วิธีดูแลภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ไลฟ์สไตล์
วิธีดูแลภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรละเลยอันตรายที่อาจเกิดจากภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

 

ผู้สูงอายุ

เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : หนังสือ  ‘คู่มือการดูแลผู้สูงวัย: สูตรคลายซึมเศร้า’ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



แม้เด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาววัยทำงาน จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรละเลยอันตรายที่อาจเกิดจากภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

เนื่องจากข้อมูลการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าข่ายภาวะซึมเศร้ามีถึงร้อยละ 33 แต่ผู้สูงอายุในชุมชนที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ มีประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น

หากผู้สูงอายุอยู่ในภาวะซึมเศร้านานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา จะกลายเป็นโรคซึมเศร้าและบางรายอาจมีโรคสมาธิความจำเสื่อมจนพัฒนาเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ และเพื่อเป็นแนวทางการดูแลจิตใจผู้สูงวัยที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ทีมเว็บไซต์ สสส. จึงรวบรวมข้อมูลการดูแลภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุไว้ดังนี้ค่ะ

ผู้สูงอายุ

1. สังเกตและติดตามลักษณะที่เปลี่ยนไป เช่น ผู้สูงอายุเบื่อหน่าย สนใจสิ่งต่างๆ น้อยลง ไม่เบิกบาน เสียใจง่าย น้อยใจง่าย ผู้สูงอายุดูเศร้า เบื่อมากหรือนานกว่าปกติ นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหารหรืออาจกินจุขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายช้าลงหรือเพิ่มขึ้น อ่อนเพลียง่าย รู้สึกไร้ค่า รู้สึกเป็นภาระต่อลูกหลาน หรือบางรายอาจทำร้ายตัวเอง

2. ถ้าพบว่ามีภาวะซึมเศร้า ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับลูกหลานที่ดูแล ให้พยายามกระตุ้นให้ท่านทำกิจกรรมด้วยตนเอง เพื่อลดความรู้สึกเป็นภาระให้ลูกหลาน อาจเริ่มจากกิจกรรมดูแลตัวเองง่ายๆ ทั้งนี้ลูกหลานควรเข้าใจภาวะโรคซึมเศร้าก่อน และกระตุ้นให้ท่านหันมาสนใจดูแลตัวเองมากขึ้นด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ขัดจังหวะเมื่อท่านอยากเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง

3. ระดับน้ำตาลที่พอเหมาะจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หากระดับน้ำตาลต่ำลง ร่างกายจะเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ง่าย ไม่สดชื่น จิตใจจะไม่เบิกบาน การกินของหวาน ขนมหวาน น้ำผึ้ง จะช่วยปรับให้อารมณ์ผู้สูงอายุดีขึ้นได้

4. สร้างสรรค์กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการบำบัดและฟื้นฟูความสามารถด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงการเรียนรู้ด้านอารมณ์ ซึ่งสามารถช่วยให้การเข้าสังคมของผู้สูงอายุดีขึ้น อาจแบ่งกิจกรรมเป็น 3 หมวด ดังนี้ 1) กิจกรรมดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน เช่น หวีผม กินข้าว เดิน เลือกเสื้อผ้าที่อยากใส่เอง 2) กิจกรรมเพื่อการทำงาน  เช่น รับงานมาทำที่บ้าน เลี้ยงลูกหลาน ทำงานเพื่อสังคม และ 3) กิจกรรมยามว่าง เช่น ฟังเพลง ทำสวน อ่านหนังสือ เขียนบันทึก ออกกำลังกาย เป็นต้น

5. ปรับทัศนคติของลูกหลานที่ดูแล เริ่มจากการปรับทัศนคติที่ว่า “ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับ จะค่อยๆ ดีขึ้น” เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีปัจจัยหลายส่วน ไม่สามารถทำแล้วหายได้ในครั้งเดียว แต่เชื่อเถอะว่าในทุกครั้งๆ ที่ทำย่อมส่งผลให้ผู้สูงอายุค่อยๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอน

6. จิตใจของลูกหลานต้องแข็งแกร่ง มีความอดทนในการดูแลอย่างเพียงพอ เพราะผู้สูงอายุบางรายอาจมีลักษณะอารมณ์กลับมาเป็นเด็กหรืออาจหงุดหงิด ลูกหลานควรพูดคุยด้วยท่าทีที่อ่อนโยน รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างดี ทั้งนี้สามารถเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้

นอกจากนี้ ‘คู่มือการดูแลผู้สูงวัย: สูตรคลายซึมเศร้า’ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเป็นหนังสือดีๆ อีกหนึ่งเล่มที่ช่วยให้การดูแลจิตใจของผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยสามารถดาวน์โหลดได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ http://bit.ly/2muREQf





ขอบคุณภาพจาก pixabay.com