เขาช้างเผือก พิสูจน์ความกล้า ท้าความเสียว เที่ยวสไตล์นักผจญภัย

กินเที่ยว
เขาช้างเผือก พิสูจน์ความกล้า ท้าความเสียว เที่ยวสไตล์นักผจญภัย

ฟิตร่างกายเตรียมตัวกันให้พร้อมนะครับ เพราะวันนี้เราจะพาคุณไปพิชิตยอด “เขาช้างเผือก” ที่ที่คนรักสบายต้องหลีกทาง คนสำอางต้องหลบไป หากใครรู้ตัวว่าใจถึงแล้วก็ตามเรามาได้เลยครับ

เขาช้างเผือก
 
ในปัจจุบันนี้ ช่องทางการท่องเที่ยวในเมืองไทยมีให้เราเลือกอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกสไตล์การเดินทางของตนเองได้ตามใจ บ้างก็ชอบออกตระเวนชิมของอร่อย บ้างก็ชอบนอนพักหรูอยู่สบายในบรรยากาศดีๆ แต่ถ้าใครชอบเที่ยวสไตล์ลุยๆ ชนิดที่ว่าเดินขึ้นเขาค่อนวันกางเต็นท์นอนกลางธรรมชาติ ลองตามเรามาเลยเพราะวันนี้เราจะพาคุณไปพิชิต "ยอดเขาช้างเผือก" ที่ที่คนรักสบายต้องหลีกทางคนสำอางต้องหลบไปงานนี้ขอแต่คนใจๆ เท่านั้นนะครับ
 
เขาช้างเผือก
 

จุดเริ่มต้นในการพิชิตยอดเขาช้างเผือกอยู่ที่ “บ้านอีต่อง” หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แต่ก่อนที่จะเข้ามาถึงบ้านอีต่อง เราจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการ “อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ” เพื่อทำการจองพื้นที่กางเต็นท์ เจ้าหน้าที่นำทาง รวมถึงว่าจ้างลูกหาบกันเสียก่อน เพราะเส้นทางการพิชิตยอดเขาช้างเผือกนั้นค่อนข้างอันตราย ทางอุทยานฯ จึงไม่อนุญาตให้เราขึ้นเขาเด็ดขาดถ้าปราศจากเจ้าหน้าที่คอยนำทางและคนคอย ดูแลเรื่องความปลอดภัยขณะเดินทาง ส่วนเรื่องลูกหาบนั้น จะจ้างหรือไม่จ้าง หรือจะจ้างจำนวนกี่คนก็ได้ แต่เราเล็งเห็นว่าการจ้างลูกหาบเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเลยทีเดียว เนื่องจากลูกหาบหนึ่งคนจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระอันหนักหน่วงของเราได้ถึง 30 กิโลกรัม ลองคิดดูเล่นๆ นะครับว่า ลำพังแค่เราแบกน้ำหนักของตัวเองเดินขึ้นบันไดปกติยังรู้สึกเหนื่อยจนหอบเลย แล้วจะนับประสาอะไรกับการแบกสัมภาระหนักขนาดนี้เดินขึ้นเขาลูกแล้วลูกเล่า รับรองว่าเดินไปได้ไม่เท่าไหร่คงต้องมีคนถอดใจกันก่อนแน่ๆ

หลังจากจัดแจงนัดหมายกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และว่าจ้างลูกหาบแล้ว คืนแรกเราต้องพักค้างคืนที่ “บ้านอีต่อง” กันก่อน กิจกรรมหลักๆ ของเหล่าผู้ (อยากจะ) พิชิตเขาช้างเผือกทั้งหลายเมื่อมาถึงบ้านอีต่องก็คือ การแวะไปชื่นชมวิวทิวทัศน์สวยๆ ยามเย็นที่ “เนินช้างศึก” ซึ่ง อยู่ห่างจากบ้านอีต่องเพียงช่วงเวลาขับรถ 5 นาที นอกจากบรรยากาศยามเย็นสวยๆ ตอนพระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้าบริเวณเนินช้างศึกแล้ว การมาเยี่ยมเยือนที่นี่ยังถือเป็นการวอร์มเบาๆ เตรียมใจให้พร้อมก่อนจะต้องเจอของจริงในเช้าวันถัดไป ชื่นชมความงามของพระอาทิตย์เรียบร้อยแล้ว คืนนี้เราขอนอนพักเอาแรงให้เต็มอิ่มกันซะก่อนดีกว่า

 
     
 
Good to Know
 
 
-
นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้มิดชิดด้วยเสื้อแขนยาว, กางเกงขายาว (ไม่ควรใส่กางเกงยีนส์), หมวกคลุมหน้า, ผ้าพันคอ และแว่นกันแดด ส่วนรองเท้าที่ใช้ควรสวมรองเท้าที่สามารถยึดเกาะพื้นได้ดี
 
 
-
สัญญาณโทรศัพท์ของ AIS นั้นจะมีตลอดเส้นทาง, Dtac มีสัญญาณแค่เพียงจุดกางเต็นท์ และ Truemove มีสัญญาณแค่เพียงบนยอดเขา
 
 
-
ของที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นเขาได้แก่ น้ำดื่ม, อาหารสำหรับ 3 มื้อ, ยาแก้โรคประจำตัวและยาสามัญต่างๆ, ทิชชู่, ทิชชู่เปียก, ผงเกลือแร่, ถุงดำ, เสื้อกันฝน, ไฟฉาย, เต็นท์และเครื่องนอน
 
 
-
ควรพกน้ำดื่มติดกระเป๋าตอนเดินขึ้นไปประมาณ 2 ขวด เพื่อที่จะไม่หนักกระเป๋าจนเกินไป และควรบริหารการดื่มน้ำให้ดี ส่วนน้ำที่จะใช้เพิ่มด้านบนควรฝากลูกหาบแบกขึ้นไปแทน
 
 
-
ค่าลูกหาบ 700 บาทต่อคน แบกของได้หนัก 30 กิโลกรัม ค่าเจ้าหน้าที่ 700 บาทต่อคน โดยทั้งลูกหาบและเจ้าหน้าที่จะอยู่กับเราตลอดสองวันหนึ่งคืน
 
 
-
หากมาถึงจุดกางเต็นท์จะได้รับประกาศนียบัตรระดับ 1 หากพิชิตสันคมมีดจะได้รับระดับ 2 หากพิชิตยอดเขาได้จะได้รับระดับ 3
 
 
-
หากมาในช่วงปลาฝนต้นหนาว ทุ่งหญ้าบนเขาช้างเผือกจะเป็นสีเขียวชอุ่ม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวหญ้าจะเป็นสีทองอร่าม
 
 
-
เขาช้างเผือกนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก, ผู้สูงอายุ, สตรีมีครรภ์ และคนที่มีโรคประจำตัวประเภทหอบหืด
 
       
 
เขาช้างเผือก
 

เมื่อเช้าวันใหม่มาเยือน เราก็เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางพิชิตเขาช้างเผือก จากบ้านอีต่องเราเดินวอร์มกันเบาๆ เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรก็มาถึงป้าย “ขอต้อนรับสู่เส้นทางผู้พิชิตเขาช้างเผือก” แค่เริ่มต้นก็สามารถเรียกเหงื่อได้พอสมควรแล้ว จากจุดนี้ไปจะถือเป็นเส้นทางของจริงอย่างเป็นทางการสักที เส้นทางในช่วงแรกยังถือว่าไม่หนักมาก เพราะพอจะมีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ให้เราพึ่งพาหลบแดดได้บ้าง แต่ยิ่งเดินไปเรื่อยๆ ต้นไม้ใหญ่ก็เริ่มลดลง อากาศก็เริ่มร้อนแรงขึ้นทุกทีๆ และก็อาจจะเป็นเพราะโชคเข้าข้างเรา อากาศในวันเดินทางจึงไม่ได้ทารุณมากนัก แถมบางช่วงยังมีฝนโปรยปรายให้พอลดทอนความร้อนลง บวกกับไอหมอกจางๆ ที่มาพร้อมกับความเย็นนิดๆ เราจึงได้แรงฮึดจากทิวทัศน์รอบตัว และสนุกสนานไปกับการเก็บภาพหมอกสวยๆ ไปตลอดทาง พอเดินมาจนหอบเราก็ได้หยุดพักกันที่ “จุดพักต้นซ้าน” พอดี

 
เขาช้างเผือก
 

พอหายเหนื่อยและเริ่มหายใจหายคอคล่องขึ้นบ้างแล้ว เราก็รีบออกเดินทางกันต่อ จากเส้นทางระดับเด็กๆ ในช่วงแรกกำลังจะกลายเป็นเส้นทางในระดับยากขึ้น เรื่องจริงที่เราต้องเผชิญก็คือ เส้นทางแคบบนสันเขา แถมด้วยความชันที่ค่อยๆ ไต่ระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก ทำให้คณะที่ร่วมเดินกันมาค่อยๆ แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามกำลังกายและแรงใจของแต่ละคน ใครเหนื่อยก็หยุดพัก ใครยังมีแรงเหลือก็เดินต่อไป ซึ่งเราก็เดินกันเรื่อยๆ แบบรวดเดียวผ่าน “จุดพักดงไผ่”ไปจนถึงจุดกางเต้นท์เลย แต่ระยะทางช่วงท้ายก่อนที่จะถึงลานกางเต้นท์นั้นก็ไม่ได้ง่ายเลย เส้นทางเดินจะแฝงไปด้วยความท้าทายแรงกายและแรงใจที่กำลังค่อยๆ หมดลงจากความเหน็ดเหนื่อย แต่สุดท้ายแล้วเราก็สามารถลากสังขารมาถึงจุดกางเต็นท์ได้โดยสวัสดิภาพ พร้อมกับไม่รีรอที่จะสวาปามอาหารกลางวันที่ห่อเตรียมมาอย่างเอร็ดอร่อย อิ่มท้องแล้วทีนี้ก็ได้นั่งพักอย่างจริงจังให้ข้าวเรียงเม็ดกันซักหน่อย ก่อนจะเรียกแรงฮึดรอบสองก้าวเท้าออกไป “พิชิตยอดเขาช้างเผือก” ถึงแม้ว่าระยะทางจากจุดกางเต้นท์ถึงจุดสูงสุดของเขาช้างเผือกจะไม่ไกลมากนัก แต่อุปสรรคระหว่างทางนี่ซิที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายคนไม่อาจผ่านจุดวัดใจ และต้องยอมถอนตัวหันหลังกลับกันเสียดื้อๆ จนต้องพลาดโอกาสการเป็นผู้พิชิตกันมานักต่อนักแล้ว

 
เขาช้างเผือก
 

ไฮไลท์สำคัญสุดของเส้นทางนี้อยู่ที่ “สันคมมีด” จุดที่ น่าหวาดเสียวและอันตรายที่สุดของการพิชิตเขาช้างเผือก เพราะเส้นทางเดินทั้งแคบและชันมากๆ พื้นที่วางเท้ากว้างประมาณ 2 คืบเท่านั้น แถมสองข้างทางยังขนาบไปด้วยเหว เมื่อเจอลมแรงๆ พัดมาก็พาให้ขนลุกชูชันกันเป็นแถว สร้างความกดดันให้กับเหล่าผู้พิชิตกันได้แทบทุกคน แค่มองเห็นทางเบื้องหน้าก็พาให้ใจหวั่น ขาสั่น เม็ดเหงื่อพลันผุดขึ้นกันจนเต็มมือ จนเราต้องหยุดเรียกกำลังใจอยู่หลายอึดใจกว่าจะก้าวเท้าแรกเข้าสู่ช่วงสันคม มีดได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงท่าเดินที่เรียกว่าสี่ขาก็ไม่ใช่ สองขาก็ไม่เชิง มือหนึ่งจับเชือกอีกมือก็ยันพื้นไว้เพื่อความั่นคง แล้วค่อยๆ ก้าวขาอย่างมั่นคงทีละก้าว ทีละก้าว จนสุดท้ายแล้วเราก็ผ่านมันมาได้ด้วยความภาคภูมิใจ แต่ดีใจได้ไม่นานเราก็ต้องมาพบกับปราการด่านสุดท้าย ที่ต้องออกแรงปีนขึ้นเนินชัน 45 องศา ต่อเนื่องเป็นระยะทางไกลพอสมควร แต่เมื่อเราผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้วความชันแค่นี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคเท่าไร เราจึงเรียกแรงอึดลูกสุดท้ายก้าวขาดุ่มๆ ขึ้นไปแบบลืมเหนื่อย อีกเพียงชั่วอึดใจเดียวเราก็ได้เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้อยากจะพิชิต” กลายเป็น “ผู้พิชิต” ได้อย่างเต็มตัว

 

ท้ายที่สุดความเหนื่อยทั้งหมดก็แทบจะหายเป็นปลิดทิ้ง ด้วยทิวทัศน์แบบ 360 องศาบนยอดเขาช้างเผือก วิวตรงหน้าสามารถมองเห็นได้ไกลสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว ความงดงามของธรรมชาติแท้ๆ ที่เราเห็นผ่านทางดวงตาทั้งสองข้าง รวมทั้งกลิ่นจางๆ ของใบหญ้าที่ลอยมาเตะจมูกและลมเย็นฉ่ำที่พัดผ่านตัวเราไปนั้น ถ้าจะเรียกว่า “ความสุข” ก็คงจะไม่เกินจริงนัก แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นความสุขที่แท้จริงก็คือ การที่เราสามารถชนะใจตัวเองและบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ใครไม่ได้มาลองด้วยตัวเองคงไม่เข้าใจหรอกครับ

เชื่อเถอะว่า การมาพิชิตยอดเขาช้างเผือกให้ได้ซักครั้งนั้น คุ้มค่ากับเหงื่อทุกหยดที่เราได้จ่ายไปจริงๆ ความเมื่อยล้าทางร่างกายนั้นไม่กี่วันก็คงจางหาย แต่ทว่าภาพความประทับใจเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ในใจของเราไปอีกนานแสนนาน

 
                 
ที่อยู่
:
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตู้ ปณ.18 อำเภอ ทองผาภูมิจังหวัด กาญจนบุรี 71180
GPS
:
14.687800, 98.365133
เบอร์ติดต่อ
:
08 1382 0359, 0 34 53 2114
E-mail
:
Website
:
Facebook
:
เวลาทำการ
:
สามารถติดต่อได้ในเวลาราชการ (เวลา 8.00 – 17.00 น.)
ค่าธรรมเนียม
:
  • ค่าเข้าอุทยานคนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
  • ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
  • ค่ากางเต็นท์ 30 บาทต่อคน
ช่วงเวลาแนะนำ
:
หากมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว ทุ่งหญ้าบนเขาช้างเผือกจะเป็นสีเขียวชอุ่ม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวหญ้าจะเป็นสีทองอร่าม การเลือกช่วงเวลาที่จะไปจึงแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล
ไฮไลท์
:
บริเวณ “สันคมมีด” ซึ่งเป็นจุดทางเดินแคบ การเดินจึงยากมาก อันตรายและน่าหวาดเสียวที่สุด
กิจกรรม
:
พิชิตยอดเขาช้างเผือก ยอดเขาที่สูงที่สุดภายในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ


จากตัวเมืองกาญจนบุรี ให้ใช้เส้นทางกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323) ตรงไปประมาณ 150 กิโลเมตร ก่อนจะเลี้ยวซ้ายบริเวณสามแยกไฟแดงเพื่อไปยังทางหลวงหมายเลข 3272 จากนั้นให้ตรงตามทางต่อไปประมาณ 65 กิโลเมตร จะพบที่ทำการอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอยู่ทางซ้ายมือ

ข้อมูลเเละภาพประกอบจาก