คุม (กำเนิด) อย่างไร...ไม่ท้อง ?

ไลฟ์สไตล์
คุม (กำเนิด) อย่างไร...ไม่ท้อง ?

ปัญหาการท้องไม่พร้อม นับเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนช่วยกันแก้ไข และผลักดันนโยบายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลบางส่วนจาก  หนังสือ สิ่งที่เธอต้องรู้ สิ่งที่เขาต้องรู้ โดย สสส. ,เว็บไซต์ คม-ชัด-ลึก , PPTVHD36 และ เลิฟแคร์สเตชั่น
 
“สวัสดีค่ะ คือเราอายุ 20 ปี เมื่อคืนเราเพิ่งมีอะไรกับแฟนมา ไม่ได้ป้องกันค่ะ เราไม่แน่ใจว่าเสร็จนอกไหม ก็เลยอยากป้องกันด้วยการกินยาคุมค่ะ ควรเลือกกินแบบฉุกเฉิน หรือ แบบทั่วไปดีคะ แล้วถ้าแบบทั่วไปควรเริ่มกินตอนไหนคะ ถ้าหากอยากจะคุมกำเนิดแบบจริงจัง ควรจะใช้วิธีไหนดี รบกวนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ”   
 
นี่คือหนึ่งในหลากหลายกระทู้คำถามในเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังเว็บไซต์หนึ่ง ที่เกิดข้อสงสัยว่า ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ตนเองปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย  
 
หากลองเลื่อนย้อนดูคำถามที่เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศภายในกระทู้ที่เกี่ยวข้อง คำถามเรื่องการคุมกำเนิดและเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย กลายเป็นคำถามยอดฮิต ที่ชวนให้ผู้อ่านเข้าไปแสวงหาคำตอบ บ้างก็มีเพื่อนๆ สมาชิกมาช่วยแนะนำ มาช่วยตอบคำถาม แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่เพื่อนๆ แนะนำมานั้น ได้ผลและดีสำหรับเราหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ ให้คลายข้อสงสัยกันค่ะ
 
ปัญหาการท้องไม่พร้อม นับเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนช่วยกันแก้ไข และผลักดันนโยบายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Health /data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2560 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - มิถุนายน 2560 อยู่ที่ 36.6 ต่อพันประชากร ประกอบกับ สถิติปี 2560 มีผู้รับบริการโทรเข้ามาที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม  1663 จำนวน กว่า 4 หมื่นราย แบ่งเป็นปรึกษาเรื่องเอดส์ ร้อยละ 58 และปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ร้อยละ 41.67 หรือประมาณ 18,507 ราย  เพิ่มขึ้นจากปี 2559 สถิติอยู่ที่ 13,465 ราย  ปีนี้แบ่งเป็นคนที่ตั้งท้องแล้วเพิ่มขึ้น ร้อยละ 75 ส่วนใหญ่คนที่ตั้งท้องมีอายุต่ำกว่า 20 ปี  สาเหตุจากไม่คุมกำเนิด รวมไปถึงข้อมูลจากประสบการณ์ของสมาชิกเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงเมื่อท้องไม่พร้อมในการให้การปรึกษาทั้งตั้งต่อตัวและทางโทรศัพท์ พบว่าผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมกว่าร้อยละ 50 ตั้งครรภ์เพราะไม่ได้คุมกำเนิด
 
การคุมกำเนิดสำคัญอย่างไร?
 
การคุมกำเนิดเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนครอบครัว หรือกล่าวอย่างง่ายว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้องและปลอดภัยจากโรคติดต่อ  แต่ถึงกระนั้น ความเข้าใจผิดๆ และข้อสงสัยในวิธีการคุมกำเนิดก็ยังคงมีอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการท้องไม่พร้อม ดังจะเห็นได้จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น
 
แล้วจะคุมกำเนิดโดยวิธีไหนดี?
 
การคุมกำเนิดในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี โดยแต่ละวิธีให้ผลที่แตกต่างกันออกไป   โดยจำแนกตามประเภทของผลลัพธ์ที่นิยมคุมกำเนิด ได้ 2 ลักษณะ คือ วิธีที่ได้ผลค่อนข้างดี และ วิธีที่ได้ผลแต่ไม่ดีนัก
 
วิธีที่ได้ผลค่อนข้างดี 
 
1.ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ของผู้หญิง แต่ต้องระวังไม่ให้ถุงยางอนามัยฉีกขาด และเลือกขนาดให้เหมาะสม  หากพบปัญหาถุงยางฉีกขาด หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์  ให้ใจเย็น อย่าเพิ่งตกใจ แล้วรีบหายาคุมฉุกเฉินมากิน  เพื่อป้องกันการตั้งท้องในกรณีนั้นๆ
 
คุมกำเนิด

2.ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ หากกินอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ  ปัจจุบันยาคุมกำเนิดในท้องตลาด มี 2 ชนิด คือ ชนิด 28 เม็ด และ  21 เม็ด ซึ่งให้ผลในการคุมกำเนิดไม่แตกต่างกัน  โดยยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด จะมีวิตามินเพิ่มขึ้นมาอีก 7 เม็ด  เพื่อให้ผู้หญิงกินยาคุมกำเนิด ได้อย่างต่อเนื่องและไม่ลืมกินยา
 
โดยวิธีกินยาคุมกำเนิด คือ ทั้งชนิด 28 เม็ด และ 21 เม็ด ให้กินยาเม็ดแรกภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และหลังจากนั้น ให้กินติดต่อกันทุกวัน วันละ 1 เม็ดจนหมดแผง  สำหรับยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด สามารถเริ่มกินแผงต่อไปได้เลย  แต่สำหรับชนิด 21 เม็ด ต้องเว้นไป 7 วัน  เพื่อให้ประจำเดือนมา แล้วค่อยเริ่มกินแผงใหม่ ทั้งนี้ ควรกินในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อกันลืม
 
หากลืมกินยาต้องทำอย่างไรดี?
 
- เมื่อลืมกินยา 1 เม็ด ให้รีบกินยาทันทีที่นึกได้  แต่ถ้าลืมกินยาเกิน 1 วัน ให้กินยาพร้อมกัน 2 เม็ด

- เมื่อลืมกินยา 2 วัน ให้รีบกินยา 2 เม็ด ทันที ที่นึกได้  และให้กินอีก 2 เม็ดในวันต่อไป และระหว่างนี้ ให้ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะเริ่มกินยาแผงใหม่

- เมื่อลืมกินยามากกว่า 2 วัน ให้เลิกกินยาแผงนั้นไปเลย และระหว่างนี้ให้ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ แล้วเริ่มยาแผงใหม่ในรอบประจำเดือนต่อไป
 
คุมกำเนิด
 
 
3.แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด  แต่ใช้สะดวกกว่า  แผ่นแปะนี้มีขนาดโดยประมาณ 4.5 x 4.5 เซนติเมตร  ใช้แปะที่ผิวหนังบริเวณ  สะโพก หน้าท้อง ต้นแขน ด้านนอก แผ่นหลังด้านบน  โดยตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด เริ่มติดในวันแรกของประจำเดือน แปะไว้ 7 วัน แล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่  เมื่อครบ 3 แผ่น ใน 3 สัปดาห์  ให้เว้นไม่ต้องแปะ 1 สัปดาห์ (เช่นเดียวกับ  การกินยาคุมแบบ 21 เม็ด ) ประเดือนก็จะมาในช่วงที่ไม่ได้แปะแผ่นยา และเมื่อลืมแปะยา ให้เริ่มแปะทันทีที่นึกได้ แต่ไม่ควรลืมเกิน 2 วัน หากเกิน 2 วัน  ให้คุมกำเนิดโดยวิธีอื่น เช่น ใช้ถุงยางอนามัย  แล้วเริ่มแปะยาในรอบประจำเดือนต่อไป
 
คุมกำเนิด
 
4.ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลดี เพราะไม่ต้องกังวลกับปัญหาการลืมกินยา  โดยสามารถเข้ารับบริการฉีดยาคุมกำเนิด ได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมไปถึง คลินิก และโรงพยาบาลเอกชน  หากสถานบริการสุขภาพนั้น ไม่มียาฉีดคุมกำเนิดให้บริการ  ก็สามารถหาซื้อยาได้จากร้านขายยาที่มีเภสัชกรและนำไปให้สถานบริการสุขภาพฉีดยาให้ได้  ปัจจุบันยาฉีดคุมกำเนิดมีให้เลือก 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 1 เดือน (4 สัปดาห์) 2 เดือน (8 สัปดาห์) และ 3 เดือน (12 สัปดาห์) ซึ่งจะมีรอบฉีดทุกๆ 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน ตามลำดับ  โดยการฉีดยาอาจมีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ  กะปริบกะปรอย  หรือไม่มีประจำเดือนเลยในช่วงเวลานั้น
 
5.ยาฝังคุมกำเนิด วิธีนี้ กำลังได้รับความนิยมในวัยรุ่น โดยขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน สำหรับวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 20 ปี โรงพยาบาลรัฐมีบริการฝังยาคุมฟรี ผู้ที่อายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2000-2500 บาท  ซึ่งคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี  ตามชนิดของยา  มีข้อดีคือช่วยลดปัญหาการลืมกินยาหรือฉีดยา แพทย์จะฝังฮอร์โมน  ซึ่งบรรจุในหลอดพลาสติกขนาดเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนัง  บริเวณต้นแขนด้านใน  การฝังยานี้ อาจมีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือกะปริบกะปรอย  ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใช้วิธีการฝังยา
 
6.ห่วงคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัย มีลักษณะเป็นเหมือนรูปตัว T  ขดไปมาในมดลูก  เพื่อป้องกันการฝังตัวของไข่  โดยสามารถรับบริการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสุขภาพ  ผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดควรหมั่นตรวจตราด้วยตนเองทุกเดือนว่า  ห่วงยังอยู่ดีอยู่หรือไม่  เพราะหากห่วงเกิดหลุดขึ้นมา ก็อาจตั้งครรภ์ได้  
 
7.การคุมกำเนิดถาวร เป็นวิธีคุมกำเนิดในกรณีที่มีบุตรเพียงพอแล้ว  สามารถทำได้ทั้งหมันชายและหมันหญิง   โดยการทำหมันชายทำได้ง่ายและสะดวกมากกว่าหมันหญิง  ซึ่งเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ทั้งปลอดภัยและประหยัด
 
วิธีที่ได้ผลแต่ไม่ดีนัก
 
1.ยาคุมฉุกเฉิน เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่
 
- ไม่ได้คุมกำเนิดโดยวิธีใดๆ เลย

- ใช้การคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นแล้ว  แต่เกิดการผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัย ขาด รั่ว แตก  หรือลืมกินยาคุมกำเนิด
เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอมหรือถูกข่มขืนกระทำชำเรา 

สิ่งที่พึงระวัง คือ ไม่ควรนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนที่วิธีการคุมกำเนิดปกติ  เพราะวิธีนี้มีประสิทธิภาพต่ำ  และทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินที่ถูกต้องไว้คือ กินภายใน 72 ชม. หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน  และกินยาพร้อมกันทั้งสองเม็ด  หรือกินทีละเม็ด ห่างกัน 12 ชม.
 
คุมกำเนิด
 
มาถึงตอนนี้ คงมีคำตอบสำหรับหลากหลายกระทู้ที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย หากเลือกไม่ได้ว่าจะคุมกำเนิดอย่างไรดี แนะนำว่า ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด  และหากเพื่อนๆ ไม่มั่นใจว่าวิธีไหนที่จะทำให้ตนเองปลอดภัย หรือมีข้อสงสัยอื่นๆ มีหลากหลายช่องทางและหน่วยงานที่พร้อมดูแลและให้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วและปลอดภัย หนึ่งในนั้น คือ เลิฟแคร์ กล้ารัก กล้าเช็ค www.lovecarestation.com  ภายใต้มูลนิธิแพธทูเฮลท์  ที่มีทั้งสาระความรู้ และคลินิกปรึกษาที่เป็นมิตร หรือสามารถยกหูติดต่อโดยตรงที่ สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ทุกวัน เวลา 09.00-2100 น. โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้สนับสนุนให้คนไทย มีสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี  รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกคนสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาวะทางเพศที่ดีได้