9 เทคนิคปลูกฝังการอ่าน สู่อนาคตเด็กไทย

ไลฟ์สไตล์
9 เทคนิคปลูกฝังการอ่าน สู่อนาคตเด็กไทย

ในยุคที่การเติบโตของสื่อดิจิทัลที่รุกคืบพื้นที่การอ่านมากขึ้น อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองหันมาสนใจการอ่านให้มากกว่าการหยิบยื่นเทคโนโลยีใส่มือของลูกน้อย

เรื่องโดย ปรภัต จูตระกูล Team content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ฐานพลังการพัฒนาสมองและศักยภาพมนุษย์ โดย สสส.
 
การอ่านไม่ใช่แค่เพียงอ่านออก หรืออ่านได้ แต่จะต้องทำให้ผู้อ่านเกิดความสุข ความเพลิดเพลิน เกิดกระบวนการเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ เช่น การฟัง การพูด การเขียน การวิเคราะห์ สังเคราะห์
 
จากการสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2552 ของกรมอนามัยพบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเฉลี่ยร้อยละ 20 โดยล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ซึ่งวิธีการหนึ่งที่สามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้น คือ “การอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟัง” ทั้งนี้ อาจารย์พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา ผู้ก่อตั้งโครงการ Bookstart Thailand และนักเขียน นักแปลนิทาน ได้กล่าวถึงหนังสือเอาไว้ว่า “หนังสือไม่ได้สร้างให้เด็กฉลาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างเด็กให้มีจิตใจที่ดีอีกด้วย”
 
“เวลาพูดถึงหนังสือหรือการเรียนจะนึกถึงคำพูดที่ว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ คงไม่มีใครบอกได้ว่า ความมหัศจรรย์ของการอ่านมันจะสั่นสะเทือนขนาดไหน แต่ว่า ณ ตอนนี้มันไม่มีข้อสงสัยหรอก เพราะว่ามันได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันดี” พญ.ชมพูนุท โตโพธิ์ไทย แพทย์ชำนาญการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือ และการอ่านซึ่งอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยพัฒนาเด็กในทุก ๆ ด้าน โดยได้นำกรอบแนวคิด 4 H มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กปฐมวัย คือ 1. Health ด้านสุขภาพ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี มีพัฒนาการที่สมวัย 2. Head ด้านสติปัญญา การพัฒนาการด้านสมองทั้ง IQ และ EQ 3. Heart ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม 4. Hand ด้านทักษะความสามารถ ซึ่งการอ่านจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
 
เทคนิคปลูกฝังการอ่าน
 
เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูก ๆ ชอบอ่านหนังสือจึงต้องทำหน้าที่ค้นคว้าหาวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านไม่มีสูตรตายตัว สำหรับเทคนิคการเริ่มต้นปลูกฝังให้เด็กไทยรักการอ่านสามารถเริ่มต้นได้ ดังนี้
 
1. อ่านเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ สนุกสนาน เด็กจะได้ไม่รู้สึกเบื่อ
 
2. รู้จักเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ก่อนนอน
 
3. ระหว่างที่ลูกเล่นอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกเห็น และถ้าตอนไหนน่าสนใจ ควรอ่านออกเสียงดังให้ลูกได้ยินเพื่อให้เขามีส่วนร่วม หรือใช้หนังสือปริศนาคำทายดึงความสนใจ
 
4. ลองอ่านเรื่องแปลกใหม่ที่เขายังไม่เคยเจอหรือได้ยินจากโรงเรียน
 
5. สังเกตเรื่องที่ลูกกำลังสนใจ แล้วอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาอ่านให้ฟัง
 
6. อ่านหนังสือที่ลูกชอบ แล้วตั้งคำถามเพื่อให้ลูกได้ฝึกใช้ความคิด ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง โดยแอบสอดแทรกความคิดเห็นและอธิบายสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
 
7. เล่าเรื่องผิด ๆ ถูก ๆ ในบางตอนของหนังสือเล่มโปรด ช่วยกระตุ้นสมองของลูกให้ทำงาน ทั้งทางด้านความคิดและความทรงจำ รวมถึงฝึกการใช้ภาษาในการโต้แย้งกับพ่อแม่
 
8. แต่งเรื่องนิทานขึ้นมาเองบ้าง โดยลองให้ลูกเป็นตัวเอก เพราะเด็กเล็กมักจะชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรืออาจจะแต่งเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคุ้นเคย
 
9. อ่านหนังสือกับลูกทุกวันและพยายามชวนคุยถึงรูปภาพ สี รูปร่าง จำนวน และคำต่าง ๆ ในหนังสือ หรือหากหนังสือไม่มีภาพ พ่อแม่อาจใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น แป้งปั้น หรือสีแท่งโต ๆ วาดภาพ ขณะที่อ่านและคุยกับลูก
 
เทคนิคปลูกฝังการอ่าน
 
ในยุคที่การเติบโตของสื่อดิจิทัลที่รุกคืบพื้นที่การอ่านมากขึ้น อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองหันมาสนใจการอ่านให้มากกว่าการหยิบยื่นเทคโนโลยีใส่มือของลูกน้อย เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีความรู้ ความคิด และสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้อย่างเป็นระบบ
 
สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนผู้ที่รักการอ่าน และผู้ที่ต้องการปลูกฝังให้บุตรหลานรักการอ่าน ร่วมงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ ภายใต้ชื่องานว่า “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00-16.00 น. ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการสอนเทคนิคการอ่าน การเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็ก รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย 




ขอบคุณข้อมูลจาก สสส