ประวัติความเป็นมาของวันสงกรานต์ ที่คนไทยควรรู้

ไลฟ์สไตล์
ประวัติความเป็นมาของวันสงกรานต์ ที่คนไทยควรรู้

วันสงกรานต์ ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้น ตรงกับ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี

 


เรียบเรียงข้อมูลโดย Thaiticketmajor.com

วันสงกรานต์ ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั้น ตรงกับ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ซึ่ง ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง ประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย โดยมีการสันนิฐานว่ามาจากเทศกาลโฮลี หรือ การสาดสี ในประเทศอินเดีย แต่เปลี่ยนจากการใช้สีมาเป็นน้ำ

วันสงกรานต์

พิธีต่างๆ ในวันสงกรานต์ จะเน้นไปทางครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง โดยพิธีกรรมต่างๆ ที่นิยมทำในวันนี้ คือ

1. รดน้ำดำหัวและขอพรจากผู้ใหญ่  

2. ทำบุญถวายส่วนกุศลไปให้เจ้ากรรมนายเวรและญาติผู้ล่วงลับ

3. การสรงน้ำพระที่เลื่อมใส เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว

4. ประเพณีแห่และประกวดนางสงกรานต์

5. นำทรายเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา

6. เล่นสาดน้ำตามจุดต่างๆ ที่ได้จัดไว้

วันสงกรานต์


และนอกจากนั้น ประเพณีวันสงกรานต์ ยังจำแนกออกมาเป็นแต่ละภาค ดังนี้

- สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ "วันสังขารล่อง" (13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล "วันเนา" หรือ "วันเน่า" (14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย "วันปากปี" (16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ เพื่อขอขมาคารวะ "วันปากเดือน" (17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆ ออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา และ "วันปากวัน" (18 เม.ย.)

- สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

- สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน "วันว่าง" (14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น "วันรับเจ้าเมืองใหม่" (15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

- สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันวันเถลิงศก ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
 

วันสงกรานต์ ปีหนึ่งจะมีสักครั้ง ฉะนั้น จงหาเวลาว่าง พาคุณพ่อคุณแม่ทำบุญตักบาตร ปล่อยใจให้สบาย แล้วหาของอร่อยๆ ทานร่วมกัน แค่นี้ก็ทำให้ช่วงวันหยุดยาวในวันปีใหม่ของไทย เป็นช่วงเวลาที่พิเศษและน่าจดจำแล้วล่ะ




ที่มา : วิกิพีเดีย