วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

กินเที่ยว
วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

 


วัดคีรีวงศ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ติดกับถนนมาตุลีและถนนดาวดึงส์ ตรงข้ามวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์และ บริษัทถาวรฟาร์ม ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ของวัดทั้งบนเขาและที่ราบ ประมาณ ๒๘๐ ไร่


เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ พระธุดงค์ได้มาปักกลดอยู่บริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบันได้พบวัตถุโบราณ เช่น อิฐเก่า ใบเสมาเก่า พระพุทธรูปเก่าและฐานอุโบสถเก่า เป็นต้น


สงสัยว่าจะเป็นวัดร้างจึงได้ แจ้งให้กรมการศาสนาทราบและได้ชักชวนประชาชน สร้างกุฎิเล็ก ๆ ที่เชิงเขา ๔-๕ หลังสมัยนั้นยังกันดารไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ กรมการศาสนา ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสำรวจรังวัดจากหลักฐานวัตถุ โบราณและจากการบอกเล่า ของคนเก่าแก่ที่เคยทำไร่อยู่บริเวณวัดคีรีวงศ์ ยืนยันว่าบริเวณนี้เป็นวัดร้างจริงและพบบ่อกรุน้ำซึมด้วยกรมการศาสนา สมัย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ เป็นอธิบดีกรมการ ศาสนา ได้สำรวจรังวัดและทำแผนที่ไว้ได้พื้นที่วัดทั้งบนเขาและที่ราบประมาณ ๒๘๐ ไร่


พ.ศ. ๒๕๐๘ คณะกรรมการผู้ริเริ่มสร้างวัดคีรีวงศ์ ซึ่งมีนายเปงซ้ง แซ่ตั้ง เป็นหัวหน้าได้ ไปขอพระสงฆ์จากเจ้าคณะ อำเภอเมืองฯ ที่วัดนครสวรรค์ เพื่อมาสร้างวัดคีรีวงศ์


คณะสงฆ์ได้ส่งพระมหาบุญรอด ปญฺญาวโร ป.ธ.๕ หรือ พระเดชพระคุณพระราชพรหมาจารย์ ในปัจจุบัน ซึ่งจำพรรษาอยู่ วัดนครสวรรค์ ให้มาสร้างวัดคีรีวงศ์
อาคารและสถานที่ที่น่าสนใจภายในวัดคีรีวงศ์


๑. อุโบสถ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีสมเด็จพระพุทธโคดม จำลอง ขนาดหน้าตัก ๔ ศอก ๙ นิ้ว เป็นพระประธาน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต หรือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) ปุณฺณสิริ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ และเททองหล่อพระประธาน ณ วัดคีรีวงศ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ และที่ฝาผนังอุโบสถ มีภาพวาด พระเจ้า ๑๐ ชาติ ภาพพุทธประวัติ ปางแสดงปฐมเทศนา และปางแสดงโอวาทปาฏิโมกข


๒. ศาลาพุทธานุภาพ เป็นศาลาทรงไทย ๓ มุข ขนาดกว้าง ๑๓ วา ยาว ๓๓ วา และมีมุขด้านหน้าเนื้อที่ ๔๐ ตารางวา มีเนื้อที่ ตั้งอาคาร ๔๖๙ ตารางวา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้เป็นสถานที่บวชศีลจารินี ปีละ ๓ ครั้ง รองรับคนบวชได้ ประมาณ ๒,๕๐๐ คน เป็นที่ ประชุมคณะสงฆ์, อบรมข้าราชการ,นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป วันพระใช้เป็นที่ทำบุญ วันธรรมดา ใช้เป็นที่ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ภายในศาลา วาดรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ วาดรูปพระเถระองค์ที่สำคัญในประเทศไทย
เช่น หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่มั่น เป็นต้น


ด้านหลังวาดรูปพระราชลัญจกร ๙ รัชกาล ด้านข้างศาลาทิศตะวันตก วาดภาพพุทธประวัติ ด้านเหนือวาดรูปธรรมจักร ตรงกลางและพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงและธงชาติ


ทิศตะวันตก วาดภาพสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้านตะวันออกวาดรูปพระเถระผู้ทรงคุณ-ธรรม ด้านต่าง ๆ และวาดรูปพระเวสสันดร


สำหรับศาลาพุทธานุภาพหลังนี้ สร้างไว้เพื่อใช้เป็นที่ประชุมอบรมศีลจารินี เป็นที่ประชุม พระสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ สามารถรองรับผู้เข้าประชุม ประมาณ ๒,๐๐๐ คน โดยจัดอบรมศีลจารินีปีละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๗ วันและการประชุม สัมมนาอบรมพัฒนาจิตใจข้าราชการ ตำรวจและนักเรียน นักศึกษา ทุกเดือน ๆ ละหลายครั้ง


๓. โรงเรียนคีรีวงศ์วิทยา ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๓ ชั้น มี ๓ มุข ยาว ๕๒ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร ชั้น ๑ เป็นห้องประชุม ชั้น๒-๓ เป็นห้องเรียน โดยเป็นที่เรียนนักธรรม,บาลี และพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มี ม.๑ - ๖ ปัจจุบันมีนักเรียน ๑๓๐ รูป

๔. ศาลาบำเพ็ญบุญ ใช้เป็นที่จัดเลี้ยง ผู้เข้าประชุมหรือผู้มาบวชศีลจารินี สามารถรองรับคน ได้ประมาณ ๒,๐๐๐ คน


๕. สวนปฎิบัติธรรมโพธิญาณ สวนปฎิบัติธรรมลานโพธิ์ และสวนปฎิบัติธรรมร่มไทร ใช้เป็นสถานที่เดินจงกรมและนั่งสมาธิที่สนามหญ้า หรือใต้ต้นไม้


๖. สำนักกรรมฐานอุบาสิกา มี ๒ ส่วน คือ สำนักล่างและสำนักบน มีกุฎิกรรมฐาน ประมาณ ๑๐๐ หลัง


๗. วิหารหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ เป็นวิหารใหญ่ ตั้งอยู่ในสำนักกรรมฐานอุบาสิกา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ปูนปั้น หน้าตัก ๔ ศอก ๙ นิ้ว ทาทองน้ำสีเหลืองเป็นที่สิง สถิตย์ของเทพย์ที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ ผู้ขอพรได้รับความสำเร็จขายที่ได้จึงสร้างวิหารถวาย ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตรและสองข้างหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จ พระพุทฒาจารย์ (โต) และรูปหล่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ


๘. พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ วา ๙ นิ้ว เป็นลักษณะผสมเชียงแสน สุโขทัยและรัตนโกสินทร์ คือ ขัดสมาธิเพชร, เกตุดอกบัวตูม สังฆาฏิสั้น แบบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพักตร์ ส่วนองค์และพระพาหาเป็นสมัยสุโขทัย ส่วนแท่นพระเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธรูปใหญ่บนยอดเขานี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ โดยนายชุณห์สีห์ นางปราณีอโนดาต เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย


การเดินทางมาวัดคีรีวงศ์
1. มาลงที่สถานีรถไฟนครสวรรค์ ต่อรถสองแถวสีเขียว มาลงที่หน้าวัดนครสวรรค์ ต่อรถสายดาวดึงส์ หรือเขาขาด-ตลาด ผ่านหน้าวัดคีรีวงศ์ มีป้ายชื่อวัดติดที่ข้างรถทุกคัน

2. มาลงที่สถานีขนส่งนครสวรรค์ ต่อรถสองแถว ศูนย์ฯ - ตลาด ผ่านหน้าวัดคีรีวงศ์และมีป้ายชื่อวัดคีรีวงศ์ ติดข้างรถทุกคัน

3. เมื่อลงหน้าวัดคีรีวงศ์แล้ว หน้าวัดมีมอเตอร์ไซด์
รับจ้าง ๑๐ บาท

4. ถ้าจะเดินออกกำลังกาย ก็เดินเข้าได้ ระยะทาง
ประมาณ ๕๐๐ เมตร


สอบถามรายละเอียดการมาวัดคีรีวงศ์ นครสวรรค์
ได้ที่ ๐๕๖๒๒ ๒๐๐๙, ๐ ๕๖๒๒ ๖๑๙๙

 

ที่มา : thai-tour