ชี้ 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มแจกฟรี! 1 มิ.ย. นี้

ไลฟ์สไตล์
ชี้ 7 กลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มแจกฟรี! 1 มิ.ย. นี้

สปสช. และ กรมควบคุมโรค ชี้ 7 กลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มแจกฟรี! 1 มิ.ย. 2561

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคพบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่กลุ่มเด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ เป็นโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่ระบาดมากในฤดูฝน อาการป่วยส่งผลต่อสุขภาพและต้องหยุดพักรักษาตัว ในกลุ่มเสี่ยงมีภูมิต้านทานน้อยอาจมีอาการแทรกซ้อน บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ 
 
จากรายงานเฝ้าระวังโรคโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคปี 2560 พบผู้ป่วย 196,765 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 300.74 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 55 ราย สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม -31 มีนาคม 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 29,324 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์  A (H1N1), A (H3N2) และสายพันธุ์ B 
 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
 
อย่างไรก็ตาม สปสช.จึงร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาลใหม่ 3.5 ล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทุกสิทธิที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด คือ
 
1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 
 
2. เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 
 
3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 
 
4. ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 
 
5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 
 
6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 
 
7. โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  
 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
 
โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนผลิตจากเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก พบการระบาดมากในประเทศไทยและทั่วโลก ประกอบด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) เป็นสายพันธุ์เดิมมิชิแกน, ชนิด A (H3N2) เป็นสายพันธุ์ใหม่สิงคโปร์แทนฮ่องกง ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยถึงร้อยละ 87.50 และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B สายพันธุ์ใหม่ ยามากะตะ/ภูเก็ต แทนวิคตอเรีย/บริสเบน เป็นสายพันธุ์ที่พบร้อยละ 95.14 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ในไทย  ทั้งนี้ วัคซีนที่เตรียมไว้นี้ถือว่สที่ได้ผลดี ไม่มีปัญหากลายพันธุ์และมีความปลอดภัย ใช้ในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว ทั้งคุ้มค่ากว่าวัคซีน 4 สายพันธุ์ที่เพิ่งมีการให้บริการฉีดในภาคเอกชน โดยเพิ่มสายพันธุ์ชนิด B/วิคตอเรีย ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า พบน้อยที่สุด มีความชุกเพียงร้อยละ 5 ดังนั้นในด้านประสิทธิภาพความครอบคลุมระหว่างวัคซีน 3สายพันธุ์และ4สายพันธุ์ ทางการแพทย์ถือว่ามีความใกล้เคียง ไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน 4 สายพันธุ์ที่มีราคาสูงกว่า 2-3เท่า
 
จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีนฟรีได้ตังแต่วันที่ 1มิถุนายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมีผลช่วยได้ร้อยละ60-70 ดังนั้นการดูแลตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเองจากการสัมผัสผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ การทำร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพและล้างมือให้สะอาด ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป 
 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข่าว สปสช., กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข