นวดกดจุด แก้เบื่อเมื่อรถติด

ไลฟ์สไตล์
นวดกดจุด แก้เบื่อเมื่อรถติด

“ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” แนะนำวิธีการแก้อาการเบื่อหน่าย หงุดหงิดและเมื่อยล้า ด้วยท่ากายบริหารง่ายๆ ดังนี้

นวดกดจุด

เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th
 
ฝนที่ตกในเวลานี้ ทำให้หลายคนประสบปัญหารถติด จากสภาพการจราจรที่คับคั่ง ทำให้คุณเบื่อหน่าย เครียดหงุดหงิดและวิตกกังวล ภาวะเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพกายและใจ
 
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. เรามีท่าบริหารง่ายๆ เพื่อช่วยให้คุณคลายความปวดเมื่อยได้ แถมยังทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และจิตใจสงบ ขจัดอารมณ์ขุ่นมัวในช่วงที่รถติดไปได้
 
เกี่ยวกับอาการเบื่อหน่าย หงุดหงิดและเมื่อยล้า เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก ยามที่ฝนเทลงมานี้ “อาจารย์ชินริณี วีระวุฒิวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม อธิบายว่า ความเครียดเป็นภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ และทำให้รู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ และวิตกกังวล ส่งผลให้สภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจเสียไป
 
อาจารย์ชินริณี บอกว่า ผลจากปฏิกิริยาตอบสนองที่มีต่อความเครียด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลนั้น เกิดอาการทางกายหลายอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ตั้งแต่ปวดศีรษะ ปวดหลัง อ่อนเพลีย ขณะที่อาการด้านจิตใจของบุคคลที่เครียด จะเต็มไปด้วยการหมกมุ่นครุ่นคิด ขาดสมาธิ สูญเสียความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะจัดการกับชีวิตของตนเอง เศร้าซึมและวิตกกังวล
 
นวดกดจุด
 
“ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” แนะนำวิธีการแก้อาการเบื่อหน่าย หงุดหงิดและเมื่อยล้า ด้วยท่ากายบริหารง่ายๆ ดังนี้
 
คิ้วและตา
 
การใช้สายตาเป็นเวลานานๆ ในการจ้องและเพ่งหน้า ทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตา โดยจะมีอาการปวดบริเวณระหว่างหัวคิ้วไปจนถึงศีรษะ ให้เริ่มจากนั่งตัวตรงแล้วใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างนวดเบาๆ บริเวณระหว่างคิ้ว หายใจปกติ แล้วค่อยๆ เลื่อนจากหัวคิ้วไล่ไปจนถึงบริเวณหางตา โดยนวด 7-8 ครั้ง ซึ่งท่านี้ช่วยกระตุ้นการมองและการคำนวณกะระยะ จากนั้นให้ใช้นิ้วนางกดเบาๆ บริเวณถุงใต้ตาไปจนถึงหางตา ทำทั้งหมด 7 รอบ รอบละ 3-5 ครั้ง โดยท่านี้จะลดรอยเหี่ยวย่นถุงใต้ตา ต่อมาให้กรอกตาไปทางด้านซ้ายขวา บนและล่าง ซึ่งลูกตายังเป็นแหล่งรวมของเส้นเลือดจำนวนมาก ท่านี้จะทำให้เลือดไหลเวียนแก้อาการสายตาล้าได้
 
อาการปวดที่หน้าผากและขมับ เป็นอีกส่วนที่เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งความเครียดมักเป็นสาเหตุหลักของอาการนี้ ให้วางมือทั้งสองข้างบริเวณหน้าผาก แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ทำเป็นรูปตัวแอล โดยนิ้วโป้งให้กดบริเวณขมับทั้งซ้ายและขวา ส่วนนิ้วชี้ให้งอนิ้วแล้วใช้สันนิ้ว กดเบาๆ ระหว่างคิ้ว แล้วหมุนวนเป็นวงกลมทำ 3- 4 ครั้ง ประมาณ 30 วินาที
 
จากนั้นดึงสันนิ้วชี้ขึ้นไปถึงตีนผมแล้วลากออกไปจนถึงนิ้วโป้งที่ขมับ ทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อกระตุ้นประสาทและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองให้ดีขึ้น ซึ่งท่านี้ยังช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบริเวณหน้าผากได้อีกด้วย
 
ศรีษะและคอ
 
กล้ามเนื้อบริเวณคอเป็นจุดที่มักปวดตึงได้บ่อยที่สุด ให้หมุนคอ เบาๆ จากนั้นให้ใช้ฝ่ามืออ้อมมาจับที่ศรีษะอีกฝั่งหนึ่ง แล้วออกแรงดึงเบาๆ ให้ศรีษะเอนพอรู้สึกตึง ทำค้างไว้พอรู้สึกสบาย จึงค่อยสลับไปทำอีกข้างหนึ่ง ซึ่งการบริหารคอจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงสมองมากขึ้น ซึ่งท่านี้ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระช่วย และ ช่วยป้องกันอาการของโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
 
ท่าต่อมาให้ยกมือเหยียดตรงโดยให้แนบชิดหู แล้วลดมืออ้อมมานวดบริเวณข้างหลังกกหูด้านตรงข้าม โดยให้ทำสลับไปมาซ้ายและขวา ซึ่งท่านี้จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงที่ใบหูมากขึ้น ขณะที่การยกแขนเหยียดตรงยังช่วยให้น้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ขณะที่การยกแขนข้ามศรีษะไปกดที่หลังกกหูยังเป็นการออกกำลังกายสมองทำให้ตื่นตัวอีกด้วย
 
นวดกดจุด
 
ส่วนต่อคอเป็นอีกจุดหนึ่งที่เกิดอาการปวดเมื่อยได้ง่าย ให้หมุนหัวไหล่เบาๆ ไปด้านหน้าและด้านหลัง ขณะที่ส่วนเอวและหลังเป็นบริเวณกล้ามเนื้อลำตัว ที่รองรับความเครียดและน้ำหนักร่างกายไว้เต็มที่ โดยให้เริ่มจากนั่งยืดเหยียดตัว จากนั้นถูมือให้ร้อนและนวดบริเวณบั้นเอวด้านหลัง ค่อยๆ ไล่มาด้านหน้า ซึ่งบริเวณบั้นเอวยังเป็นการนวดไต ที่คอยกรองของเสียจากร่างกาย และยังดูแลในเรื่องของอารมณ์
 
ดังนั้นคนที่เครียดหงุดหงิดเครียดง่าย การนวดไตสามารถช่วยผ่อนคลายได้ โดยให้นวดทั้งหมด 3 รอบ รอบละ 7 ครั้ง ซึ่งการนวดลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไตที่สัมพันธ์กับต่อมใต้สมอง จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดของไตให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี
 
ลองนำเคล็ดลับการบริหารที่แนะนำไปปรับใช้ พร้อมกับทำจิตใจให้แจ่มใส เชื่อว่าต่อให้รถติดแค่ไหน เราก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสบาย
 

สำหรับผู้ที่รักในการดูแลสุขภาพ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ กับทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. โดยติดตามตารางกิจกรรมได้ที่ http://www.thaihealthcenter.org หรือ https://www.facebook.com/Sookcenter






ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)