งานวิจัยจากวอชิงตันชี้ ดื่มเหล้าน้อยไปเสี่ยงโรค

ไลฟ์สไตล์
งานวิจัยจากวอชิงตันชี้ ดื่มเหล้าน้อยไปเสี่ยงโรค

งานวิจัยจากวอชิงตันชี้ ดื่มเหล้าน้อยไปก็เสี่ยงโรค หญิงช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอุดตันในวัยกลางคน ขณะที่เพศชายจะมีผลดีเล็กน้อยช่วงอายุ 90 ปี

เวทีเสวนา “ดื่มในระดับที่ปลอดภัย...มีจริงหรือ” จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับศูนย์ศึกษาปัญหาสุรา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยเรื่องภาระโรคจากการดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างปี 1990-2016 โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 694 แหล่งข้อมูล 592 งานวิจัยใน 195 ประเทศ จาก 2.8 ล้านคน และตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลกLancet ระบุว่า ในปี 2016 ประชากรโลกเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 3 ล้านคนและถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับ 7 ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ ขณะที่ข้ออ้างการดื่มเล็กน้อยเพื่อสุขภาพไม่เป็นความจริง
 
ดื่มเหล้าน้อยไปเสี่ยงโรค
 
โดยงานวิจัยชี้ว่าการดื่มเล็กน้อยในเพศหญิงจะเห็นผลดีช่วงวัยกลางคนในการลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจอุดตัน แต่จะมีความเสี่ยงมากกว่าในการเป็นมะเร็งเต้านม เส้นเลือดในสมองแตก ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย และโรคอื่นๆอีกมาก ขณะที่เพศชายจะมีผลดีเล็กน้อยช่วงอายุ 90 ปี แต่จะเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค ผลวิจัยจากทั่วโลกชิ้นนี้ ยืนยันชัดว่า ไม่ว่าจะดื่มปริมาณเท่าใดก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ดื่มสุราในปริมาณ 1 ดริงก์ (10 กรัม) เทียบเท่าเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้วต่อวัน จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก  ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ม.วลัยลักษณ์