แวะชม “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” แหล่งผลิตโคมขึ้นชื่อของเชียงใหม่

กินเที่ยว
แวะชม “ชุมชนเมืองสาตรหลวง” แหล่งผลิตโคมขึ้นชื่อของเชียงใหม่

เราคงเคยเห็นโคมประเภทต่างๆ ที่เห็นกันได้ในวันสำคัญต่างเช่น โคมลอย โคมไฟประดับงานตามวัด ตามท้องถนน เเต่หลายคนคงไม่รู้ว่าโคมแทบทั้งหมดที่เราเห็นนั้น ถูกผลิตขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่นั่นคือ "ชุมชนเมืองสาตรหลวง" ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่

เราคงเคยเห็นโคมประเภทต่างๆ ที่เห็นกันได้ในวันสำคัญต่างเช่น โคมลอย โคมไฟประดับงานตามวัด ตามท้องถนน เเต่หลายคนคงไม่รู้ว่าโคมแทบทั้งหมดที่เราเห็นนั้น ถูกผลิตขึ้นมาจากชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่นั่นคือ "ชุมชนเมืองสาตรหลวง" ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่ง ในปัจจุบันถือเป็นแหล่งผลิตโคมที่มีชื่อเสียงที่สุดของภาคเหนือ และยังมีการผลิตโคมเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าไปในชุมชนมืองสาตรหลวง คือภาพของโคมล้านนาหลากสีสันที่แขวนอยู่ตามรั้วบ้านแทบทุกบ้านในชุมชน และเมื่อมองผ่านรั้วบ้านเข้าไป ก็จะพบหญิงสาวทั้งสูงวัยและอ่อนวัย นั่งอยู่บนพื้นบ้านไม้ กำลังบรรจงประดิษฐ์โคมรูปแบบต่างๆ

โดยในปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ได้มีการรวมกลุ่มกันเป็น "กลุ่มทำโคมล้านนาเมืองสาตร จังหวัดเชียงใหม่" โดย ผลิตโคมทั้งรูปแบบดั้งเดิม และโคมประยุกตร์ที่ทำเป็นรูปสัตว์ สิ่งของต่างๆ ซึ่งมีทั้งวางจำหน่ายโดยตรง และผลิตตามความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ บ้านที่ถือเป็นต้นแบบในการผลิตโคมของชุมชนเมืองสาตรหลวงแห่งนี้ คือบ้านของแม่บัวไหล คณะปัญญา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการผลิตโคม และคิดค้นการทำโคมรูปแบบใหม่ๆขึ้นมาจนกระทั่งมีชื่อเสียง และได้สอนวิธีการทำโคมให้กับชาวบ้านในละแวกชุมชน จนทำให้ในปัจจุบันชุมชนเมืองสาตรหลวงกลายเป็นชุมชนสำคัญให้การผลิตโคมในที่สุด

  

ปัจจุบัน แม่บัวไหลในวัยกว่าเจ็ดสิบปี ยังคงทำโคมอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรในงานต่างๆที่ได้รับเชิญทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฝรั่งเศส และยังเปิดบ้านเพื่อสอนวิธีการทำโคมให้กับผู้สนใจที่แวะเวียนเข้ามายังชุมชน แห่งนี้อีกด้วย สำหรับคนที่สนใจในเอกลักษณ์และประเพณีของชาวเชียงใหม่ หากได้ลองแวะเวียนมาที่ชุมชนเมืองสาตรหลวงแห่งนี้

นอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการทำโคมแบบง่ายๆ พร้อมกับได้โคมสวยๆติดไม้ติดมือกลับบ้านไปแล้ว ยังถือว่าได้ร่วมสืบสานงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ที่ในปัจจุบันเหลือผู้ที่ผลิตอย่างจริงๆจังๆเพียงไม่กี่คน และอาจจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาในอีกไม่นาน

 

เรื่อง/ภาพ: ชินพงศ์ มุ่งศิริ

ที่มา : http://travel.sanook.com