กรมอนามัย แนะลอยกระทงปีนี้ หันมาใช้กระทงร่วมกัน เพื่อลดปริมาณขยะล้นเมือง

ไลฟ์สไตล์
กรมอนามัย แนะลอยกระทงปีนี้ หันมาใช้กระทงร่วมกัน เพื่อลดปริมาณขยะล้นเมือง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ลอยกระทงปีนี้ ใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี คืนวันลอยกระทง

ทุกๆ ปีที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลลอยกระทงมักจะเกิดเหตุการณ์ขยะล้นเมืองมาตลอด ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2560 (วันพรุ่งนี้) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
 
ซึ่งมีรายงานว่า ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2559 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 661,935 ใบ 
 
แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 617,901 ใบ หรือร้อยละ 93.35 และกระทงจากโฟม จำนวน 44,034 ใบ หรือร้อยละ 6.65 โดยปริมาณกระทงลดลงจากปี 2558 จำนวน 163,679 ใบ หรือลดลงร้อยละ 19.83 
 
สาเหตุที่จำนวนกระทงโฟมลดลงเนื่องจากมีการรณรงค์ให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่กระทงทั้งหมดก็กลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ซึ่งการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อจัดการและกำจัดเป็นปัจจัยสำคัญของการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงกระทงที่ทำจากขนมปัง ที่คนให้ความสนใจนำมาลอยมากขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไป ปลากินไม่ทัน จะทำให้น้ำเน่าเสียได้ 
 
ลอยกระทง
 
ส่วนกระทงที่ทำจากโฟมเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก หลายคนเชื่อว่าสะดวกดี ลอยน้ำได้ง่าย แต่อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิต โฟมต้องใช้สารเคมีจำนวนมากซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย
 
ทั้งนี้ การลอยกระทงโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน และยังคงสืบสานประเพณีที่ดีงามควรใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด คือ 
 
1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย เช่น กระทงขนมปัง ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากินขนมปัง กระทงหยวกกล้วยเหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย 
 
2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ เก็บขนได้ทัน ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 
 
3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำได้ 
 
4. เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ และช่วยลดปริมาณขยะได้ 
 
5. ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า ขยะน้อยกว่า 
 
6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทงลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัวๆ ละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี