อ่าวสลัด เยือนถิ่น แลวิถีชาวเล

กินเที่ยว
อ่าวสลัด เยือนถิ่น แลวิถีชาวเล

บ้านอ่าวสลัด เป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะกูดห่างออกมาจากย่านรวมรีสอร์ทพอสมควร มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในอดีตอ่าวแห่งนี้เคยเป็นที่หลบพักเรือของพวกโจรสลัดที่ปล้นสะดมอยู่ในน่านน้ำแถบนี้

อ่าวสลัด
 

เค้าว่ากันว่า ถ้าอยากเที่ยวให้ถึงถิ่นก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับคนในพื้นที่ชนิดว่าเข้า เมืองตาหลิ่ว ก็ต้องหลิ่วตาตาม และถ้าอยากจะสัมผัสวิถีชีวิตให้ถึงแก่นก็ต้องเอาตัวเข้าไปคลุกคลีพูดคุยกับ ชาวบ้าน ยิ่งถ้าอยากจะกินอาหารทะเลสดๆ ก็ต้องไปให้ถึงแหล่ง หลังจากเช็คข้อมูลแล้ว เราก็รู้มาว่าบนเกาะกูดมีอู่ข้าวอู่น้ำประจำเกาะอยู่ที่ “หมู่บ้านประมงอ่าวสลัด” เราเลยควบสองล้อคู่ใจติดเครื่องบึ่งไปทันที

“บ้านอ่าวสลัด”เป็นหมู่บ้านประมงเล็กๆ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะกูดห่างออกมาจากย่านรวมรีสอร์ทพอสมควร มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในอดีตอ่าวแห่งนี้เคยเป็นที่หลบพักเรือของพวกโจรสลัดที่ปล้นสะดมอยู่ในน่าน น้ำแถบนี้ เพื่อนำข้าวของที่ปล้นมาถ่ายเทออก แล้วเปลี่ยนสีดัดแปลงเรือก่อนจะนำไปขายต่อ จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “อ่าวสลัด” แต่ชาวชุมชนในปัจจุบันนี้จะยังมีลูกหลานโจรสลัดหลงเหลืออยู่หรือไม่นั้นก็มี ใครรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ ชุมชนชาวเลของบ้านอ่าวสลัดนี้ยังคงยืดอาชีพประมง ออกเรือหาปลากันเป็นกิจวัตร อาหารทะเลสดๆ จึงมีให้เลือกซื้อมากมายทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ยังว่ายน้ำอยู่ในกระชัง รวมถึงอาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาแดดเดียว ปลาเค็ม ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง หรือกะปิเคยก็จัดว่าเป็นสินค้าโอท๊อปประจำชุมชนที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหา กันเป็นของฝาก

 
อ่าวสลัด
 

การเลือกหาของทะเลสดๆ นั้นถ้าจะให้ได้บรรยากาศก็ต้องเดินลัดเลาะเลียบไปตามทางเดินที่ขนาบข้างไป ด้วยเรือประมงและบ้านอยู่อาศัย ในช่วงเวลาที่เรือเพิ่งเข้าฝั่งของทะเลจะมีให้เลือกเยอะเป็นพิเศษ แต่ถ้ามาแล้วไม่เจอเรือขึ้นของก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะในกระชังก็ยังมีปลาให้เลือกอีกเพียบ อย่างที่เราได้ไปเห็นกันจะจะเลยก็คือ ช่วงเวลาที่เชฟจากร้านอาหารดังประจำเกาะกำลังมาคัดเลือกปลากระพงเพื่อนำไป ประกอบอาหาร พอหย่อนเบ็ดลงไปปุ๊ปปลาก็ติดเบ็ดขึ้นมาปั๊ป ไม่ต้องห่วงเรื่องความสดกันเลยทีเดียว มาเที่ยวถึงเกาะกูดแล้วถ้ามีโอกาสก็อยากให้ลองหา “ปลาย่ำสวาท” ชิมกันดู เพราะเค้าว่ากันว่าเป็นปลาหายากที่พบได้เฉพาะน่านน้ำบริเวณเกาะกูดเท่านั้น ที่นิยมกันมากก็คือการนำมาทำซาซิมิ จิ้มวาซาบิกินกันสดๆ เลย และด้วยความที่เป็นปลาหายากและมีน้อย สนนราคาต่อกิโลกรัมจึงสูงเป็นเรื่องปกติ ขนาดตัวย่อมๆ ซัก 1 กิโลกรัมก็ราคาเกือบ 2,000 บาทแล้ว ถ้าใจไม่สู้ เงินไม่ถึงแบบเราก็คงต้องได้แต่มองตาปริบๆ แต่ถึงมีเงินมากพอก็ใช่ว่าจะเดินกำเงินมาหาซื้อกินได้ ก็อย่างที่บอกแหละครับว่าปลาย่ำสวาทนั้นหายาก อาจจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้ากันหน่อย

 
อ่าวสลัด
 

เสร็จจากเดินเล่นชมบรรยากาศริมทะเล และดูวิถีชีวิตชาวเลแกะกุ้ง หอย ปู ปลาจากอวนแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาไหว้พระและสักการะสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์กันที่ “วัดบ้านอ่าวสลัด” ซึ่งตั้งอยู่บนเนินบริเวณปลายสุดของอ่าว กลางวัดประดิษฐาน “พระพุทธปทีปศรีสถาพร” พระประธานองค์ใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ถึงแม้ว่าจะเป็นวัดเล็กๆ แต่ความน่าสนใจยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะเยื้องกับองค์พระประธานจะเป็นหอระฆังสูง 3 ชั้นที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวอ่าวสลัดจากมุมสูงได้ ซึ่งแน่นอนว่าวิวทะเลสวยๆ ไกลสุดสายตาที่เห็นจากบนหอระฆังนั้นงดงามจนยากจะลืม

ถ้ายังไม่อยากกลับที่พักและอยากจะเอื่อยอ่อยกันต่อ ที่บ้านอ่าวสลัดก็ยังมีร้านอาหารให้เลือกอิ่มอร่อยกับอาหารทะเลสดๆ กันอีกหลายร้าน พอแดดร่มลมตกแบบนี้ ถ้าได้นั่งรับลม ชมวิว กินอาหารทะเลสดๆ รับรองว่ามีความสุขอย่าบอกใคร จึงไม่น่าแปลกใจถ้าใครๆ ก็อยากจะมาเยือนบ้านอ่าวสลัดกับเค้าซักครั้ง

 
อ่าวสลัด
                 
ที่อยู่ : บ้านอ่าวสลัด เกาะกูด จังหวัดตราด
GPS : N11.707258 E102.571039
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงเช้าๆ หรือบ่ายแก่ๆ เพราะแดดไม่ร้อนมากจนเกินไป
ไฮไลท์ : ปลาย่ำสวาท และอาหารทะเลสดๆ ที่ได้จากเรือประมง รวมถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวเล
กิจกรรม : เดินชมวิถีชีวิตของชาวเลในหมู่บ้าน เลือกหาอาหารทะเลสดๆ และแวะไปสักการะขอพรพระพุทธปทีปศรีสถาพรที่วัดบ้านอ่าวสลัด


จากกรุงเทพให้ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ – ชลบุรี ไปทางบ้านบึง เข้าอำเภอแกลงจังหวัดระยอง ผ่านจังหวัดจันทบุรีไปจนถึงจังหวัดตราด จากนั้นให้ตรงไปยังท่าเรือแหลมศอก จะมีเรือเฟอร์รี่ออกทุกวัน วันละ 1 รอบ ในเวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ค่าโดยสารคนละ 350 บาท

ตารางเรือจาก ตราด – เกาะกูด :เวลา 12.30 น.  / จากเกาะกูด – ตราด :เวลา 10.30 น.

จากรีสอร์ทที่พัก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเช่ารถจักรยานยนต์ หรือเหมารถสองแถวไปเที่ยวที่อ่าวสลัดได้ ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับระยะทาง หรือตามแต่ตกลง

ข้อมูลเเละภาพประกอบจาก