เวียงกุมกาม นครโบราณไต้พิภพ เมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา

กินเที่ยว
เวียงกุมกาม นครโบราณไต้พิภพ เมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา

เวียงกุมกาม นครโบราณไต้พิภพ เมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา

เมื่อกว่า 700 ปีก่อน พญามังราย กษัตริย์แห่งโยนกนคร ผู้สืบเชื้อสายมาจากลวจักราช ได้แผ่อำนาจมายังลุ่มแม่น้ำกกและเข้ายึดครองเมืองหริภุญไชย อันเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีเป็นศูนย์กลางการค้าและความเจริญ แต่แล้วในปี พ.ศ.1837 ก็ทรงย้ายไปสถาปนา เวียงกุมกาม ในบริเวณที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำปิง(สายเดิม) ให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา

แต่ด้วยความที่เป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง เมืองหลวงแห่งนี้จึงประสบอุทกภัยในทุกๆปี พญามังรายเห็นดังนี้ จึงเชิญพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ผู้เป็นพระสหายมาร่วมหารือ แล้วโปรดให้สร้าง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ที่มีชัยภูมิดีกว่า เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101 - 2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครอง ล้านนา พม่าปกครองล้านนาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงเวียงกุมกามทั้งๆที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้ง ใหญ่นี้เป็นเรื่องร้ายแรงมากและสมควรที่จะบันทึกไว้ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ใดเลย ผลของการเกิดน้ำท่วมนี้ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินจนยากที่ จะฟื้นฟูกลับมา สภาพวัดต่างๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหารและเจดีย์ร้างที่จมอยู่ดินในระดับ ความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.50 -2.00 เมตร โดยวัดที่จมดินลึกที่สุดคือวัดอีค่าง รองลงมาคือ วัดปู่เปี้ย และวัดกู่ป่าด้อม


การท่องเที่ยว ที่เวียงกุมกามมีหลายวิธี เช่นโดยการนั่งรถม้า หรือรถนำเที่ยวไปตามโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของที่นี่ หรือจะเลือกขับรถไปเองโดยมีแผนที่บอกทางใบเดียว แล้วขับไปตามลูกศร สนุกกับการหลงค้นหาเมืองโบราณ พร้อมกับการชิมอาหารพื้นเมืองไปเรื่อยๆ จนพุงกางสนุกสบายแบบไม่เร่งรีบ โบราณสถานที่สำคัญและน่าสนใจ เช่น วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดพระเจ้าเม็งราย วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดอีก้าง วัดกุมกาม วัดหัวหนอง วัดกุมกามทีปราม เป็นต้น

 

โบราณสถานในเวียงกุมกาม

หลังจากที่หน่วยกรมศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ได้ไปทำการขุดค้นหาซากเมืองและโบราณสถานเพิ่มเติม ก็ได้ค้นพบเจอวัดต่างๆ ที่จมอยู่ใต้พื้นดินเป็นจำนวนหลายวัดอีกดังต่อไปนี้

  • วัดกานโถม (ช้างค้ำ) พญามังรายได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1833 ประกอบด้วยฐานเจดีย์ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 18 เมตร มีซุ้มคูหาสี่ทิศ มีการใช้พระพุทธรูปซ้อนเป็น 2 ชั้น (ชั้นล่าง- มีพระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบน- มีพระพุทธรูปยืน 2 องค์) วิหารและเจดีย์ทรงมณฑปบนฐานลานประทักษิณเตี้ย บริเวณฐานวิหารพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญไชยฝังไว้โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อีก 1 องค์ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมณฑปยอดระฆัง ในบริเวณวัดกานโถมยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดจากเมืองลังกามาไว้ด้วย
  • วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และ รูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก
  • วัดเจดีย์เหลี่ยม (วัดกู่คำ) แต่เดิมวัดนี้ชื่อวัดกู่คำ กู่ หมายถึง พระเจดีย์ คำ หมายถึง ทองคำ พญามังรายทรงโปรดให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1831 โบราณวัตถุที่สำคัญของวัดคือ องค์พระเจดีย์ประธานรูปทรงมณฑปปลด 5 ชั้น วัดนี้มีความโดดเด่นคือ เป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง และมีรูปแบบเจดีย์ที่แสดงถึงอิทธิพลรูปแบบของรัฐหริภุญไชย โดยที่พญามังรายโปรดให้เอามาก่อสร้างไว้ในเวียงกุมกามระยะแรกๆ
  • วัดอีก้าง (วัดอีค่าง) ที่เรียกว่าวัดอีค่างหรืออีก้างนั้นเพราะเดิมบริเวณวัดเป็นป่ารกร้างและมีฝูงลิงฝูงค่างใช้ ซากวัดแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งค่างในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “อีก้าง” โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน วิหารมีขนาดใหญ่ 20 × 13.50 เมตร เจดีย์เป็นแบบองค์ระฆังทรงกลม
  • วัดพระธาตุขาว (วัดธาตุขาว) ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาวเนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาวนั่น เอง โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะคือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
  • วัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกาม โดยอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์
  • วัดพญามังราย ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดู เหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้าน หน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้
  • วัดหัวหนอง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านเหนือ ภายในประกอบด้วยซุ้มโขงประตูใหญ่ อุโบสถ มณฑป วิหารและเจดีย์ มีลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูวัดเป็นรูปกิเลน สิงห์ หงส์ที่มีความงดงาม
  • วัดกุมกาม ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศเหนือของวัดกานโถม สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารพร้อมห้องมูลคันธกุฏี และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม
  • วัดน้อย (วัดธาตุน้อย) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดกานโถม ก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินสองแห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนโบราณสถานแห่งนี้ และยังพบร่องรอยกสารขุดหาทรัพย์สินด้วย โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ วิหารตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืน ผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง 1 แห่ง พื้นวิหารปูอิฐ ด้านหลังวิหารเป็นซุ้มประดิษฐานพระประธานปูนปั้น เจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 13.35 × 13.35 เมตร สูง 1.64 เมตร ต่อขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6.20 × 6.20 เมตร ลักษณะเจดีย์มีฐานใหญ่แต่องค์เจดีย์เล็ก
  • วัดไม้ซ้ง ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวียงกุมกาม บริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา สถาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้ซ้งอยู่ (เป็นที่มาของชื่อวัด) โบราณสถาน ประกอบด้วยวิหารเจดีย์แปดเหลี่ยม และฐานซุ้มประตูโขงพร้อมกำแพง
  • วัดกู่ขาว ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพรอบๆ วัดก่อนการขุดแต่งพบเจดีย์มีความสูงประมาณ 5 เมตร และรอบๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดิน หลังจากขุดลอกดินที่ทับถมอยู่ได้พบโบราณสถาน 3 แห่งคือ กำแพงแก้วและซุ้มประตูอยู่หลังเจดีย์, เจดีย์ประธานเป็นศิลปะล้านนา เรือนธาตุมีลักษณะสูงก่อทึบตันทั้ง 4 ด้าน (ไม่ทำซุ้มพระ) ส่วนยอดเจดีย์เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง และวิหารที่มีมุมฐานบัวลูกแก้ว ฐานชุกชีเดิม และลายกลีบบัว
  • วัดกู่ป่าด้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม ชื่อของวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย วิหารฐานใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง วัดแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22
  • วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกนอกเวียงกุมกาม โบราณสถานประกอบด้วยวิหารซึ่งเหลือเพียงฐาน และเจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • วัดกู่อ้ายหลาน เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเวียงกุมกาม ชื่อวัดเรียกตามเจ้าของที่ที่ชื่ออ้ายหลาน โบราณาสถานประกอบด้วยวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
  • วัดกู่อ้ายสี เป็นวัดขนาดเล็ก โบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน และแท่นบูชา
  • วัดกู่มะเกลือ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออก เรียกชื่อวัดตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นบนโบราณสถาน หลังจากทำการขุดลอกดินออกแล้ว พบเจดีย์และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
  • วัดกู่ลิดไม้ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านใต้ วัดนี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรีกกันเนื่องจากมีต้นเพกา (ต้นลิดไม้) ขึ้นอยู่บนเนินวัด โบราณสถานประกอบด้วยวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ด้านหลังวิหารเหลือเพียงฐาน และเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มประตูโขงและกำแพงแก้ว
  • วัดกู่จ๊อกป๊อก ตั้งอยู่นอกกำแพงเวียงกุมกามทางทิศตะวันออกฉียงใต้ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน
  • วัดหนานช้าง ตั้งตามชื่อเจ้าของที่ดิน ด้านหน้าของวัดอยู่ใกล้แม่น้ำปิง ซุ้มโขงมีลายปูนปั้นประดับเล็กน้อย ถัดจากซุ้มโขงลงไปมีทางเดินและมีวิหาร ซึ่งที่ฐานพระประธานมีลายปูนปั้น ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ฐานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้น เรือนธาตุได้พังเสียหายไปแล้ว เยื้องกับเจดีย์เป็นมณฑป ถัดไปเป็นอุโบสถ
  • วัดเสาหิน ตั้งอยู่เขตท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราว ของวัดนี้ในอดีต
  • วัดหนองผึ้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม-เชียงใหม่ หรือบางทีอาจจะมีสภาพเป็นวัดดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณวัตถุประเภทพิมพ์แบบลำพูน สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้คือ วิหารพระนอน เป็นองค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 38 ศอก (39 เมตร)
  • วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่เขตตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชีงใหม่ เป็นวัดที่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นมาใหม่ในสมัยหลัง ปัจจุบันวัดนี้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่
  • วัดข่อยสามต้น อยู่ในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเวียงกุมกาม ชื่อวัดนี้ตั้งตามจุดสังเกตที่เป็นต้นข่อยจำนวน 3 ต้น ที่ขึ้นเจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณวัด และไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารและตัวแทนทางประวัติศาสตร์
  • วัดพันเลา อยู่ในท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดร้างขื่อดั้งเดิมที่ชุมชนเรียกสืบทอดต่อกันมา คาดว่ามาจากชื่อวัดที่มีคำนำหน้าว่า “พัน” นำหน้านั้น น่าจะหมายถึง ยศทางทหาร หรือขุนนาง ที่เดิมวัดนี้อาจเป็นวัดอุปถัมภ์ของนายทหารหรือขุนนางชื่อ “เลา” ตั้งอยู่ริมถนนท่าวังตาลซึ่งอยู่นอกเวียงกุมกามทางด้านทิศเหนือ สภาพโบราณสถานมีการก่ออิฐกระจายหลายแห่ง พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร และยังคงคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดิน และบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา

ที่มา : http://wikipedia.org

เอื้อเฟื้อภาพจากคุณ dodoman