"วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" ถ้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย

กินเที่ยว
"วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" ถ้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย

เป็นเวลาเกือบสัปดาห์แล้ว ที่เด็กๆ นักฟุตบอลทีม หมูป่า อะคาเดมี่ จำนวน 12 คน และโค้ชอีก 1 คน ได้สูญหายไปในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ล่าสุด.. ยังไม่พบผู้สูญหาย แต่ทุกหน่วยงานกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำให้ได้โดยเร็วที่สุด
 
หลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของถ้ำหลวงมาก่อน เราจึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ "วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน"


วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นวนอุทยานในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 โดยกรมป่าไม้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกัน มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออก

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 
 
- ทิศเหนือ จดดอยจ้องและห้วยน้ำจอง 
- ทิศใต้ จดดอยผู้เฒ่าและลำห้วยน้ำค้าง 
- ทิศตะวันออก จดบริเวณพื้นที่ราบที่อยู่ข้างๆภูเขาทั้งหมด 
- ทิศตะวันตก จดภูเขลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากชายแดนพม่า 


ภายในวนอุทยานเป็นป่าเบญจพรรณค่อนข้างสมบูรณ์ และมีพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ 2 แห่ง ได้แก่

 
ถ้ำหลวง

ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำจำ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นถ้ำหินปูนกึ่งแห้งขนาดใหญ่ มีความยาวรวมทั้งสิ้น 10,316 เมตร ถือเป็นถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ปากถ้ำเป็นโถงกว้าง ภายในเต็มไปด้วยเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ ถ้ำลอด และถ้ำแขนง แนวโถงถ้ำมีเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเข้าถึงง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่น (Ripple Mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack) รอยระดับน้ำ หลุมยุบ โพรงเพดานถ้ำ และรอยแตกของผนัง

ปกติถ้ำหลวงจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะช่วงหน้าแล้ง (เดือนพฤศจิกายน-เมษายน) และปิดในช่วงหน้าฝน เนื่องจากมักจะมีน้ำหลาก


ขุนน้ำนางนอน

ตั้งอยู่ท้องที่บ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากถ้ำหลวงประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีลำธารที่ไหลออกมาจากรอยแยกของหินใต้ภูเขาหินปูน ซึ่งได้ทำฝายขนาดเล็กกั้นไว้จนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดพื้นที่ 3 ไร่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งศึกษาธรรมชาติ และดูนก

นอกจากนี้ บริเวณที่ทำการอุทยานมีลานกางเต็นท์และห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย
 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการไปเที่ยวชมหรือศึกษาเส้นทางธรรมชาติ สามารถเดินทางไปได้ แต่อย่าลืมดูสภาพอากศและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

เชื่อว่า.. เวลานี้ "หมูป่า อะคาเดมี่" เป็นทีมที่ชาวไทยกำลังเอาใจช่วยมากที่สุด สู้ๆ นะ เจ้าหนูหมูป่า!!


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก chiangraifocus , สำนักอุทยานแห่งชาติ