เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร

กินเที่ยว
เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร

ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็น ที่รับรุ้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า 12 นักษัตร

ประเพณีการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 แห่ง ของบุคคลที่เกิดใน 12 ปีนักษัตร เป็นคติความเชื่อโบราณที่สืบทอดกันมาหลายยุชั่วอายุคน การเดินทางไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิด นอกจากจะได้กุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ ได้เที่ยวชมปูชนียสถานที่งดงามล้ำค่า ด้วยศิลปกรรมแล้วยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีโบราณมิให้สูญหายไปด้วย  พระธาตุเจดีย์คือ สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ที่ดำรงอยู่คู่กับพุทธศาสนามาช้านานนับร้อยนับพันปี และตำนานที่เกี่ยวข้อง ได้สะท้อนถึงการเผยแพร่พุทธศาสนาในเมืองไทย

 

ปีชวด(หนู) : พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่

พระบรมธาตุเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนยอดจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ส่วนพระเศียรเบื้องขวา มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นพระบรมธาตุที่มิได้ฝังใต้ดิน แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในวิหาร สามารถอัญเชิญมาสงน้ำได้

ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้ และทรงพยากรณ์ว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุของพระองค์ในภาย หน้า ต่อมาราวปี พ.ศ.1995 นางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้างเสนาสนะที่ดอยต้นทอง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดจอมทอง ในสมัยพระแก้วเมือง (พ.ศ.2038-พ.ศ.2068) กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ได้สร้างวิหารจัตุรมุข ภายในมีมณฑปปราสาทเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ เจ้าเมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมธาตุศรีจอมทองไปยังเมือง เชียงใหม่ เพื่อทำการสักการะ โดยมีวัดต้นเกว๋นที่ อ.หางดง เป็นวัดที่หยุดพักขบวนแห่พระบรมธาตุเข้าเมือง

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 มีพิธีแห่พระบรมธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถและให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ โดยจะมีการกล่าวบทอัญเชิญ และใช้ช้อนทองคำเชิญพระธาตุจากผอบมาประดิษบานในโกศแก้วที่ตั้งบนพานเงิน ตามธรรมเนียมเดิมควรนำน้ำจากแม่น้ำกลาง เจือน้ำหอมหรือแก่นจันทร์มาใช้สรง หรือจะเป็นน้ำสะอาดเจือของหอมก็ได้


ปีฉลู(วัว) : พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง

พระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองลำปาง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเสด็จถึงหมู่บ้านสัมภาการีวัน ลัวะชื่ออ้ายคอนได้นำน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้พางและมะพร้าวมาถวาย พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่า ที่นี่จะมีนครชื่อ ลัมพาง และได้มอบพระเกศาธาตุให้ลัวะอ้ายคอนนำไปประดิษฐาน ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุหน้าผากและพระธาตุลำคอมาประดิษฐานที่นี่

พระธาตุลำปางหลวงตั้งอยู่กลางเวียงโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเวียงทางศาสนาโดยเฉพาะ ภายในวัดมีสิ่งน่าชมมากมาย ได้แก่ วิหารพระพุทธ เป็นวิหารไม้แบบล้านนา ที่ตกแต่งด้วยลายคำ คือลายทองบนพื้นแดง และภายในสามารถเห็นภาพเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังปรากฏบนผืนผ้า วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถงมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่ของล้านนา วิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด และมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ และชาดก ที่เขียนในราวสมัยรัชกาลที่ 5 หอพระพุทธบาท เป็นอีกแห่งที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุ แต่ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้น และที่ หอพระแก้ว ประดิษฐานพระแก้วจากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระพุทธรูปคู่เมืองลำปาง


ปีขาล(เสือ) : พระธาตุช่อแฮ แพร่

พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ยๆ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัดบ่งบอกว่ามีอายุราว พ.ศ.1900 แต่ตำนานพระธาตุได้เล่าประวัติอันเก่าแก่ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพต และพบกับเจ้าลาวนามลัวะอ้ายค้อม เมื่อขุนลัวะทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้นำภัตตาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าที่นี่ต่อไปจะมีเมืองชื่อเมืองแพร่ ในครั้งนั้นพระอรหันต์และพระยาอโศก ที่เสด็จมาด้วยได้ทูลขอพระเกศาธาตุมอบให้ขุนลัวะไปบรรจุโกศแก้ว แล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ และพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า หลังจากที่พระองค์ปรินิพานแล้วให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐานที่นี่

นามของพระบรมธาตุเจดีย์นี้มีเรื่องเล่าว่า มาจากที่ขุนลัวะ นำผ้าแพรมารองรับพระเกศาธาตุ จึงมีชื่อว่า ช่อแพร และเพี้ยนเป็น ช่อแฮ ในภายหลัง แต่บ้างก็ว่ามีชาวบ้านนำผ้าแพรอย่างดีมาผูกบูชาองค์พระธาตุ

งานมนัสการพระธาตุจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เป็นงานประจำปีที่สำคัญของชาวเมืองแพร่ ในงานมีการแห่ตุงหลวงถวายแด่องค์พระธาตุและการแสดงมหรสพ


ปีเถาะ(กระต่าย) : พระธาตุแช่แห้ง น่าน

พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็กนอกเมืองน่าน มีเรื่องราวเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแซ่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสี ที่มาสรงน้ำที่เดียวกับที่พระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงของพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน

ต่อมาราว พ.ศ.1896 สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทจึงมอบพระบรมธาตุ 7 พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็นพระธาตุแช่แห้งคู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้

ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ทางวันมีการจัดงานมนัสการพระธาตุแช่แห้ง ในงานมีมหรสพ การแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชาตามธรรมเนียมดั้งเดิม


ปีมะโรง(งูใหญ่) : พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในตำนานสิหิงคนิทานและพงศาวดารโยนก เล่าประวัติว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานไป 700 ปี พระเจ้าสีหลและกษัตริย์องค์อื่นใคร่ทอดพระเนตรรูปของพระพุทธเจ้า มีแต่พระยานาคที่เคยเห็นพระองค์ จึงแปลงรูปเนรมิตตนเป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าสีหลได้กระทำการบูชา 7 วัน 7 คืน และให้ช่างถ่ายแบบพระพุทธรูปไว้

ต่อมาพระร่วงแห่งสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ ใครจะได้บูชา จึงบอกกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าสิริธรรมได้ส่งทูตไปขอจากลังกา อัญเชิญไปให้พระเจ้าสุโขทัย ต่อมาพระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญไปยังเมืองสำคัญจนกระทั่งราวปี พ.ศ.1983 เจ้ามหาหรพมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรมาถวายพญาแสนเมืองมาแห่ง เชียงใหม่ เดิมพญาแสนเมืองจะให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบุปผาราม แต่เมื่อรถที่อัญเชิญมาถึงหน้าวัดลีเชียงพระ (ชื่อเดิมวัดพระสิงห์) รถเกิดติดขัดไม่สามารถชักลากไปได้ จึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดนี้ ในปี พ.ศ. 2063 พระเมืองแก้วได้สร้าง วิหารลายคำ เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารมีภาพวิจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องสังข์ทอง ฝีมือช่างล้านนา และเรื่องสุวรรณชาดก ฝีมือช่างภาคกลาง

ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบก แห่แหนรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะ


ปีมะเส็ง(งูเล็ก) : ต้นโพธิ์ วัดโพธารามมหาวิหาร เชียงใหม่

พระศรีมหาโพธิ์เป็นต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ พุทธคยา สำหรับชาวล้านนายังมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์

สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็งที่มีพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาเป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิด สามารถบูชาต้นโพธิ์ตามวัดแทนได้ โดยที่วัดมหาโพธาราม เชียงใหม่นี้ เป็นวัดสำคัญที่มีการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก และพระเจ้าติโลกราชผู้สร้างวัด ทรงให้นำต้นโพธิ์จากลังกามาปลูก พร้อมทั้งจำลองสัตตมหาสถาน คือสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าได้เสวยวิมุตติสุขก่อนเผยแผ่ศาสนา ได้แก่ ปฐมโพธิบัลลังก์ คือต้นโพธิ์ที่ประทับตรัสรู้ อนิมิตเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับทอดพระเนตรต้นโพธิ์หลังตรัสรู้ รัตนจงกลมเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดินจงกลม 7 วัน รัตนฆรเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าพิจารณาพระอภิธรรม อชปาลนิโครธเจดีย์ คือต้นไทรที่พระพุทธเจ้าประทับ มุจลินทเจดีย์ คือที่ที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นจิก ใกล้สระมุจลินท์ ราชายตนเจดีย์ คือต้นเกตุที่พระพุทธเจ้าประทับ ที่สำคัญคือเจดีย์ประธานของวัดที่จำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยา มีลายปูนปั้นรูปเทวดาซึ่งงดงามมากที่ผนังด้านนอกของห้องคูหาส่วนฐานพระเจดีย์


ปีมะเมีย(ม้า) : พระธาตุเจดีย์ชเวดากอง วัดพระบรมธาตุ ตาก

สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเมีย สามารถเดินทางไปมนัสการพระบรมธาตุเมืองตากแทนพระธาตุชเวดากองที่ประเทศพม่า ได้ เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระครูพิทักษ์ (ทองอยู่) ได้จำลองแบบมา จากพระธาตุชเวดากองโดยครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลกได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดนี้ ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเมืองตากจนมาถึงดอยมหิยังคะที่ร่มรื่น และทรงมอบพระเกศาธาตุให้พระอรหันต์ พร้อมทั้งรับสั่งว่า หลังจากที่เสด็จปรินิพานแล้วให้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุไว้ที่นี่ พระบรมธาตุเจดีย์เมืองตากจึงเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ

ในวันขึ้น 14 และ 15 ค่ำ เดือน 7 (ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี จะมีงานพิธีสมโภชและสักการะพระบรมธาตุ เรียกว่า งานประเพณีขึ้นพระธาตุเดือนเก้า


ปีมะแม(แพะ) : พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่

พระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ การประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมีขึ้นราวปี พ.ศ.1916 สมัยพญากือนา (พ.ศ.1898-1928) ในยุคทองของล้านนา พระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัยมาเชียงใหม่ พระสุมนเถระจึงอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย

พระบรมธาตุนี้ได้ทำปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผาราม อีกองค์หนึ่งพญากือนาได้อาราธนาสถิตเหนือช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายที่ ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้ง ทำทักษิณาวรรตสามรอบ และล้ม(ตาย) ลง ภายหลังอัญเชิญพระบรมธาตุลงมา พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมธาตุและก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ต่อมาปี พ.ศ.2081 สมัยพระเจ้าเกษเกล้า ได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่สีทองเช่นทุกวันนี้

มีความเชื่อว่าหากบูชาพระธาตุในทิศทั้งสี่แล้วจะทำให้มีสติปัญญาดี สมัยก่อนในวันวิสาขบูชามีประเพณีการขึ้นพระธาตุ โดยชาวบ้านจะเดินลัดเลาะป่าขึ้นสู่องค์พระธาตุ


ปีวอก(ลิง) : พระธาตุพนม นครพนม

พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัด พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้น ตำนานเล่าว่า ตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-15 นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน

พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ.2223-2225 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทน์ 3,000 คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมารัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ.2483 แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2522 ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้ใน้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรม ราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

งานมนัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงวันแรก 1 ค่ำ เดือน 3

 


ปีระกา(ไก่) : พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน

พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระญาชมพูนาคราช และพระญากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำลูกสมอมาถวาย พระองค์ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ที่นี่ในอนาคตจะเป็น นครหริภุญชัยบุรี เป็นที่ประดิษฐาน พระสุวรรณเจดีย์ ซึ่งบรรจุธาตุกระหม่อม ธราตุกระดูก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ในครั้งนั้นพระญาทั้งสองได้ทูลขอพระเกศาธาตุ นำไปบรรจุในกระบอกไม้รวกและโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ ต่อมาในสมัยพระยาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ.1420) ได้เสด็จลงห้องพระบังคน แต่มีกาขัดขวางไม่ให้เข้า ภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวังและขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำ และสร้างมณฑปปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัยได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว

ภายในวัดยังมี พระสุวรรณเจดีย์ เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และ หอระฆัง ที่แขวนกังสดาลใหญ่ เป็นต้น

ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้จะต้องนำมาจากบ่อน้ำบนยอดดอยขะม้อที่อยู่นอก เมือง ตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ


ปีจอ(หมา) : วัดเกตการาม เชียงใหม่

สำหรับผู้ที่เกิดปีจอ พระธาตุประจำปีเกิดคือพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแก่เจ้าเมืองต่างๆ ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้นนอกจากมนัสการด้วยการบูชารูปแล้ว ยังสามารถบูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์

วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ.1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ.2121 พระสุทโธรับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด 8:00-16:00 น.)


ปีกุน(หมู) : พระธาตุดอยตุง เชียงราย

พระบรมธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บนดอยสูงซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้

ก่อนที่จะสร้างพระเจ้าอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใด ก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงพระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พญามังรายจึงได้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุง เนื่องจากพระมหากัสสปะได้อธิษฐานตุงยาว 7,000 วาไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2513 ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทองค์ปัจจุบัน

พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานมนัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3 

 

หนังสือเที่ยวตามประเพณีไหว้พระธาตุปีเกิด ของ ททท. ครับ

ที่มา : http://thaispecial.com, http://www.smart-mobile.com, http://www.tat.or.th