ศาลาแก้วกู่ อุทยานเทวาลัยแห่งความศรัทธา

กินเที่ยว
ศาลาแก้วกู่ อุทยานเทวาลัยแห่งความศรัทธา

“ศาลาแก้วกู่” เป็นศาสนสถานที่มีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดยักษ์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้

ศาลาแก้วกู่
 
ศาลาแก้วกู่
 

พื้นที่ 42 ไร่ ในชุมชนสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 3 กิโลเมตรนี้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาชม ความแปลกตาด้วยความแปลกใจเพราะเต็มไปด้วยรูปปั้นก่ออิฐถือปูนมากมายทรงสูง ตระหง่านใหญ่โตถูกสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาและความเชื่อของ ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ หรือ ปู่เหลือ (พ.ศ.2476-2539) ว่าทุกศาสนาผสมผสานกันได้โดยปรารถนาให้ "อุทยานเทวาลัย" หรือ "ศาลาแก้วกู่" หรือที่ชาวหนองคายเรียกกันง่ายๆว่า "วัดแขก" เป็นสถานที่แทนภาพดินแดนแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

หลังจากจ่ายค่าเข้าชมอุทยานเทวาลัยแล้ว เราก็เริ่มเดินไปรอบๆ ชมเทวาลัยปางต่างๆ ทันที ความรู้สึกหนึ่งเมื่อเรามองไปรอบๆ แล้ว บางครั้งก็รู้สึกเหมือนหลงเข้ามาเดินอยู่ในสวนของยักษ์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนใหญ่โตมหึมา จนตัวคนเหลือนิดเดียว เมื่อเทียบกับขนาดของรูปปั้น ส่วนใหญ่แล้วเทวาลัยต่างๆ จะมีเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ตามตำนานความเชื่อใน พราหมณ์ ฮินดู และคริสต์ แต่ก็มีงานประติมากรรมบางส่วนซึ่งได้จำลองเอาเหตุการณ์จากวรรณคดีสุภาษิต โบราณ หรือนิทานพื้นบ้าน นำมาจัดแสดงไว้เช่นกัน โดยที่บริเวณฐานของเทวาลัยเหล่านี้จะมีคำอธิบายเป็น “ภาษาไทยอีสาน” และ “ภาษาไทยภาคกลาง” บอกเล่าถึงเรื่องราวซึ่งเกี่ยวข้องกับชิ้นงานนั้นๆ สลักเอาไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้อ่านได้ศึกษาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน หลายคนที่มาเที่ยวชมที่นี่บอกว่า เหมือนได้เที่ยวชมภาพจำลองนรกสวรรค์ รวมหลายศาสนา ซึ่งการได้อ่านพุทธประวัติและเรื่องราวต่างๆ ผ่านภาพปั้นเหล่านี้ ช่วยเตือนใจให้เกรงกลัวในบาปกรรมได้มากเลยทีเดียว

 
 

หากทดลองนับจำนวนชิ้นงานประติมากรรมปูนปั้นภายในสวน ของศาลาแก้วกู่ก็จะพบว่ามีพระพุทธรูป เทวรูป และเทวาลัยทั้งหมด 208 องค์ และในจำนวนนี้มีมากกว่า 10 องค์ที่มีขนาดความสูงเกินกว่าตึก 3 ชั้นยังไม่นับรวมรูปปั้นเล็กๆ น้อยๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งรวมๆ กันเข้าก็น่าจะมีจำนวนนับพันได้ ถือได้ว่า “ศาลาแก้วกู่” เป็นศาสนสถานที่มีการจัดแสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดยักษ์จำนวนมาก ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้ โดยปู่เหลือปรารถนาให้ที่แห่งนี้เป็นเมืองอมตะแก้วกู่มหานิพพาน หรือดินแดนแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง หลังจากที่ปู่เหลือได้เสียชีวิตลงในเดือนสิงหาคม 2539 สานุศิษย์ได้นำผอบ (ผะ-อบ) แก้วใส่ร่างของท่านไว้ตามความประสงค์ก่อนสิ้นชีวิต ปู่เหลือถือศีลเคร่งวิปัสสนา สั่งสานุศิษย์ว่า เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว อย่าฉีดยา อย่าเผา อย่าฝัง ให้ใส่ผอบแก้วไว้ ร่างปู่เหลือไม่เปื่อยเน่า เส้นผมของปู่เหลือ จะเป็นสีดำล้วนทั้งศีรษะบ้าง สีขาวล้วนบ้าง สลับสับเปลี่ยนอยู่เรื่อยมา ปัจจุบันร่างปู่เหลืออยู่ภายในอาคารชั้นที่ 3 ของศาลาแก้วกู่ ซึ่งในแต่ละชั้นมีพระพุทธรูป เก่าแก่ต่างๆ ซึ่งนำมาจากฝั่งลาว ร่างของท่านไม่ได้เปื่อยเน่ามาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้เป็นที่ศรัทธาแก่สานุศิษย์และชาวพุทธเป็นอย่างมาก

 
ศาลาแก้วกู่
 

หากใครมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดหนองคายแล้วล่ะก็ “ศาลาแก้วกู่” นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่ไม่ควรพลาดแวะมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่อลังการของรูปปั้นเทวาลัย ซึ่งเกิดจากแรงศรัทธา ความเชื่อในบาป บุณ คุณ โทษ ในคำสอนของศาสนาต่างๆ จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์งานประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งที่หาชมที่ไหนไม่ได้ใน ประเทศไทย

 
ศาลาแก้วกู่
                 
ที่อยู่ : ชุมชนสามัคคี ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย 43000
GPS : 17.887161, 102.781925
เบอร์ติดต่อ : 08 1369 5744
Website : http://sala-saeoku.blogspot.com/
เวลาทำการ : 6.00-18.00 น.
ค่าธรรมเนียม :
  • ผู้ใหญ่ 20 บาท
  • เด็ก 10 บาท
ช่วงเวลาแนะนำ : ช่วงเช้า หรือเย็น แดดจะไม่ร้อนมาก เนื่องจากบริเวณทั้งหมดเป็นพื้นที่กลางแจ้ง
ไฮไลท์ : เทวาลัยขนาดใหญ่ ที่ปั้นขึ้นตามเรื่องราวคำสอนของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งมีคำบรรยายอยู่ที่บริเวณฐานเทวาลัย ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย
กิจกรรม : เดินเที่ยวชมเทวาลัยต่างๆ พร้อมอ่านคำบรรยายเพื่อศึกษาหลักคำสอนในศาสนาไปพร้อมๆ กัน / พักผ่อนหย่อนใจบริเวณบ่อปลาด้านหลังศาลาแก้ว / สักการะร่างของพ่อปู่เหลือที่ไม่เน่าเปื่อยบนชั้น 3 ของศาลาแก้ว

วิธีการเดินทาง
จากตัวเมืองหนองคายใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 มุ่งหน้าไปทางอำเภอโพนพิสัยประมาณ 3 – 4 กม.จะสังเกตเห็นป้ายศาลาแก้วกู่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน (ถ้าไม่เห็นป้ายศาลาแก้วกู่ให้สังเกตป้ายบอกทางไปพุทธมามกะสมาคมจ.หนองคาย แทน) ให้กลับรถย้อนเข้ามาทางอำเภอเมืองแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่มีป้ายบอกทางดัง กล่าวไปอีกประมาณ 500 เมตร ก็จะถึงศาลาแก้วกู่

ข้อมูลเเละภาพประกอบจาก