การแสดงโขน ชุด นางลอย ตระการตา วิจิตรงดงาม สมการรอคอย

บันเทิง

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัด “การแสดงโขน ชุด นางลอย” ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นางลอย

 

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัด “การแสดงโขน ชุด นางลอย” ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยใช้พัสตราภรณ์ และอุปกรณ์ประกอบฉาก  ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ รวมทั้งนักแสดงตัวเอกเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จัดการคัดเลือกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ และให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ

              สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่ในระยะหลังทรงเห็นถึงความซบเซาของนาฏกรรมตามแบบประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทยประเพณี เพื่อจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงพระราชทาน และเพื่อเป็นการสืบสานฝีมือเชิงช่าง ทั้งช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม และช่างเงินช่างทอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญศิลปะการแต่งหน้า ประกอบด้วยศิลปินในสาขาต่างๆ อาทิ อาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ออกแบบควบคุมการสร้างพัสตราภรณ์ และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ) อาจารย์สุรัตน์ จงดา ผู้ควบคุมการจัดสร้างหัวโขน และศิราภรณ์ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างฉากและสิ่งของประกอบการแสดง

 

นางลอย              การจัดสร้างเครื่องแต่งกายและสิ่งของประกอบทุกชิ้น ได้ยึดตามรูปแบบโบราณที่ค้นคว้ามาอย่างละเอียด เมื่อจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงจัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด พรหมาศ ครั้งแรกขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2550 และครั้งที่สองเมื่อปีที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ทั้งยังมีผู้ชมเป็นจำนวนมากเรียกร้องให้จัดการแสดงขึ้นใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด จึงมีพระราชดำริให้จัดแสดงโขนต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นการอนุรักษ์โขน ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย และให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ โดยในปีนี้ทรงเลือกบทรามเกียรติ์ ตอน นางลอย มาจัดแสดง ซึ่งเป็นโขนตอนที่มีความสนุกสนานน่าชม และเป็นที่นิยมมาโดยตลอด”

               การแสดงโขน ชุด นางลอย ในครั้งนี้ ควบคุมการแสดงโดย อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ซึ่งใช้แนวทางการดำเนินเรื่องตามบทคอนเสิร์ต “นางลอย” ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยจะจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวงแต่โบราณในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งในเรื่องการร่ายรำ การขับร้อง และการบรรเลงปี่พาทย์ แต่เพิ่มเทคนิคฉากและเวทีสมัยใหม่ อาทิ การใช้เวทีหมุน ในการเปลี่ยนฉากที่พำนักนางตรีชฎา มาเป็นที่ประทับของนางสีดา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นำเอาเวทีหมุนมาใช้ในการแสดงโขน รวมทั้งเทคนิคการเปลี่ยนฉากบนเวทีอย่างรวดเร็ว โดยการใช้รีโมทคอนโทรล เทคนิคเดียวกับที่ใช้ในละครเวทีสมัยใหม่


               นอกจากนี้ยังมีการชักรอกตัวแสดงในฉากเหาะ และการใช้แสงให้ดูสมจริงตามช่วงเวลาที่ควรจะเป็นในแต่ละฉาก เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมและให้มีความงดงามวิจิตรมากขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นการแสดงโขนที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะได้นำข้อบกพร่องจากการแสดงครั้งที่แล้วมาแก้ไข รวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการแสดง ที่ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญ

                อีกทั้งยังนำแสดงโดยศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ ร่วมด้วยนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่ 6 ตัว ได้แก่ ทศกัณฐ์พระลักษณ์, พระราม, นางสีดา, นางเบญกาย และหนุมาน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักเรียน-นักศึกษา จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ และสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหวังว่าจะให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ

นางลอย               และเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ได้จัดให้เป็นรอบซ้อมใหญ่ และเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้าชม ซึ่งมีหลายฉากสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม เรียกเสียงหัวเราะให้กับลีลาการแสดงของตัวละคร เช่น ใครไม่เขินเห็นยักษ์ (ทศกัณฐ์) เขิน ก็มีให้เห็นในการแสดงชุดนี้ ซึ่งโขนนางลอยแม้ไม่มีฉากยกรบ ก็มีความสนุกสนานในหลายฉากให้ดูได้อย่างไม่เบื่อ และสุดท้ายเรียกเสียงปรบมือได้กราวใหญ่และยาวนานภายหลังการแสดงจบลง

ความประทับใจนั้น มีทั้งต่อเครื่องแต่งกายอันสวยงามวิจิตร ฉากการแสดงที่ตระการตา ทั้งเทคนิคต่างๆ ที่นำมาใช้ ซึ่งเมื่อได้เห็นของจริงบนเวทีการแสดง เชื่อแน่ว่า การแสดงโขนของไทย ยังเป็นที่สนใจของประชาชน และสามารถดึงเยาวชนให้ได้มาทำความรู้จักอย่างแน่นอน อย่างฉากท้องพระโรงในกรุงลงกา ในแง่ของเทคนิค ฉากนี้จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนฉากบนเวทีเปิด โดยฉากทุกชิ้นจะเคลื่อนเข้าตำแหน่งอย่างรวดเร็ว  มีเส้นนำสายตาไปสิ้นสุดอยู่ที่แท่นประทับของทศกัณฐ์ที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายด้วยรีโมท คอนโทรล และใช้การวาดและลงสีฉากผ้าผืนใหญ่เต็มเวทีให้ดูประหนึ่งว่าเป็นท้องพระโรงที่มีมุมกว้างและลึกเข้าไป


             ส่วนเรื่องของดนตรีและการับร้อง ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน ฉากใหญ่ พลับพลาพระราม หลักคิดในการจัดการแสดงของฉากนี้  ซึ่งกำหนดเวลาให้สอดคล้องกับบทที่กล่าวว่าพระราม พระลักษณ์ตื่นบรรทมในตอนเช้า แล้วยาตราขบวนวานรไปยังท่าสรง มีเพลงที่รู้จักกันทั่วไปและเป็นจุดเด่นของการแสดง “นางลอย” ทุกครั้ง คือ “เพลงเต่าเห่” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

              ในบทคอนเสิร์ตนางลอย ซึ่งนำการขับร้องแนวประสานเสียงมาใช้แต่กลิ่นอายความเป็นไทยมีเต็มเปี่ยม จนถึงกับต้องหันสายตาจากบทเวทีไปจับจ้องและตั้งใจฟังของคณะขับร้อง เพราะว่าเป็นเพลงเต่าเห่ที่เพราะมาก เพราะมากจริงๆ และยังได้เพิ่มเติม  “บทพากย์โอ้” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และบทเจรจากระทู้ของนายเสรี หวังในธรรม ไว้ด้วย  ผู้ชมจึงได้รับอรรถรสและได้ชมความสมบูรณ์ของการแสดงโขนอย่างครบถ้วน

 

นางลอย 

               การแสดงโขน ชุด นางลอย จะจัดแสดงทั้งหมด 7 รอบ คือ วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น. โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรการแสดง, วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2553 เวลา 19.30 น., วันเสาร์ที่ 24 และ วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00 น. และ เวลา 19.30 น. รอบนักเรียน-นักศึกษา ในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2553 เวลา 10.00 น. และ เวลา 15.00 น. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

               ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม “การแสดงโขน ชุด นางลอย” ได้ตั้งแต่วันนี้ ที่เคาน์เตอร์ไทย ทิคเก็ต เมเจอร์ (Thai Ticket Major) ทุกสาขา (โทร. 02-262-3456)  หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaiticketmajor.com/performance/khon-nang-loi.php

 

 

ที่มา โพสต์ ทูเดย์

 

 

  

นางลอย

 

นางลอย

 

นางลอย

 

นางลอย