กันไว้ดีกว่าแก้! เช็คมาตรการเรื่องของเหลวและการตรวจค้นก่อนขึ้นเครื่อง

กินเที่ยว
กันไว้ดีกว่าแก้! เช็คมาตรการเรื่องของเหลวและการตรวจค้นก่อนขึ้นเครื่อง

นักเดินทางหลายท่านอาจจะรู้สึกเซ็งๆ เมื่อคนที่ต่อแถวอยู่หน้าเราช้าขณะกำลัง Check-In หรือผ่านเครื่อง X-Ray ใช่มั้ยล่ะคะ?

อาจเป็นเพราะการที่ต้องเอาอันนั้นเข้าอันนี้ออกจากกระเป๋า บ้างก็เป็นของเหลวที่มีปริมาณความจุเกิน 100 มิลลิลิตร บ้างก็เป็นวัตถุต้องห้าม ซึ่งหากเราไม่อยากเป็นแบบคนเหล่านั้น มาเตรียมตัวให้พร้อมกันก่อนออกเดินทางดีกว่านะคะ




มาตรการเรื่องของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน (Liquids, Aerosols and Gels : LAGs) 

เป็นขั้นตอนการตรวจค้นสำหรับผู้โดยสาร และเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานที่เดินทางไปกับอากาศยานในทุกเที่ยวบินที่ทำการบินออกจากทุกท่าอากาศยานของ ทอท. รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ได้รับสิทธิในการเข้า-ออกพื้นที่หวงห้ามหลังจุดตรวจค้น ณ ทุกท่าอากาศยานของ ทอท. โดยไม่ใช้ปฏิบัติสำหรับของเหลว เจล สเปรย์ (LAGs) หรือวัตถุและสารอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ประเภทยาและนม หรืออาหารสำหรับเด็กทารก ซึ่งอนุญาตให้นำขึ้นในห้องโดยสารอากาศยานได้ในปริมาณที่เหมาะสม
 
ขั้นตอนการปฏิบัติ
 
1. กรณี LAGs ที่เป็นสัมภาระส่วนตัว
 
1.1 ต้องบรรจุในภาชนะที่มีกำหนดปริมาณความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (กรณีภาชนะที่มีกำหนดปริมาณความจุเกิน 100 มิลลิลิตร แต่มี LAGs บรรจุอยู่ถึงแม้ว่าจะไม่เกิน 100 มิลลิลิตร จะไม่อนุญาตให้นำขึ้นในห้องโดยสารอากาศยาน)
 
1.2 ภาชนะที่บรรจุ LAGs ตามข้อ 2.1.1 ต้องถูกใส่รวมในถุงพลาสติกใส (Transparent Re-Sealable Plastic Bag) รวมกันแล้วไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร (หรือปริมาณที่เทียบเท่าในหน่วยวัดปริมาณอื่น) และปิดผนึกปากถุงให้เรียบร้อย โดยอนุญาตให้ผู้โดยสาร 1 คน ต่อ 1 ถุง
 
1.3 ให้ผู้โดยสารแยกถุงพลาสติกใสตามข้อ 2.1.2 ออกจากกระเป๋า/สัมภาระอื่นๆ ที่จะนำขึ้นในห้องโดยสารอากาศยาน รวมทั้งเสื้อคลุม และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจค้นเป็นการเฉพาะ
 
2. กรณี LAGs ที่เป็นสินค้าปลอดอากร
 
2.1 ผู้โดยสารขาออก (Departure Passenger) ผู้โดยสารผ่าน (Transit Passenger) หรือผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger) ที่มีถุงบรรจุ LAGs ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานหรือบนอากาศยาน อนุญาตให้นำขึ้นในห้องโดยสารอากาศยานได้ หากถุงนั้นปิดผนึกและไม่มีร่องรอยการฉีกขาด หรือเปิดปากถุงหลังจากการซื้อ
 
2.2 ต้องมีหลักฐานที่แสดงได้ว่าซื้อ ณ วันที่เดินทาง โดยรายการที่ระบุต้องตรงกับ LAGs ที่บรรจุอยู่ภายในถุง
 
มาตรการการตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระติดตัวก่อนขึ้นอากาศยาน
 
การตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระติดตัว เพื่อค้นหาอาวุธ วัตถุอันตรายหรือวัตถุต้องห้ามที่ผู้โดยสารต้องนำติดตัวขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้อาวุธหรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ ซึ่งอาจนำมาใช้ในการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายถูกนำขึ้นไปบนอากาศยาน ไม่ว่าจะเป็นการพกพาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ การซุกซ่อน หรือนำไปโดยวิธีอื่นใดก็ตาม เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยต่อกิจการการบิน เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
 
การเตรียมพร้อมเพื่อรับการตรวจค้นร่างกายและสัมภาระติดตัวก่อนขึ้นอากาศยานก่อนเข้ารับการ Check-in ที่เคาน์เตอร์ตรวจรับบัตรโดยสาร 

ผู้โดยสารต้องเตรียมพร้อมเพื่อผ่านจุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย ดังนี้
 
1. นำของเหลว เจล และสเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่บรรจุมาในภาชนะบรรจุขนาดเกินกว่า 100 มิลลิลิตรใส่ในสัมภาระบรรทุก (Checked Baggage) เพื่อทำการ Check-in เนื่องจากไม่อนุญาตให้นำติดตัวขึ้นบนอากาศยาน
 
2. หากต้องการนำ ของเหลว เจล และสเปรย์ฯ ติดตัวขึ้นบนอากาศยาน (Carry-on) ของเหลวฯ นั้นต้องมีขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร นำใส่ไว้ในถุงพลาสติกใสแบบ Zip-lock ขนาด 20 x 20 ซม. (มีจัดเตรียมไว้ให้ที่โต๊ะบริการ บริเวณด้านหน้าเคาน์เตอร์ Check-in) ผู้โดยสาร 1 คน ต่อถุง Zip-lock 1 ถุง โดย
ปริมาณของเหลวฯ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1 ลิตร และนำผ่านเครื่อง X-Ray ซึ่งแยกจากสัมภาระติดตัวอื่น ๆ
 
3. บรรจุวัตถุแหลมคมทุกชนิดไว้ในสัมภาระที่ต้องการ Check-in เนื่องจากไม่อนุญาตให้นำติดตัวขึ้นบนอากาศยาน
 
4. ผู้โดยสารที่มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สายการบิน ณ เคาน์เตอร์ Check-in เพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกสารและแยกเครื่องกระสุน ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้
 
5. ผู้โดยสารไม่ได้รับอนุญาตให้นำพาสาร วัตถุอันตราย และ/หรือสัตว์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยานและบุคคลในอากาศยานทุกชนิดไปกับอากาศยาน ไม่ว่าจะบรรทุกไปกับสัมภาระที่ Check-in หรือนำติดตัวขึ้นอากาศยาน
 
ขั้นตอนการผ่านจุดตรวจค้น
 
1. ก่อนเข้าสู่จุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย
เมื่อผ่านกระบวนการ Check-in และกระบวนการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) แล้ว ผู้โดยสารจะเข้าสู่กระบวนการตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัยก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยในขั้นตอนแรกขอให้ผู้โดยสารเตรียมบัตรระบุที่นั่ง (Boarding Pass) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
 
2. ณ จุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย
 
2.1 เมื่อเข้าสู่ช่องทางเครื่อง X-Ray จะมีถาดบรรจุกระเป๋า/สัมภาระจัดเตรียมไว้ให้ ขอให้ผู้โดยสารนำกระเป๋า/สัมภาระทุกชิ้นใส่ในถาดเพื่อผ่านเครื่อง X-Ray หากผู้โดยสารมีคอมพิวเตอร์ชนิดพกพา (Laptop) เสื้อคลุม (Jacket) และถุง Zip-lock บรรจุของเหลว ให้แยกออกจากสัมภาระอื่นเพื่อใส่ถาด สำหรับสัมภาระติดตัวมีค่า ขอให้ผู้โดยสารใส่ในกระเป๋า/สัมภาระของตนและปิดให้เรียบร้อย ก่อนนำใส่ถาดผ่านเครื่อง X-Ray
 
2.2 ผู้โดยสารอาจถูกขอให้ถอดเข็มขัดและรองเท้าเพื่อนำผ่านเข้าเครื่อง X-Ray
 
2.3 ผู้โดยสารนำถาดผ่านเข้าเครื่อง X-Ray
 
2.4 ผู้โดยสารเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ (Walk Through Metal Detector) ตามการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์จะเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะโดยมีเหตุผลอันเหมาะสม เช่น ผู้โดยสารใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) และผู้โดยสารที่กำลังตั้งครรภ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านหน้าจุดตรวจค้น เพื่อผ่านเข้าช่องทางเฉพาะที่ จัดไว้และรับการตรวจค้นร่างกายด้วยมือ
 
2.5 ผู้โดยสารที่เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะแล้วไม่เกิดสัญญาณเตือน (Alarm) ให้ไปรับกระเป๋า/สัมภาระของตนที่ผ่านเครื่อง X-Ray
 
2.6 ผู้โดยสารที่เดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะแล้วเกิดสัญญาณเตือน ผู้โดยสารต้องเดินกลับออกไป เพื่อสำรวจดูอีกครั้งว่า ยังมีสิ่งของที่เป็นโลหะหลงเหลืออยู่ตามร่างกายหรือไม่ หากพบว่ามี ให้นำสิ่งของออกจาก ร่างกายและใส่ถาดที่จัดเตรียมไว้ผ่านเข้าเครื่อง X-Ray และเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะเป็นครั้งที่ 2
 
2.7 กรณีผู้โดยสารเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะเป็นครั้งที่ 2 แล้วยังเกิดมีสัญญาณเตือน
เจ้าหน้าที่จะเชิญให้ผู้โดยสารไปรับการตรวจค้นร่างกาย เพื่อตรวจหาสาเหตุที่เครื่องตรวจจับโลหะส่งสัญญาณ
 
2.8 ระหว่างขั้นตอนการตรวจค้นร่างกาย ขอให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
 
2.9 เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจค้นร่างกายแล้ว ผู้โดยสารอาจถูกขอรับการเปิดตรวจกระเป๋า/สัมภาระ ที่นำติดตัวมา ขอให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
 
2.10 ผู้โดยสารที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีวัตถุต้องห้ามนำขึ้นอากาศยาน บรรจุอยู่ในกระเป๋า/สัมภาระ ขอให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยาน
 
2.11 ผู้โดยสารที่ไม่สะดวกจะรับการตรวจค้นร่างกายและกระเป๋า/สัมภาระในที่สาธารณะ ทางท่าอากาศยานได้จัดเตรียมห้องตรวจค้นไว้ ขอให้ผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับการตรวจค้นเป็นการเฉพาะบุคคล
 
3. เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจค้น ขอให้ตรวจสอบสัมภาระที่นำติดตัวมาทุกชิ้นก่อนออกจากจุดตรวจค้น
 
4. ผู้โดยสารปฏิเสธการตรวจค้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นกระเป๋า/สัมภาระหรือการตรวจค้นร่างกาย และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัย ทางท่าอากาศยานขอสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารดังกล่าวผ่านจุดตรวจค้น
 

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2550 กรมการขนส่งทางอากาศได้ประกาศใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุ และสารอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันติดตัวขึ้นเครื่องบินของผู้โดยสารทุกสัญชาติ โดยสัมภาระติดตัวที่เป็นของเหลวต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง ช็อกโกแลต น้ำยาบ้วนปาก ครีมโกนหนวด สเปรย์จัดแต่งทรงผม น้ำหอม โคโลญจน์ ครีม ยาหม่อง ยาทาเล็บ เทียนไข ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (เช่น ลิปกลอส มาสคารา ครีมรองพื้น ฯลฯ) และอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นของเหลว สามารถนำขึ้นเครื่องได้ โดยขนาดของแต่ละบรรจุภัณฑ์ต้องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (100 CC) ซึ่งของเหลวทั้งหมดต้องบรรจุภายในถุงพลาสติกใสขนาดไม่เกิน 20 x 20 เซนติเมตร ที่เปิดปิดผนึกได้ (หรือถุงซิปล็อค) โดยขนาดของถุงพลาสติกต้องมีความจุไม่เกิน 1 ลิตร และผู้โดยสาร 1 คน สามารถนำถุงพลาสติกใสขึ้นเครื่องได้คนละ 1 ใบ เท่านั้น

สำหรับสินค้าที่เป็นของเหลวที่ซื้อภายในคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ ฟรี สามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน ยกเว้นผู้โดยสารที่มีจุดหมายปลายทางไปยังประเทศที่มีข้อจำกัดเฉพาะ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.kingpower.com/lags


ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก AOT