เพราะ "ขยะ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ไลฟ์สไตล์
เพราะ "ขยะ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ลองมองดูรอบ ๆ ตัว รอบ ๆ โต๊ะของคุณดูสิ ว่ามีสิ่งที่สามารถกลายเป็นขยะได้มากน้อยแค่ไหน.....มันใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด

เรื่องโดย : ปรภัต จูตระกูล Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : นิทรรศการ “GO Zero WASTE ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และเฟซบุ๊กเพจ Greenery


สิ่งแรกที่คุณทำหลังตื่นนอนคืออะไร? หลายคนอาจมีสิ่งที่ทำหลังตื่นนอนไม่เหมือนกันแต่เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนทำเป็นประจำทุกวันคือการล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัว และสำหรับผู้หญิงอาจเพิ่มการแต่งหน้าเข้ามาก่อนออกจากบ้าน เพียงกิจวัตรเพียงไม่กี่อย่างคุณรู้หรือไม่ว่ามีสิ่งที่จะกลายเป็นขยะได้ในอนาคตกี่ชิ้นแล้ว?

หากต้องนับดูก็ต้องเริ่มที่ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำ ยาสระผม เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดตัว/ผม ซึ่งทุกอย่างรอบตัวของเราล้วนแล้วแต่กลายเป็นขยะในอนาคตได้ แม้กระทั่งจอสมาร์ตโฟนที่คุณใช้อ่านบทความนี้ หรือจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม ลองมองดูรอบ ๆ ตัว รอบ ๆ โต๊ะของคุณดูสิ ว่ามีสิ่งที่สามารถกลายเป็นขยะได้มากน้อยแค่ไหน.....มันใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด

แม้ว่าการแยกขยะก่อนทิ้งเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่หลายคนก็ยังมองว่าไม่สำคัญ และมองปัญหาขยะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดเพราะคนไทยสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน (ข้อมูลปี 2559) หากคำนวณประชากรไทยที่ปัจจุบันมีเกือบ 70 ล้านคน นับได้ว่าเป็นปริมาณขยะที่มหึมา และหากคำนวณเป็นเดือน เป็นปี จำนวนขยะก็จะยิ่งทวีคูณ เห็นไหมว่ามันเยอะแค่ไหน?

วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. ขอนำเสนอวิธีการที่จะช่วยลดขยะที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นในแต่ละวัน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักก่อนว่าสิ่งรอบตัวเรานี้ เมื่อกลายเป็นขยะแล้วจะถูกจำแนกในประเภทไหนบ้าง

ขยะ


- ขยะอันตราย

คือ ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ พบประมาณ 3% ของปริมาณขยะ แต่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ต้องจัดการให้ถูกวิธีก่อนทิ้ง

ขยะอันตรายมีสารปนเปื้อน ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิต ก่อมะเร็ง เกิดโรคร้ายมากมาย การเผาขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ทำให้โลหะหนักแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมในห่วงโซ่อาหาร การฝังกลบแบบไม่ถูกต้องหรือการเก็บไว้ที่บ้านเฉย ๆ ก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จัดเป็นขยะอันตราย แต่หากได้รับการคตัดแยกชิ้นส่วนและจัดการที่ดี จะกลายเป็นเหมือนแร่ในบ้าน เพราะเต็มไปด้วยโลหะมีค่า สามารถรีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่น็อต แผงวงจร ซีพียู ฯลฯ นอกจากนี้กากที่เหลือจากการรีไซเคิลสามารถนำไปผลิตเป็นอิฐมวลเบาได้

วิธีจัดการกับขยะอันตราย

ขยะอันตรายที่เป็นของเหลว

- ต้องแยกประเภท ไม่เทรวมกัน เพราะสารเคมีอาจทำปฏิกิริยาได้
- ใส่ในภาชนะที่ไม่รั่วซึม อยู่ในที่ร่ม และพ้นมือเด็ก

ขยะอันตราย

- ต้องทิ้งแยกจากขยะประเภทอื่น ๆ
- รวบรวมใส่ถุงพลาสติก มัดให้แน่น ทิ้งในถังขยะอันตรายเท่านั้น
- ถ้าไม่มีถังขยะอันตราย รวบรวมใส่ถุงพลาสติกก่อนทิ้ง ระบุหน้าถุงว่า “ขยะอันตราย”
- หากมีจำนวนมากควรติดต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดขยะหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารับเพื่อนำไปจำกัดอย่างถูกวิธี

ขยะอันตรายต้องแยกประเภทและป้องกันการแตกหักก่อนทิ้ง เพราะเสี่ยงปนเปื้อน ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ทุกชนิด ภาชนะบรรจุสารเคมี เช่น กระป๋องสีสเปรย์ ภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลง หรือวัชพพืช ตลับหมึกเครื่องพิมพ์ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุกทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ขยะ


- ขยะอินทรีย์ หรือขยะย่อยสลาย

คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมา หมักปุ๋ยได้ เช่น เศษอาหาร เนื้อสัตว์ กระดูกสัตว์ เปลือกไข่ เปลือกผลไม้ เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ฯลฯ  พบมากถึง 70% ของปริมาณขยะ ขยะมูลฝอยมีสารอินทรีย์เน่าเปื่อยปะปนอยู่ เป็นแหล่งเพาะโรค พาหะนำโรค ก่ออันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

วิธีจัดการกับขยะอินทรีย์

- รีดน้ำออกให้มากที่สุด (หรือให้แห้งที่สุด)
- พัน/ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนทิ้ง
- ไม่ควรใส่ถุงพลาสติกเพื่อทิ้ง เพราะคัดแยกยาก
- แยกส่วนที่เป็นของเหลวและของแข็งออกจากกันเพราะทำให้เกิดความชื้น เสี่ยงปนเปื้อนสูง
- น้ำมันพืชใช้แล้ว ใส่ขวดหรือภาชนะ แยกทิ้งจากขยะอื่น ๆ เพื่อไม่ทำให้ขยะในกองสกปรก และยากต่อการจัดการ ไม่ควรเททิ้งท่อระบายน้ำเด็ดขาด เพราะเป็นตัวการสำคัญให้ท่อระบายน้ำอุดตันและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์


ขยะ

- ขยะทั่วไป

คือ ขยะประเภทอื่น ๆ มีลักษณะย่อยสลายยาก ไม่คุ้มต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกขนมขบเคี้ยว ลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุง/ซองบรรจุผงซักฟอก ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฟอยล์เปื้อนอาหาร ถุงดำ ฟิล์มห่ออาหาร ถ้วยกาแฟกระดาษ จานชามเมลามีน ของเล่น ตุ๊กตา หนังสัตว์ ฯลฯ พบประมาณ 3% ของปริมาณขยะ

วิธีจัดการกับขยะทั่วไป (รีไซเคิลไม่ได้)

- ถ้าเปื้อนควรล้างก่อนทิ้ง
- แยกใส่ถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไป
- หากไม่มีถังขยะแบบแยกประเภท ควรระบุหน้าถุงให้ชัดเจนว่าข้างในเป็นอะไร

ขยะ

- ขยะรีไซเคิล

คือ ขยะที่ยังนำกลับใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต พบมากเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ 30 % ของปริมาณขยะ

ขยะรีไซเคิล ควรทำความสะอาดก่อนทิ้ง แยกใส่ถุง แสดงหน้าถุงให้ชัดเจน หากคัดแยกขยะรีไซเคิลจะขายได้ราคาดีขึ้น ประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลขึ้นอยู่กับการคัดแยกที่ต้นทาง ขยะยิ่งสะอาดยิ่งรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจะทิ้งขยะแต่ละครั้งจะต้องคิดก่อนทิ้ง เพราะขยะรีไซเคิลมีค่ากว่าที่คิด เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่ม UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ ฯลฯ สามารถนำมาดัดแปลงแก้ไข หรือนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อีกมากมาย ซึ่งระบบแยกขยะของประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทำให้นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่า 20% ของปริมาณขยะทั้งหมด ดังนั้นการแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะอื่น ๆ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่าที่คิด

ขยะ

การไม่สร้างขยะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ทำได้ยาก ดังนั้น “การคัดแยกขยะที่ต้นทาง” อย่างถูกต้อง คือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาที่จะช่วยให้ระบบจัดการขยะมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสะดวกในการจัดเก็บ ลดต้นทุนในการรีไซเคิล นอกจากนี้ขยะบางชนิดยังสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

มาร่วมกันจัดการขยะด้วยตนเองง่าย ๆ ด้วย 3R ดังนี้

- Reduce ลดใช้ ลดสร้าง ลดทิ้ง
- Reuse ใช้ซ้ำ
- Recycle หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 R เพิ่มเติม ซึ่งหากทำได้ก็จะดียิ่งขึ้น

- Refuse ปฏิเสธบรรจุภัณฑ์สร้างมลพิษ ไม่ใช่กล่องโฟมหรือกล่องพลาสติกที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว
- Refill เลือกใช้สินค้าแบบเดิม ไม่เพิ่มเติมขยะเกินความจำเป็น
- Repair นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียไปซ่อมแทนการซื้อใหม่
- Return อุดหนุนสินค้าคืนขวด หมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ทำให้ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

เกร็ดความรู้ วิธีจัดการกับน้ำมันปรุงอาหาร

การเทลงท่อระบายน้ำเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน แถมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ น้ำมันใช้แล้วอาจนำไปใช้ซ้ำอีก 1 ครั้ง (reuse) หรือนำไปแปรรูป (recycle) เพิ่มมูลค่าได้ แต่จำเป็นต้องมีการจัดการที่ถูกต้องดังนี้

1. ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
2 . กรองใส่ในภาชนะ โดยใช้ที่กรองเศษอาหาร กรองเอาสิ่งสกปรกและเศษอาหารออกให้หมด
3. แช่ในช่องฟรีซ หรือเก็บในพื้นที่เย็นชื้น ให้น้ำมันแข็งตัว ง่ายต่อการทิ้งลงถังขยะ


ขยะ

นอกจากนี้หากต้องการรู้ว่าขยะแต่ละชนิดจะสามารถไปสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้อีกสามารถเข้าชมได้ที่ นิทรรศการ “GO Zero WASTE ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” ที่ชั้น 2 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ซอยงามดูพลี ในระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ถึง 31 มกราคม 2562 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะให้ผู้เข้าชมนิทรรศการเข้าสู่บ้านจำลองและหยิบของใช้ในชีวิตประจำวันมาติดกับตัว เพื่อให้เห็นว่า ‘ขยะ’ อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และเพื่อให้ผู้เข้าชมรับรู้ถึงผลกระทบของขยะหากไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง


ขอบคุณข้อมูลจาก สสส