็กเล็กฟันดี วิถี SELF CARE เพื่อรณรงค์กระตุ้นให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กให้ความสำคัญกับการแปรงฟันในเด็กเล็กตั้งแต่ฟันซี่แรก สำหรับผู้ปกครองที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพฟันสามารถติดตามได้ที่ http://betterteeththailand.com หรือติดตามกิจกรรมฟันดีเริ่มที่ซี่แรก ได้ที่เพจโครงการ https://www.facebook.com/deklekfundee

 
ขอบคุณข้อมูลจาก สสส