หุบป่าตาด Unseen ดินแดนจูราสสิคแห่งเมืองอู่ไท

กินเที่ยว
หุบป่าตาด Unseen ดินแดนจูราสสิคแห่งเมืองอู่ไท

เราบังเอิญไปพบเห็นข้อมูลที่น่าสนใจถึงความมหัศจรรย์ของผืนป่าดึกดำบรรพ์ในจังหวัดอุทัยธานีที่มีชื่อว่า “หุบป่าตาด” แถมที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว unseen in Thailand อีกด้วย เมื่อความอยากรู้อยากเห็นเริ่มทำงาน เราจึงต้องออกเดินทางไปดูด้วยตัวเอง

 

ก่อนออกเดินทางไปเยือนจังหวัดอุทัยธานี เราบังเอิญไปพบเห็นข้อมูลที่น่าสนใจถึงความมหัศจรรย์ของผืนป่าดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อสะดุดหูว่า “หุบป่าตาด” แถมยังรู้มาว่าที่นี่นับเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว unseen in Thailand อีกด้วย หลังจากสอบถามเพื่อนพ้องกันไปมาแต่ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างเท่าที่ควร เพราะยังไม่เคยมีคนรอบๆ ตัวเคยเดินทางไปที่หุบป่าตาดเลยซักคน ทั้งๆ ที่บางคนแวะเวียนไปอุทัยธานีมาก็หลายครั้งแล้วก็ เมื่อไม่แล้วใจในความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว การออกเดินทางไปค้นหาคำตอบ ไปให้เห็นด้วยตาตัวเองก็คงเป็นวิธีที่ดีที่สุด จริงไหมครับ??

 
 

จากตัวเมืองอุทัยธานีมุ่งหน้าสู่อำเภอลานสัก เข้าไปในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน เมื่อจัดแจงจ่ายค่าธรรมเนียมและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แล้ว เราก็ได้มัคคุเทศน์น้อยมาเป็นผู้นำทางหนึ่งคน พร้อมกันแล้ว เราก็เดินตามน้องหนึ่งขึ้นไปบริเวณปากถ้ำซึ่งเป็นทางเข้า นับจากก้าวแรกที่เราค่อยๆ ก้าวขึ้นบันไดไปทีละขั้นๆ ความตื่นเต้น ความอยากรู้อยากเห็นก็ค่อยๆ ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะเข้าไปในหุบป่าตาด เราจะต้องเดินผ่านความมืดมิดในถ้ำเป็นระยะทางราวๆ 40 เมตร ซึ่งอาศัยเพียงแสงนำทางจากกระบอกไฟฉายของน้องหนึ่งเท่านั้น ถ้าส่องไฟขึ้นไปตามผนังถ้ำเราก็จะเห็นค้างคาวเกาะอยู่เต็มไปหมด พอผ่านถ้ำมาได้ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็เหมือนกับว่าเราได้เดินผ่านอุโมงค์เวลาย้อนกลับไปในยุค จูราสสิคอย่างไรอย่างนั้น เพราะพื้นที่ด้านล่างที่ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาหินปูนนั้นเต็มไปด้วยต้นตาด ขึ้นเบียดกันแน่นขนัด อันเป็นที่มาของชื่อ “หุบป่าตาด” ซึ่ง “ต้นตาด” หรือ “ต้นต๋าว” (Aranga pinnata (Wrumb.) Merr.) เป็นพืชในตระกูลปาล์มดึกดำบรรพ์ที่หาดูได้ยาก และมักจะขึ้นตามป่าดงดิบที่มีอากาศชื้นและหนาวเย็น บริเวณโดยรอบของหุบป่าตาดนี้เป็นระบบนิเวศค่อนข้างปิดเนื่องจากมีทางเข้าออก ทางเดียว แสงแดดจะส่องถึงเฉพาะช่วงเวลาเที่ยงวันเท่านั้น ต้นตาดจึงเติบโตได้ดี น้องหนึ่งไกด์หนุ่มน้อยของเราบอกว่า ลูกตาดที่เราเห็นเป็นทะลายใหญ่สีดำบนยอดต้นนั้น เนื้อในมีลักษณะคล้ายลูกชิดสามารถนำไปต้มกินได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกันเนื่องจากมีเนื้อค่อนข้างน้อยนั่นเอง

 
     
 
Good to Know
 
 
-
หุบป่าตาด อยู่ภายใต้การดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน  ตั้งอยู่ก่อนเข้าปลาร้าประมาณ 1 กิโลเมตร
 
 
-
ไฮไลท์สำคัญของหุบป่าตาด ได้แก่ “ต้นตาด” ที่เป็นพืชตระกูลปาล์มดึกดำบรรพ์ที่พบมากในบริเวณหุบเขาหินปูนนี้  “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สัตว์หายากของโลกที่ในประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
 
 
-
หุบป่าตาดเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. รอบสุดท้ายเปิดให้เข้าภายในเวลา 16.30 น.
 
 
-
นักท่องเที่ยวควรพกไฟฉายติดตัวไปด้วย เนื่องจากทางเข้าหุบป่าตาดเป็นทางเดินผ่านถ้ำมืดสนิท ในระยะทางประมาณ 40 เมตร
 
 
-
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีมัคคุเทศน์น้อยคอยบริการนำเที่ยวชมหุบป่าตาด ซึ่งค่าบริการก็แล้วแต่จะให้ตามสมควร
 
       
 

น้องหนึ่งนำเราเดินลงไปในหุบเขา เข้าไปอยู่ท่ามกลางดงตาดที่มองอย่างไรก็ชวนให้เราจินตนาการอยากให้มี ไดโนเสาร์หลงเหลือให้เราได้เห็นบ้างซักตัวสองตัว แล้วจินตนาการอันเพ้อเจ้อของเราก็ต้องหยุดลงด้วยเสียงอธิบายเจื้อยแจ้วของ น้องหนึ่ง เมื่อเราเดินมาถึงโถงถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของหุบป่าตาด พื้นที่บริเวณนี้เปรียบเหมือนช่องประตูที่นำเราผ่านทะลุสู่อีกห้องของหุบเขา แค่แว๊บแรกที่เห็นเราก็แอบร้องอยู่ในใจว่า “นี่มันหนังเรื่องจูราสสิคพาร์ค ชัดๆ” ซึ่งจุดนี้เองที่ถือเป็นมุมถ่ายภาพยอดฮิต ใครที่พกกล้องติดตัวไปด้วยก็ต้องไม่พลาดที่จะหามุมถ่ายรูปจากบริเวณนี้ ทั้งลักษณะของหินงอก หินย้อยที่แปลกตาชวนมอง แถมยังกระตุกต่อมจินตนาการได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งหินที่มีรูปร่างเหมือนเต่ายักษ์ หินรูปหัวม้า หรือแม้กระทั่งแท่งหินทรงกลมที่น้องหนึ่งชี้บอกกับเราว่ามันคือ กระปุกออมสิน สนุกสนานกันจนเพลินกับการสร้างภาพจินตนาการให้หินแต่ละก้อนแล้ว เราก็เดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ตามทางเดินที่มีอยู่ นอกจากต้นตาดที่เป็นพระเอกของหุบนี้แล้ว ยังมีพืชพันธุ์ที่หลากหลายทั้งที่เราคุ้นตาและไม่คุ้นตา เช่น ต้นกระพง ยมหิน ยมป่า ต้นไทร และต้นปอหูช้างที่ขึ้นอยู่บนก้อนหิน ไม่ยอมงอกบนดิน ด้วยระบบนิเวศน์ของบริเวณนี้ที่ถือว่ายังคงความสมบูรณ์อยู่มาก จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เลียงผา ไก่ฟ้า ลิง และนกหลากสายพันธุ์เลยทีเดียว

 
 

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญในหุบป่าตาดและจัดว่าเป็นของดีของหายากระดับโลกเลยก็คือ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” (Shocking Pink Millipede) สัตว์ที่ได้รับการประกาศให้เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ที่บริเวณหุบป่าตาดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นเจ้ากิ้งกือมังกรสีชมพูตัวเป็นๆ กับตา เนื่องจากอยู่ในช่วงหน้าแล้ง ถ้าเลือกมาเที่ยวในช่วงหน้าฝนก็จะมีโอกาสพบเห็นได้มากหน่อย ส่วนใครที่พบเจอเจ้ากิ้งกือสีสวยก็อย่าได้ชะล่าใจนะครับ เพราะความสวยงามของมันแฝงไว้ด้วยพิษประเภทไซยาไนด์เพื่อใช้ป้องกันตัวจาก ศัตรูธรรมชาตินั่นเอง

หลังจากเพลิดเพลินอยู่ในดินแดนดึกดำบรรพ์นานกว่า 2 ชั่วโมง ก็ได้เวลาที่เราต้องก้าวออกจากอุโมงค์เวลากลับมาสู่โลกปัจจุบันเสียที ถึงแม้ว่าภารกิจพิชิตหุบป่าตาดของเราจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ เพราะไม่เห็นกิ้งกือมังกรสีชมพูบันลือโลกแบบตัวเป็นๆ แต่ความมหัศจรรย์ของผืนป่าตาดกลางหุบเขาหินปูนแห่งนี้ก็สร้างความตื่นตาตื่น ใจให้กับเราไม่น้อยเลยทีเดียว ถ้าจะเปรียบหุบป่าตาดแห่งนี้เป็นป่าในยุคจูราสสิค ก็คงขาดแต่เพียงภาพไดโนเสาร์วิ่งไล่งับกันไปมาเท่านั้น ที่เราจะต้องอาศัยการจินตนาการกันเอาเอง

 
                 
ที่อยู่ : ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
GPS : 15.376971, 99.631019
เบอร์ติดต่อ : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน 0 5698 9128, 08 4819 7855, 08 9270 7412
เวลาทำการ : 8.00-17.00 น. รอบสุดท้ายเปิดให้เข้าตอน 16.30 น.
ค่าธรรมเนียม :
  • ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
  • ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี แต่ถ้าอยากเห็นกิ้งกือมังกรสีชมพู แนะนำให้มาในช่วงฤดูฝนจะพบเห็นได้ง่าย
ไฮไลท์ : หุบเขาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งมีต้นตาดขึ้นอยู่เต็มไปหมด ให้บรรยากาศเหมือนยุคจูราสิคอย่างไรอย่างนั้น นอกจากนี้ภายในหุบป่าตาดยังมี “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และพบเห็นได้ในช่วงฤดูฝน รวมถึงต้น “ปอหูช้าง” ที่งอกอยู่บนหิน
กิจกรรม : เดินชมหุบป่าตาดตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพันธุ์ไม้โบราณ พืชหายากต่างๆ รวมถึงชมกิ้งกือมังกรสีชมพูที่พบเจอในบริเวณนี้แห่งเดียวในประเทศไทย


จากตัวเมืองอุทัยธานีให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 333 สายอุทัยธานี-หนองฉาง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 3438 สายหนองฉาง-ลานสัก มุ่งหน้าไปอำเภอลานสักเป็นระยะทางประมาณ 21.5 กิโลเมตร จะถึงทางเข้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปลาร้า ให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางลาดยางอีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงหุบป่าตาด

ข้อมูลเเละภาพประกอบจาก