‘วิ่งสมาธิ’ แบบฉบับ ‘ซิตี้รัน’

ไลฟ์สไตล์
‘วิ่งสมาธิ’ แบบฉบับ ‘ซิตี้รัน’

ซิตี้รัน คือ การวิ่งในเส้นทางของเมือง เพื่อทำให้การวิ่งเป็นเรื่องง่าย สามารถวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อทำให้คนออกมาวิ่งกันมากขึ้น

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบโดย นัฐพร  ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th  /แฟ้มภาพ / ภาพจากกลุ่มซิตี้รันคลับ
 
“แค่หยิบรองเท้าแล้วก้าวออกไปวิ่ง” เป็นคอนเซปต์ง่ายๆ สำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งเราจะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น
 
นับเป็นยุคที่การวิ่งบูมขึ้นมากในประเทศไทย จากการปลุกกระแสการวิ่งในภาพยนตร์เรื่อง รัก7 ปีดี 7 หน จนนำมาซึ่งงาน “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” ในปี 2555 เป็นต้นมา โดยทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดขึ้น และส่งต่อการวิ่งสู่คนรุ่นใหม่ รวมถึงปลุกพลังนักวิ่งรุ่นเก่าให้ออกมาวิ่งอีกครั้ง
 
และหลังจากนั้น “ตูน บอดี้สแลม” ก็ปลุกคนไทยทั้งประเทศให้ออกมาวิ่งและดูแลสุขภาพของตนเอง ด้วยโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เริ่มจากปลายปี 2559 ที่วิ่งจากกรุงเทพ ถึง โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และปลายปี 2560 วิ่งจาก เบตง จ.ยะลา ถึง แม่สาย จ.เชียงราย โดยรายได้จากการบริจาคเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่เดือดร้อน และเพิ่มศักยภาพในการรักษาคนไข้ให้เพียงพอ
 
รวมไปถึงการเกิดขึ้นของงานวิ่งราวๆ กว่า 1,000 งานในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า “การวิ่ง” เป็นการออกกำลังกายสุดฮิตของคนไทย ที่สามารถทำได้ง่าย และคนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และกว่าจะถึงงานวิ่งที่แต่ละคนสมัครไว้ แน่นอนว่า “การซ้อมวิ่ง” เป็นสิ่งที่สำคัญที่นักวิ่งควรฝึกร่างกายตัวเอง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นระยะ 5 กม. 10 กม. 21 กม. 42.195 กม. หรือระยะอัลตร้าที่ไกลกว่านั้น
 
ระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อให้ตัวเราไปถึงเป้าหมายของการวิ่งนั้น นักวิ่งเลือกที่จะซ้อมในสวนสาธารณะ บนลู่วิ่ง หรือในที่ต่างๆ กันไป ไม่ว่าเป้าหมายของการซ้อมไม่ว่าจะเพื่อฝึกหัวใจ-ปอด เพื่อความเร็ว หรือฝึกกล้ามเนื้อ เพื่อให้เกิดความอดทน นักวิ่งต้องโฟกัสไปที่ร่างกายตัวเอง ฟังเสียงร่างกายและหัวใจเป็นสำคัญ การที่จดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิด “สมาธิ” ตามมานั่นเอง
 
วิ่งสมาธิ
 
- ทุกก้าวที่เราวิ่งอย่างรู้ตัว คือ สมาธิ -
 
ระหว่างทางที่วิ่ง เมื่อเรา “จดจ่อ” “มุ่งมัน” “รู้ตัว” ในทางพุทธศาสนา เรียกว่า วิริยะ นั่นคือ ความพากเพียรทำในสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน ต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ และ จิตตะ ที่หมายถึง การไม่ละทิ้งเป้าหมายนั้น ลงมือทำด้วยใจจดจ่อ หรือมีสมาธิ นั่นเอง
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุชาติ โสมประยูร ผู้คิดค้นการวิ่งสมาธิ ได้เชื่อมโยงสมาธิกับการวิ่งไว้ว่า การทำสมาธิเป็นกิจกรรมออกกำลังจิตเพื่อเพิ่มสมรรถภาพจิต ส่วนการวิ่งเหยาะๆ เป็นการเพิ่มสมรรถภาพให้ร่างกาย สร้างความแข็งแรงให้ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ปอด และร่างกาย เมื่อการวิ่งเหยาะๆ ผนวกรวมกับสมาธิ นั่นหมายถึง การวิ่งเหยาะๆ อย่างมีสติ รู้ตัวเอง
 
ราวๆ 20 ปีก่อน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุชาติ ได้วิ่งเหยาะๆ ไปกับการภาวนา “พุท-โธ” ในระหว่างที่หายใจเข้า – ออก บูรณาการระหว่างร่างกายกับจิตใจ ซึ่งหลังจากการวิ่งแบบภาวนาประมาณ 5 เดือน ก็ค้นพบว่า 1. เกิดอาการติดวิ่งสมาธิ 2. ลดความวิตกกังวล คลายเครียด และหลับสบาย 3. ระบบต่างๆ ของร่างกายได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น 4. แก้ไขปัญหาสุขนิสัยที่ไม่ดีของตนเองได้ง่ายขึ้น 5. ลดความเสี่ยงจากโรคและอุบัติภัยได้มากขึ้น 6. ร่างกายกระฉับกระเฉง ทะมัดทะแมง แคล่วคล่องว่องไว 7. อารมณ์สดชื่น แจ่มใส มีชีวิตชีวา และดูไม่แก่เกินวัย
 
วิ่งสมาธิ
 
- วิ่งในเมือง (ซิตี้รัน) แบบมีสมาธิ - 
 
เมื่อเท้าสองข้างที่พาเราออกไปวิ่ง ไม่ได้จำกัดแค่ในสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรือ บนลู่วิ่ง เส้นทางการวิ่งในเมือง หรือ ซิตี้รัน จึงเป็นทางเลือกที่นักวิ่งสามารถสวมรองเท้าแล้วออกไปวิ่งได้ทันที คิม - พีรดนย์ นำศิริวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มซิตี้รันคลับ เล่าถึงรูปแบบการวิ่งให้ฟังว่า
 
วิ่งสมาธิ
 
“ซิตี้รัน คือ การวิ่งในเส้นทางของเมือง เพื่อทำให้การวิ่งเป็นเรื่องง่าย สามารถวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อทำให้คนออกมาวิ่งกันมากขึ้น เส้นทางการวิ่งในเมืองทำให้การวิ่งไม่น่าเบื่อ โดยที่เราสามารถวิ่งไปในที่ต่างๆ แบบที่รถยนต์ไม่สามารถไปได้
 
สำหรับสิ่งสำคัญ คือ การระมัดระวังรถ หากวิ่งในเช้ามืดหรือช่วงหัวค่ำก็ต้องเตรียมไฟฉาย เสื้อสะท้อนแสง ไฟติดตัว เพื่อให้คนที่ขับขี่เห็นเราชัด และถ้าหากวิ่งผ่านในที่ที่ไม่มีร้านขายน้ำ ก็ต้องเตรียมขวดน้ำ/เป้น้ำใส่ขนมกินไปให้พร้อม
 
ส่วนความปลอดภัย แนะนำให้หาเพื่อนไปด้วยในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และสุดท้ายเราต้องไม่สร้างความเดือดร้อนหรือทิ้งอะไรไว้ในเส้นทาง เราแค่ขอวิ่งผ่าน เก็บไว้เพียงความทรงจำ
 
ในการวิ่งซิตี้รัน แน่นอนว่า เราต้องใช้สมาธิในการวิ่ง เพราะการวิ่งบนถนนเราต้องเจอกับอะไรที่ไม่คาดคิดตลอดเวลา ดังนั้นการมีสมาธิ สติอยู่กับการวิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก” คิม เน้นย้ำ
 
นอกจากนี้ คิม ยังเล่าทิ้งท้ายถึงเสน่ห์การวิ่งซิตี้รัน ว่า ทำให้เราอยากวิ่งไปในที่ต่างๆ และการวิ่งแบบนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เราวิ่งมากขึ้น ไกลขึ้น ที่สำคัญทำให้เราพบว่า บ้านเมืองเรายังมีอะไรดีๆ ให้ไปสำรวจ ไปพบอีกมาก แบบที่เราไม่มีโอกาสจะได้เห็นเลยหากไม่มาวิ่งซิตี้รัน
 
วิ่งสมาธิ
 
เช่นเดียวกับที่ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. ได้บอกถึงการวิ่งสมาธิว่า ไม่ว่าเราจะวิ่งซิตี้รันในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สิ่งสำคัญที่เราควรมีในทุกขณะของการวิ่งคือ ‘สมาธิและสติ’ เนื่องจากเราต้องระมัดระวังทั้งรถและคน ฟังเสียงร่างกายตัวเอง รู้ทันความคิดของตัวเอง เมื่อหยุดฟังตัวเอง และใช้ใจจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำ เราจะเกิดปัญญา  ความเข้าใจในกิจกรรมที่ทำ
 
“สำหรับ สสส. และสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย รวมถึงภาคีเครือข่ายได้สนับสนุนให้คนไทยออกมาวิ่ง ไม่ว่าจะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ หรือจะร่วมวิ่งกับกลุ่ม ซิตี้รันคลับ (City Run Club) โดยทางกลุ่มจะวิ่งเดือนเฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีเส้นทางการวิ่งตามที่กลุ่มกำหนด โดยเดือนพฤษภาคม ที่เป็นเดือนของการวิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ก็จะมีการวิ่งไปยังวัดต่างๆ ด้วย” อ.ณรงค์ ให้ข้อมูล
 
วิ่งสมาธิ
 
- วิ่งสมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา - 
 
วันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ที่จะถึงนี้ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในการการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยการปฏิบัติบูชา สสส.จึงร่วมกับ สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จัดงาน “เดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา ครั้งที่ 17” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนนำการปฏิบัติ “สมาธิ” มาประยุกต์ใช้กับการวิ่งในการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง
 
สำหรับปีนี้ปล่อยตัวจากสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วิ่งผ่าน 3 สวนสาธารณะ ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร โดยมีค่าสมัครเพียง 200 บาท พร้อมเสื้อที่ระลึก มีระยะทางการวิ่ง 5 กม. และ 10 กม. (ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีเหรียญรางวัล ผู้เข้าเส้นชัย จะได้รับของที่ระลึกเป็นกระเป๋าคาดเอว) สามารถสมัครวิ่ง และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook https://www.facebook.com/runninginthemoment/
 
ถ้าเราสามารถทำสิ่งใดๆ ด้วยหลักธรรมโดยมีศีลเป็นพื้นฐาน กิจกรรมนั้น ๆ จะมีความสำเร็จอย่างงดงาม ดังนั้นการวิ่งจึงเป็นการออกกำลังกายโดยยึดหลักธรรม และมีจิตที่มุ่งมั่นตั้งใจในการวิ่งไปสู่เป้าหมาย 


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส