ระวัง! 3 โรคที่มาช่วงหน้าหนาว จ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยมากที่สุด

ไลฟ์สไตล์
ระวัง! 3 โรคที่มาช่วงหน้าหนาว จ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยมากที่สุด

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวระวัง 3 โรคที่มากับฤดูหนาว เพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพ

นายแพทย์วาที สิทธิ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภาคเหนือตอนบนเริ่มมีอากาศเย็นลง ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวตามพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะบนยอดดอยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่ ร่างกายอาจจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย
 
โรคที่มักมากับฤดูหนาวลำดับแรก คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการไอ หรือจามรดกัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หลังรับเชื้อมักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมีน้ำมูกใส ส่วนโรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด มีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย หลังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 0-4 ปี ป่วยมากที่สุด

โรคที่มาช่วงหน้าหนาว
 
และพบว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ติดต่อได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันหนาแน่น และอีกโรคที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ คือ โรคไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากถูกตัวไรอ่อนกัด ลักษณะแผลคล้ายบุหรี่จี้ พบมากในนักท่องเที่ยวที่ชอบตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า
 
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังและดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจโดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ การปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่แออัดที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และเมื่อป่วยแล้วให้หยุดกิจกรรม เพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
 
หากไม่หายขอให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนและทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบกางเต็นท์นอนในป่า ควรหลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ หรือหญ้าที่ขึ้นรก และควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทาโลชั่นกันยุง หรือแมลง ซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์