ตามรอยตัวอักษรที่ พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

กินเที่ยว
ตามรอยตัวอักษรที่ พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

ข้อมูลเบื้องหลังการทำงานของคนหนังสือพิมพ์ ที่เราไม่มีวันได้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ หากแต่ข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครได้รู้เหล่านี้ ได้ถูกบรรจุและรวบรวมไว้ภายในพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย ตั้งอยู่บนชั้นสองของอาคาร ชาตรี โสภณพนิช ภายในบริเวณสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อาจารย์พลาดิสัย สิทธิธัญกิจ ประธานฝ่ายจัดอบรมของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้าและรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในวงการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไทย พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้ เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลอันเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ตั้งแต่ยุคบุกเบิกมาจนถึงจนถึงปัจจุบัน รวมถึงยังจัดแสดงเครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ในช่วงต้นของยุคได้อีกด้วย

ในปัจจุบันนี้กระแสของการเปลี่ยนแปลงมาสู่สิ่งต่างๆ รอบตัวเรามากมาย ไม่เว้นแม้แต่ช่องทางการสื่อสารจากครั้งรุ่งเรืองของโทรเลข กระทั่งโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาสานต่อความสะดวกสบายให้มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อก่อนหากต้องการติดตามเหตุการณ์ความเป็นไปของสังคมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพลิกอ่านเอาจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทว่าความนิยมของสื่อประเภทนี้ในปัจจุบันกำลังถูกเข้ามาแทนที่ด้วยโซเชียลมีเดีย ทั้งหลายไม่ว่า เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอีกหลากหลายช่องทาง จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าสื่อยุคบุกเบิกอย่าง หนังสือพิมพ์ จะเลือนหายไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ทราบหรือไม่ว่าในกรุงเทพมหานคร นั้นมี "พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย" ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล และเรื่องราวความเป็นมาของหนังสือพิมพ์ไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน และจุดหมายของเราในวันนี้ ก็อยู่กันที่ พิพิธภัณฑ์ซึ่งเต็มไปด้วยอุดมการณ์ของคนหนังสือพิมพ์ ในบรรยากาศอันอบอวลด้วยกลิ่นหมึกและเสียงแท่นพิมพ์ ที่แม้จะเป็นคำเปรียบเปรย หากแต่ได้มาสัมผัส ก็จะเข้าใจความหมายที่บอกมาได้ถ่องแท้แน่นอน

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาค้นคว้าข้อมูลรวมถึงศึกษาวิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์และนิตยสารของไทย ซึ่งภายในแบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น 3 โซนหลักๆ ส่วนแรกเรียกว่า ส่วนต้นแบบ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านทรงเป็นองค์ปฐม เริ่มกิจการทางด้านการพิมพ์ และเป็นบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักหนังสือพิมพ์ และพระองค์ทรงออกพระราชบัญญัติเรื่องสมุด หรือเรื่องหนังสือ อีกด้วย บริเวณนี้มีคอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดียให้ผู้ชมค้นคว้าและเรียนรู้ถึงพระ ปรีชาสามารถของทั้ง 2 พระองค์

ส่วนจัดแสดงต่อมาคือ ห้องหนังสือพิมพ์จำลอง เป็นการจำลองการทำงานของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ และช่างเรียงพิมพ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในสมัยนั้นเช่น โต๊ะเก้าอี้ไม้แบบเก่า โต๊ะนักข่าวเป็นโต๊ะที่ใช้รวมสำหรับประชุมข่าวและใช้เขียนข่าว มีหุ่นเท่าคนจริงที่จำลองเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าของและบรรณาธิการนั่งอยู่ กลางห้องจำลองสีหน้าดูเคร่งเครียด และนักข่าวที่กำลังตั้งอกตั้งใจพิมพ์งาน ท่าทางเหมือนจะรีบพิมพ์ข่าวให้ทันปิดเล่มวันนี้ และช่างเรียงพิมพ์ที่กำลังจัดเรียงตัวอักษรทีละตัว ด้านหน้าของห้องจำลองมีคอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดีย บอกเรื่องราวของหนังสือพิมพ์ไทยในอดีต กองบรรณาธิการ และการทำงานของนักข่าวในอดีต ให้เราได้ศึกษาด้วยตนเองเช่นกัน

ในส่วนที่ 3 นั้นคือ ห้องนิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งจะบอกเล่าถึงความเป็นมาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับที่วางแผงมาจนได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วบ้านทั่วเมือง รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งนี้ แม้ว่าผู้คนในยุคปัจจุบันจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับสื่อประเภทนี้มากซักเท่าไหร่ แต่ถ้าหากได้มาลองเยี่ยมชม และเรียนรู้วิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่แน่ว่า อุดมการณ์ของคนหนังสือพิมพ์ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาอาจทำให้คุณเริ่มรู้สึกหลงใหลในกลิ่นหมึก และเสียงแท่นพิมพ์ขึ้นมาอีกก็เป็นได้

ที่อยู่ : 299 ถนนราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
GPS : 13.777250, 100.511517
เบอร์ติดต่อ : 02 669 7124-6
แฟกซ์ : 02 241 5929
Website : http://www.thaipressasso.org/
Facebook : พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย
เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 -15.00 น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียม : ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป
ไฮไลท์ : ส่วนจัดแสดงภายในที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร
กิจกรรม : การเดินชมส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงไว้ หรือเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา : www.thetrippacker.com