มิวเซียมสยาม กระตุกต่อมคิด เรียนรู้กันซักนิดถึงรากเหง้าความเป็นไทย

กินเที่ยว
มิวเซียมสยาม กระตุกต่อมคิด เรียนรู้กันซักนิดถึงรากเหง้าความเป็นไทย

มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ที่ทำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับประวัติศาสตร์ของความเป็นไทย ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิจนถึงปัจจุบัน

มิวเซียมสยาม” คือ พิพิธภัณฑสถาน ที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย  เกี่ยวกับการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก รวมถึงการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

มิวเซียมสยามตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวง พาณิชย์ (เดิม) มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ภายในพื้นที่ประกอบไปด้วยอาคารหลัก 3 อาคารคือ อาคารนิทรรศการถาวร อาคารนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ และอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ ในส่วนของอาคารนิทรรศการถาวรจะแบ่งเป็นห้องจัดแสดงทั้งหมด 17 ห้อง แนะนำให้เดินชมตามเส้นทางที่ระบุไว้ในคู่มือ ซึ่งเริ่มต้นจากชั้น 1 ไปชั้น 3 แล้วย้อนกลับมาที่ชั้น 2 และกลับมาสิ้นสุดอีกครั้งที่ชั้น 1 เรียกว่า ถ้าจะเดินชมให้ครบทุกซอกทุกมุม ควรมีเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป

เรามาเริ่มกันตั้งแต่เดินเข้าตัวอาคารนิทรรการถาวรที่จัดแสดงนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” ซึ่งได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ตั้งแต่สมัย “แผ่นดินสุวรรณภูมิ” เมื่อ 3,000 ปีก่อน ที่บอกเล่าถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ในดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการกำเนิดขึ้นของ “สยามประเทศไทย” จนมาถึง “ประเทศไทย” สังคมสมัยใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำเสนอโดยอธิบายรายละเอียดลึกลงไป ผ่านห้องจัดแสดงจำนวน 16 ห้อง และอีก 1 ห้องพิเศษ ที่บอกเล่าถึงที่มาของมิวเซียมสยาม

ห้องที่ ๑: เบิกโรง (Immersive Theater)
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
เป็นการเบิกตัวละครทั้งเจ็คที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิด จากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศ ถึงประเทศไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราคือใคร และอะไรคือไทย


ห้องที่ ๒: ไทยแท้ (Typically Thai)
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
เป็นห้องที่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้

ห้องที่ ๓: เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เป็นห้องที่แสดงถึงวิวัฒนาการสังคมก่อนจะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “สุวรรณภูมิ” คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้มีกรุงเทพฯ ที่ยังนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการศึกษาโครงกระดูก หลุมฝังศพ และอารยธรรมที่ฝังอยู่ใต้ดินทำให้รู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น

   

ห้องที่ ๔: สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เป็นห้องที่ทำให้รู้จัก “สุวรรณภูมิ” ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อ (ผี-พราหมณ์-พุทธ) ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสุวรรณภูมิ คือ รากเง่าของประเทศไทย

ห้องที่ ๕: พุทธิปัญญา (Buddhism)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งมี คาถา เย ธมฺมา (อ่านว่า เย-ทำ-มา) แปลว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนกิด คาถายอดนิยมแห่งสุวรรณภูมิ มูลเหตุแห่งความใจกว้างและสันติ

ห้องที่ ๖: กำเนิดสยามประเทศ (The Founding of Ayutthaya)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
นำเสนอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อให้เห็นนานาแว่นแคว้นต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นนครรัฐ และสืบสานเรื่องราวของวีรบุรุษผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจากตำนวนท้าวอู่ทอง เรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

ห้องที่ ๗: สยามประเทศ (Siam)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
กรุงศรีอยุธยามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และด้วยอำนาจทางการเมืองที่กว้างไกล ทำให้สามารถควบคุมการผลิตภายในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล จึงพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาค และสืบเนื่องจากการติดต่อค้าขายนี่เอง ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม เกิดเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ภาษา และสถาปัตยกรรม

   

ห้องที่ ๘: สยามยุทธ์ (The War Room)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เหตุแห่งสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลเหตุใหญ่ๆ คือ ความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ ในฐานะ “พระจักรพรรดิ” เหนือพระเจ้าแผ่นดิน และเพื่อกวาดต้อน “คน” อันเป็นแรงงานและกำลังรบ รวมถึงการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐต่อรัฐ หากเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์รัฐหนึ่งกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และนอกจากการสู้รบแล้ว ยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา การวางกลยุทธ์ กลุ่มชาติพันธ์ และศิลปกรรมอีกด้วย

ห้องที่ ๙: แผนที่ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ (The Map Room)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
ผืนดินตามธรรมชาติ คงไม่มีเส้นแบ่งใดๆ มาขวางกั้นผู้คน แต่เส้นพรมแดนก็ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ล่าอาณานิคมเพื่อแบ่ง “เขา” สร้าง “เรา” และรวมไปถึงการสร้าง “ชาติ” ให้มีตัวตนขึ้นมาจริงๆ มูลเหตุที่ทำให้เกิดการตัดแบ่งชุมชนเชื้อชาติญาติพี่น้องออกจากกัน

ห้องที่ ๑๐: กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (Bangkok : New Ayutthaya)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เรื่องราวเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีก็สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่ บนผืนดิน “บางกอก” ซึ่งพวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย อีกทั้งเมื่อเริ่มสร้างกรุงใหม่ จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จจึงลงหลักปักฐาน กลายเป็นชาวกรุงเทพ ในที่สุด

ห้องที่ ๑๑: ชีวิตนอกกรุงเทพฯ (Village Life)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
สื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และความฉลาดหลักแหลม ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์การดักสัตว์ เครื่องมือทำกิน ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยแห่งการสร้างสรรค์ และ วิถีเกษตรที่ผูกพันธ์กับชาวสยามมาจนถึงทุกวันนี้

ห้องที่ ๑๒: แปลงโฉมสยามประเทศ (Changes)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
การติดต่อกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคมสยามหลายด้าน การเริ่มสร้างถนน ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการคมนาคมเท่านั้น หากยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า นับจากนี้ ถนนจะเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สยามเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล

ห้องที่ ๑๓: กำเนิดประเทศไทย (Politics & Communications)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
จากสยาม ทำไมกลายเป็นไทย ห้องนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาคำตอบว่า “วันเกิดประเทศไทยคือวันที่เท่าไหร่” และ “กรมโฆษณาการมาเกี่ยวอย่างไร”

 

ห้องที่ ๑๔: สีสันตะวันตก (Thailand and the World)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เป็นห้องที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์โลกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา ภายหลัง ความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในทศวรรษ ๑๙๔๐ เศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เสียงเพลงแห่งความหวัง และสนุกสนาน กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้หมดสิ้น และประเทศไทยก็โกย “ดอลล่าร์” จากการเปิดอ้ารับวัฒนธรรมอมเริกันอย่างเป็นล่ำ- เป็นสัน

 

ห้องที่ ๑๕: เมืองไทยวันนี้ (Thailand Today)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
ผ่านกาลเวลามากว่า ๓,๐๐๐ ปี มีสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนฝังตรึงเป็น “ดีเอ็นเอ” ของความเป็นไทย มีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่ยังอยู่กับเรา และมีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย ภาวะอันสับสนของคนรุ่นปัจจุบันน่าจะแก้ไขได้ หากทุกคนเรียนรู้ “ความเป็นไทยที่แท้จริง” “ความเป็นไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย” “ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้” นั่นคือ การผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา

ห้องที่ ๑๖: มองไปข้างหน้า (Thailand Tomorrow)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เป็นห้องที่ตอกย้ำว่า “วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้”

ห้องที่ ๑๗: ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่มาของมิวเซียมสยาม
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
ผู้ชมสามารถเรียนรู้ทุกอย่างในมิวเซียมสยาม นับตั้งแต่ความเป็นมาและพัฒนาการของพื้นที่ในบริเวณนี้ แม้กระทั่งตัวอาคารนิทรรศการ เนื่องจากตอนบูรณะ “อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์เก่า (เดิม)” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ ๖ เพื่อเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ได้มีการค้นพบความเก่งกาจของสถาปนิกและช่างในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบรากฐานของวังในสมัยรัชการที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ทีมงานผู้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์จึงอยากชักชวนให้ผู้ชมมาสวมวิญญาณเป็น “นักโบราณคดีสมัครเล่น” และค้นหาอดีตของพื้นที่แห่งนี้

หลังจากเดินครบทุกห้องจัดแสดงแล้ว ความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยก็เต็มล้นอยู่ในอก ดีใจที่ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปได้พร้อมๆ กัน ก่อนกลับบ้าน เรายังไม่ลืมแวะซื้อของที่ระลึกกันที่ร้าน Muse Shop ที่มีสินค้าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว บางชิ้นยังเป็นลิขสิทธิ์ที่หาได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น แต่ถ้าใครไม่ได้รีบร้อนไปไหนต่อ ก็ยังสามารถเดินเที่ยวชมนิทรรศการหมุนเวียนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาจัดแสดงอยู่ เป็นประจำ ซึ่งนิทรรศการแต่ละชุดนั้น ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปว่านิทรรศการถาวรเลย แถมในบริเวณมิวเซียมสยามยังมีร้าน Muse Kitchen ร้านขายอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการ เผื่อใครหิวก็สามารถแวะหาอะไรรองท้องได้อีกด้วย แบบนี้แหละจึงทำให้ มิวเซียมสยาม เป็นที่เที่ยวแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพที่ไม่ควรพลาดด้วย ประการทั้งปวง เพราะคุณจะได้ทั้งความรู้ควบคู่ความบันเทิง แบบที่หาที่ไหนไม่ได้ แล้วคุณจะเต็มอิ่ม และภาคภูมิใจในความเป็นไทยแบบเรา....

   

ที่อยู่ : 4 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

เบอร์ติดต่อ : 02 225 2777

แฟกซ์ : 02 225 2775

E-mail : webmaster@ndmi.or.th

Website : www.museumsiam.com, www.ndmi.or.th

Facebook : http://www.facebook.com/museumsiamfan

Twitter : http://twitter.com/#!/museumsiam

เวลาทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์เวลา 10.00 - 18.00 น. (หยุดทำการวันจันทร์)

ค่าธรรมเนียม : บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา อายุ 15 ปีขึ้นไป 50 บาท / ผู้ใหญ่ คนไทย 100 บาท / ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 300 บาท
                    หมู่คณะ 5 คนขึ้นไป (ลดครึ่งราคา) นักเรียน นักศึกษา 25 บาท / ผู้ใหญ่คนไทย 50 บาท / ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ 150 บาท
                    บุคคลที่เข้าชมฟรี เยาวชนไทยและต่างชาติอายุต่ำกว่า 15 ปี / ผู้ที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 150 เซนติเมตร / พระภิกษุสงฆ์ ผู้พิการ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
                    ช่วงเวลาที่เข้าชมฟรี ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น. ของทุกวันทำการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ประกาศโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี

ไฮไลท์ : อาคารนิทรรศการถาวรที่จัดแสดง “เรียงความประเทศไทย” ที่ชวนให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

กิจกรรม : เดินชมนิทรรศการ

เรือ : ลงเรือที่ท่าราชินี หรือท่าเตียน แล้วเดินมาที่มิวเซียมสยาม

รถโดยสาร : รถเมล์สาย 3, 6, 9, 12, 32, 44, 47, 53, 82, 524

รถส่วนตัว : มิวเซียมสยามตั้งอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เดิมแถวๆปากคลองตลาดทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนราชบพิธถนนสนามไชยถ้าใครมาจากเส้นท่าเตียน-วัดโพธิ์ซึ่งเป็นด้านหลังของพิพิธภัณฑ์พอเลี้ยวเข้าตรอกเศรษฐการก็จะมาโผล่ตรงประตูทางเข้าพอดี

“มิวเซียมสยาม” มีที่จอดรถภายในพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างจำกัดโปรดสนับสนุนค่าบำรุงสถานที่จอดรถดังนี้
1. จอดรถ 30 นาทีแรกฟรี
2. ในกรณีเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และมีตราประทับ สี่ชั่วโมงแรกจอดฟรี
3. เมื่อใช้บริการครบ 200 บาท ในร้าน Muse Kitchen by Black Canyon, Muse Shop รับคูปองจอดรถ สี่ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 30 บาท
4. กรุณานำรถออกจากที่จอดรถ ก่อนเวลา 19.00 น.
5. ห้ามจอดรถค้างคืน หากฝ่าฝืนปรับวันละ 1,000 บาท
6. หากทำบัตรจอดรถหาย ปรับ 200 บาท
7. กรุณาอย่าทิ้งของมีค่าไว้ในรถของท่าน

ที่มา : www.trueplookpanya.com, www.tlcthai.com, www.thetrippacker.com