ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ 101 ปี "ขัวหลวงรัษฎา" 19 - 25 มีนาคมนี้ ที่ จ.ลำปาง

กินเที่ยว
ร่วมรำลึกประวัติศาสตร์ 101 ปี "ขัวหลวงรัษฎา" 19 - 25 มีนาคมนี้ ที่ จ.ลำปาง

เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับ จังหวัดลำปาง ททท. สำนักงานลำปาง กำหนดจัดงานรำลึกประวัติศาสตร์ 101 ปี "ขัวหลวงรัษฎา"

เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวลำปางในอดีตให้แก่คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองต้องห้าม...พลาด จังหวัดลำปาง ตลอดจนเพื่อสร้างจิตสำนึกในการร่วมอนุรักษ์สะพานรัษฎาภิเศกให้คงอยู่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนครลำปางสืบไป
 
 
"สะพานรัษฎา" สร้างขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2460 และจะครบ 101 ปี ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่ง "สะพานรัษฎา" เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปทรงโค้งคันธนู รวม 4 โค้ง ตั้งขวางเต็มลำน้ำ ทั้งยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความเป็นมา อยู่หลายประการ ดังนี้
 
"เสาสี่ต้น" ที่ตั้งอยู่ตรงหัวสะพานฝั่งละสองต้น เปรียบดังความมั่นคงแข็งแรงและสง่างาม , "พวงมาลายอดเสา" บนยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสาทั้งสี่ต้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิการของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


 
"ครุฑหลวงสีแดง" ประดับอยู่กลางเสาด้านหน้าทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินสยาม สมัยรัชกาลที่ 6 "ไก่หลวง" หรือ "ไก่ขาว" ที่ประดับตรงกลางเสาด้านข้างทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน คือสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง สื่อถึงสมัยเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต , คำว่า "มีนาคม 2460" กลางเสาด้านในทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บอกถึงวันที่สะพานแล้วเสร็จ และคำว่า "สะพานรัษฎาภิเศก" ตรงกลางคานเชื่อมโค้งสะพานคู่แรกทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงการได้รับพระราชทานนาม
 

 
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สะพานรัษฎาภิเศก ก็ยืนหยัดอยู่เหนือแม่น้ำวังอย่างมั่นคง พาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตมาอย่างโชกโชน ทั้งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2463 ที่ท่อนซุงจำนวนมหาศาลทะยานไหลมากับสายน้ำเชี่ยวกราก ครั้นเมื่อเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต ทรงตัดสินใจที่จะระเบิดสะพานทิ้ง ระดับน้ำก็กลับลดลงเรื่อยๆ

และอีกครั้งช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ. 2485 - 2488 ครูลูซี สตาร์ลิง ผอ.โรงเรียนวิชชานารี ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ขอยกเว้นการทำลายสะพานรัษฎาภิเศก โดยเธอให้เหตุผลว่าจุดนี้มีเพียงทหารญี่ปุ่นที่เป็นเสนารักษ์ และเป็นย่านโรงพยาบาล ไม่มีผลทางยุทธศาสตร์ใดๆ สะพานรัษฎาภิเศกจึงรอดพ้นการทิ้งระเบิดมาได้ แต่ก็ยังโดนกระสุนปืนจากเครื่องบินอยู่บ้าง


สำหรับใครที่ชอบถ่ายรูป เทศบาลนครลำปาง ขอเชิญร่วมประกวดภาพถ่ายสะพานรัษฎาภิเศก และพบกับกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน อาทิ 
 
- การประดับไฟบริเวณสะพานรัษฎาภิเศก
- การละเล่น หนังสือย้อนยุค
- นิทรรศการประวัติสะพานรัษฎาภิเศก
- มุมถ่ายภาพคู่สะพานรัษฎาภิเศก
- การออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP และ อาหารพื้นเมือง
- นั่งรถม้าชมสะพาน





 
พบกันวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2561 ณ สะพานรัษฎาภิเศก อ.เมือง จ.ลำปาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลนครลำปาง โทร. 054-237-237 ต่อ 4105
 

การเดินทาง

รถยนต์
 : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 52 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านสิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก ตรงเข้าสู่จังหวัดลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง หรือใช้ทางสายใหม่จากพิษณุโลกเข้าอำเภอเด่นชัยแล้วเดินทางสู่จังหวัดลำปาง

รถโดยสาร : มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ลำปาง ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 หรือ จองตั๋วรถทัวร์

รถไฟ : การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรถไฟหลายขบวนเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพงสู่จังหวัดลำปาง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690

เครื่องบิน : สายการบินบางกอกแอร์เวย์ ให้บริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ลำปาง ทุกวัน ติดต่อสอบถามที่ โทร.0 2270 6699 หรือ www.bangkokair.com หรือ จองตั๋วเครื่องบิน
 
ค้นหาที่พัก ราคาถูกได้เลย ที่นี่ รวมที่พักจังหวัดลำปาง