เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์เดินรถ โคราช-เวียงจันทน์ รับแข่งซีเกมส์ ดันสาย ราชสีมา-เวียดนาม

รมช.คมนาคม เปิดเดินรถโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศเที่ยวปฐมฤกษ์ โคราช-เวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว รับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25

ศูนย์ ข่าวนครราชสีมา - “ประจักษ์” รมช.คมนาคม เปิดเดินรถโดยสารเส้นทางระหว่างประเทศเที่ยวปฐมฤกษ์ โคราช-เวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว รับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 เผยรถวิ่งวันละ 1 เที่ยว โดยไม่จอดรับผู้โดยสารรายทาง ค่าโดยสาร 320 บาท หรือ 86,100 กีบ ใช้เวลาวิ่งรถ 7 ชั่วโมง ระยะทาง 382 กม. เผยอำนวยความสะดวกการเดินทางของ ปชช.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ 2 ประเทศ พร้อมเตรียมเปิดเดินรถโดยสารสาย นครราชสีมา-เวียดนาม
      วันนี้ (1 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 2 ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดเดินรถโดยสารประจำทางเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางระหว่างประเทศสายที่ 6 จังหวัดนครราชสีมา-นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ส.ป.ป.ลาว) เพื่อรองรับประชาชนเดินทางไปชมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25
    โดยมี นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด( บขส.), นายควง วงษ์เบญจรัตน์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารโคราช, นายชาญวิทย์ วสยางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายภิรมย์ พลวิเศษ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ นายวัฒนา พัทรชนม์ ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งมีผู้ที่โดยสารที่เดินทางในเที่ยวปฐมฤกษ์ทั้ง ชาวไทย-ชาวต่างชาติ, เจ้าหน้าที่ขนส่ง และผู้ประกอบการรถโดยสารในจังหวัดนครราชสีมาร่วมพิธีเปิดกว่า 200 คน
    สำหรับเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศ สายที่ 6 นครราชสีมา-นครหลวงเวียงจันทน์ นั้น ใช้เส้นทาง ถนนมิตรภาพ จาก จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ข้ามแม่น้ำโขง ไปยัง นครหลวงเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว รวมระยะ ทาง 382 กิโลเมตร (กม.) อัตราค่าโดยสารที่นั่งละ 320 บาท หรือ 86,100 กีบ

   นาย ประจักษ์ แก้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เส้นทางระหว่างประเทศสายนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งสองประเทศ คือ กระทรวงคมนาคม แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวง โยธาธิการและขนส่ง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เห็นชอบร่วมกันให้เกิดการเดินรถโดยสารครั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการเดินทางให้แก่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้องให้สามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวกสบายและ ประหยัด รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศด้วย
    ทั้งนี้ มอบหมายให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมของไทย และ รัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ของ ส.ป.ป.ลาว เป็นผู้ประกอบการเปิดเดินรถระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ด้านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเชื่อม โยงของโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และเป็นประตูสู่ความร่วมทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย
    สำหรับ จ.นครราชสีมาถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางบกของภาคอีสานที่มีความพร้อม สามารถ รองรับประชาชนที่จะเดินทางไปยังภาคต่างๆได้สะดวกรวดเร็ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินรถจากประเทศไทยไปยัง เวียงจันทน์ โดยประชาชนสามารถเดินทางได้ทุกวัน คือ ขาไป 1 เที่ยว และ มีรถขากลับมาจากเวียงจันทน์อีก 1 เที่ยวต่อวันเช่นกัน โดยไม่แวะรับ ผู้โดยสารรายทาง ซึ่งต่อไปจะมีการเปิดเส้นทางเดินรถจากนครราชสีมา-ประเทศเวียดนาม
    “ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคอีสานอาจจะมีรถไฟความเร็วสูง เส้นทางจาก กทม.- นครราชสีมา ต่อไปยัง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา-จ.ขอนแก่น-จ. อุดรธานี และ จ.หนองคาย ตรงนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมจะพิจารณา ดำเนินการต่อไป” นายประจักษ์ กล่าว
    ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า บขส.เปิดเดิน รถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ เส้นทางที่ 6 นครราชสีมา-นครหลวงเวียงจันทน์ นี้ วันละ 1 เที่ยว ด้วยรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 45 ที่นั่ง ไม่มีสุขภัณฑ์ ออกจากต้นทาง จ.นครราชสีมา เวลา 07.30 น.ทุกวัน และ ทาง ส.ป.ป.ลาว ก็ออกจากต้นทางเวียงจันทน์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการเดินรถสวนกัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง
    ส่วนการเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ ผู้โดยสารที่เป็นคนไทยสามารถถือหนังสือเดินทาง (Passport) เข้า-ออก สปป.ลาวได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า และสามารถอยู่ใน ส.ป.ป.ลาว ได้ 30 วัน
    “เส้นทางนี้เราเปิดเดินรถโดยสารประจำทางแบบถาวรเลย เพียงแต่พอดีมาเปิดเดินรถตรงกับการจัดแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ ส.ป.ป.ลาว เป็นเจ้าภาพ เพื่อสอดรับการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางไปชมกีฬาซีเกมส์เท่านั้น ส่วนค่าโดยสารมีข้อตกลง ว่าฝั่งสปป.ลาว เก็บเป็นเงินกีบ ฝั่งไทยก็เก็บเป็นเงินไทย ซึ่งนอกจากเส้นทางนครราชสีมา-เวียงจันทน์ แล้ว เรายังมีเส้นทางรองรับสายหลักไว้อีก เช่น หนองคาย-เวียงจันทน์, อุดรธานี-เวียนจันทน์ และ ขอนแก่น-เวียงจันทน์” นายวุฒิชาติ กล่าว
    นายวุฒิชาติ กล่าว สำหรับพนักงานขับรถโดยสารสายนครราชสีมา-เวียงจันทน์ นั้น ได้คัดสรรพนักงานขับรถที่มีประสบการณ์ทำงานค่อนข้างสูง เพราะการขับรถในประเทศไทยกับ ส.ป.ป.ลาวไม่เหมือนกันต้องใช้พนักงานขับ ที่มีประสบการณ์ และได้เข้าไปทดลองขับในเส้นทางดังกล่าวแล้ว
    อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคงต้องมีการปรับปรุงข้อตกลงบางข้อ เช่น เรื่องการห้ามจอด อาจทำให้ผู้โดยสารไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ อาจเมื่อยล้าในการเดินทาง และรถโดยสารไม่มีห้องสุขา ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เรากำลังดูเรื่องจุดจอด เพื่อได้แวะผ่อนคลายอิริยาบถ และเข้าห้องสุขาได้ด้วย แต่แน่นอนเราจะไม่อนุญาตให้รับคนโดยสารระหว่างทางเด็ดขาดส่วนภาคบริการให้ ความสำคัญในการเปิดเสรี 4 สาขา คือ โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ขนส่งท่องเที่ยวและสุขภาพ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะเปิดเสรีการถือหุ้นจาก 50% เป็น 70% ขณะที่สาขาลอจิสติกส์มีกำหนดเปิดเสรีในปี 2556
    สำหรับความร่วมมือทางด้านลอจิสติกส์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ดูเหมือนความร่วมมือด้านการขนส่งทางบกระหว่างไทย-ลาว จะมีความก้าวหน้ามากที่สุด ทั้งความร่วมมือด้านการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) ได้มีการเปิดเส้นทางเดินรถระหว่างไทย-ลาวไปแล้ว จำนวน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.หนองคาย-เวียงจันทน์ 2.อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ 3.อุบลราชธานี-ปากเซ 4.เวียงจันทน์-ขอนแก่น และ 5.สะหวันนะเขต-มุกดาหาร
    ส่วนความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้านั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมของไทยร่วมกับกระทรวงคมนาคมของลาว และเวียดนาม ได้ร่วมกันเปิดเส้นทางเดินรถบรรทุกระหว่างประเทศ เชื่อม 3 ประเทศ นับเป็นความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามแนวเส้นทางตะวันออกสู่ตะวันตก โดยเริ่มจากจุดผ่านแดนมุกดาหาร (ไทย) สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) และลาวบาว (เวียดนาม) โดยรถบรรทุกที่ได้รับการอนุญาตให้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว สามารถ วิ่งทะลุ 3 ประเทศได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ณ จุดผ่านแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และจะเป็นส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่ม น้ำโขง
    อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง ไทย-ลาวนั้นยังคงมีอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งล่าสุด บ.ข.ส.เตรียมที่จะเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารเพิ่มอีก 1 เส้นทาง รวมเป็น 6 เส้นทางแล้ว นั่นคือ เส้นทางเดินรถ “โคราช-เวียงจันทน์” โดยนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บ.ข.ส. กล่าวว่า ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ บ.ข.ส.จะเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารไปลาวเพิ่มอีก 1 สาย นับเป็นสายที่ 6 “นครราชสีมา-นครหลวงเวียงจันทน์” เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในระหว่างวันที่ 9-18 ธันวาคม 2552 นี้ โดยให้บริการวันละ 2 เที่ยว (ไป-กลับ) โดยเป็นรถปรับอากาศชั้น 2 ขนาด 45 ที่นั่ง อัตราค่าโดยสาร 320 บาท หรือ 81,600 กีบต่อที่นั่ง
    ทั้งนี้ จากการให้บริการใน 5 เส้นทางที่ผ่านมา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันแต่ละเส้นทางจะมีอัตราการบรรทุก (โหลดแฟ็กเตอร์) เฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่กว่า 70% และมีบางเส้นทาง ซึ่งอัตราการบรรทุกเกิน 100% และ ทุกทางมีกำไรแทบทั้งสิ้น เช่น หนองคาย-เวียงจันทน์ในปีงบประมาณ 2552 มีรายได้ประมาณ 4.253 ล้านบาท มีผู้โดยสาร ประมาณ 77,016 คน อัตราการบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 84.23% เป็นต้น ส่วนเส้นทางที่ทำรายได้มากที่สุด คือ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ที่มีรายได้เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 9.419 ล้านบาท มีผู้โดยสาร 209,327 คน อัตรา การบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 112.96%
    อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางใหม่นี้ บ.ข.ส.ไม่ได้ตั้งความหวังมากนัก เนื่องจาก เป็นเส้นทางที่ขยับเข้ามาใกล้กรุงเทพ มหานคร ซึ่งเกินกว่าระยะทางที่กฎหมายกำหนดผู้โดยสารที่จะเดินทางในเส้นทางนี้จึง ต้องมีถือหนังสือเดินทาง (Passport) ไปด้วย โดยไม่ต้องมีวีซ่า และสามารถอยู่ในลาวได้ 30 วัน
    นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บ.ข.ส. กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดเดินรถคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 50% และน่าจะคุ้มทุนใน 3 เดือนจากนั้น เพราะผู้โดยสารต้องมีพาสปอร์ตติดตัวเวลาเดินทาง ดังนั้นจำนวนผู้โดยสารน่าจะมีไม่มากเหมือนเส้นทางอื่นๆ ขณะที่ประธานบอร์ด บ.ข.ส. มองว่า น่าจะคุ้มทุนตั้งแต่ 3 เดือนแรก เพราะเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และประจวบเหมาะกับช่วงเทศกาลปีใหม่น่าจะได้รับความสนใจในการเดินทางเพื่อการ ท่องเที่ยว
    ในแง่ของการท่องเที่ยวนั้น ทั้งนครราชสีมาและนครเวียงจันทน์ ถือว่าเป็นสถานที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยงตามธรรมชาติ ป่า เขา น้ำตก แล้วยังมีศิลปะ วัฒนธรรม ของผู้คนในท้องถิ่นที่น่าสนใจ อาหารหลากหลายเลิศรสที่ใครได้มาชิมแล้วต้องมาอีก ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ค้นหา ดังนั้นเส้นทางนี้จึงเป็นเหมือนสะพานในการเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรม 2 ฝั่งโขงได้อย่างลงตัว

ที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000146208