กรมอนามัยแนะ พ่อแม่-โรงเรียน ใส่ใจสุขภาพเด็ก

ไลฟ์สไตล์
กรมอนามัยแนะ พ่อแม่-โรงเรียน ใส่ใจสุขภาพเด็ก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ พ่อแม่และโรงเรียนใส่ใจสุขภาพเด็กวัยเรียนให้มีความพร้อมด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย กินอาหาร และสิ่งแวดล้อมที่ดี

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เด็กวัย 6 -14ปี เป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด การเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ โรงเรียนควรจัดอาหารให้มีคุณค่าและถูกหลักทางโภชนาการ ทั้งปริมาณและความเหมาะสมกับวัย โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย เน้น ผัก ผลไม้ นมสดรสจืด และไข่ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารรสจัด ขนมกรุบกรอบ รวมถึงสร้างพฤติกรรมให้ลูกกินอาหารเช้าทุกวัน เนื่องจากเป็นมื้อที่มีความสำคัญมากที่สุด หากอดอาหารเช้า จะทำให้สมองและกล้ามเนื้อทำงานไม่ดี เรียนรู้ช้า ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมในอนาคต และควรพาลูกออกกำลังกาย ลดการนั่ง นอนที่ไม่ใช่นอนหลับพักผ่อน แต่ให้เด็กกระโดดโลดเต้นหรือวิ่งเล่นกับเพื่อนให้เหนื่อยทุกวัน และถ้าทำได้ควรให้เด็กเลือกเล่นกีฬาที่ชอบ พร้อมฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอ่อนตัวอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์
 
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า สุขภาพช่องปากของลูกก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน พ่อแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ2ครั้ง เพื่อรับการตรวจสุขภาพช่องปากประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ และรับการรักษาถ้าเกิดโรคฟันผุ นอกจากนี้ควรเลือกแปรงสีฟันให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ยาสีฟันต้องมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และแนะนำให้แปรงฟันตามหลัก 222 คือ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เน้นหลังอาหารเช้าและก่อนนอนแปรงฟันนาน 2 นาที และไม่กินอาหารและเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกินขนมและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดฟันผุ
 
 “สำหรับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยส่งเสริมให้มีการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะควบคุม ป้องกัน การแพร่กระจายของโรคติดต่อในโรงเรียนอาคารสถานที่มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ส่วนโรงอาหารของโรงเรียน ควรถูกต้องตามมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร มีสถานที่เตรียมปรุงอาหารสะอาดมีโต๊ะเตรียมอาหารสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร อาหารต้องสด แยกเก็บเป็นสัดส่วนล้างให้สะอาดก่อนปรุง อาหารปรุงสำเร็จแล้วต้องปกปิดล้างภาชนะต่างๆ อย่างน้อย 2 ขั้นตอน โดยล้างด้วยน้ำยาล้างภาชนะ และน้ำสะอาดอีก 2 ครั้ง และนำไปคว่ำในที่สะอาดปกปิดมิดชิด สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ผู้ปรุงผู้เสริฟ์แต่งกายสะอาด สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผมและมีความรู้และทักษะในด้านจัดการสุขาภิบาลอาหารที่ดี ดูแลทำความสะอาดตู้น้ำ ติดตั้งสายดินเปลี่ยนไส้กรองในเครื่องกรองน้ำ ตามระยะเวลาที่บริษัทผลิตกำหนด เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างปลอดภัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด