อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ ฉายา จอมยุทธขลุ่ย” เจ้าของตำนานเสียงขลุ่ยเพื่อชีวิตคาราบาว ที่เมื่อมาบรรจบกับเสียงร้องของศิลปินเพลงไทยสากล เสียงขลุ่ยก็ยิ่งซาบซึ้งสุดหัวใจ

ช่วงที่สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับวงคาราบาว เสน่ห์ของเสียงขลุ่ยซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตของธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ได้ปลุกค่านิยมของความเป็นไทยขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ จากบทเพลงเดือนเพ็ญ เมดอินไทยแลนด์ ทำให้เกิดกระแสคนรักขลุ่ยขึ้นมาในสังคมไทยด้วย ซึ่งเป็นการตอกย้ำคุณค่าของดนตรีไทยในโลกสมัยใหม่ จนส่งผลให้เกิดการค้นคว้าเรื่องขลุ่ยอย่างจริงจัง พัฒนาไปสู่ความเป็นเครื่องดนตรีไทยที่สามารถนำเสนอเทียบเท่าดนตรีสากลในระดับโลกได้ อาทิ การวิเคราะห์เรื่องระบบเสียง พัฒนาการเจาะรูนิ้วขลุ่ยให้มีการตั้งคีย์เสียงให้ตรงกับดนตรีสากลมากที่สุด มีระดับเสียงที่สามารถร่วมเล่นกับเครื่องดนตรีสากลทุกระบบในโลกได้ พัฒนาระบบการใช้นิ้วให้ครอบคลุมคีย์เพลงที่หลากหลาย ร่วมมือกับช่างในการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการประดิษฐ์ขลุ่ยซึ่งแต่เดิมนิยมใช้ไม้ไผ่ หันมาทดลองใช้ไม้เนื้อแข็งและไม้มงคลต่าง ๆ จนเป็นขลุ่ยเสียงมาตรฐานหลายรุ่นด้วยกัน ตลอดจนการใช้วัสดุทดแทนทำให้ขยายฐานของผู้ฝึกหัดขลุ่ยได้กว้างขวาง เป็นการวางรากฐานให้เยาวชนไทยหันมาสนใจดนตรีไทยและดนตรีสากลในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังได้ทำกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขลุ่ยทั้งในด้านการอบรม นิทรรศการ เขียนตำราฝึกหัดขลุ่ย และการแสดงสดบนเวทีรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นผู้พัฒนาขลุ่ยไทยให้ก้าวไกลไปสู่สากล ได้ฝากขลุ่ยไทยเสียงสากลไว้เป็นมรดกแก่สังคมไทยร่วมสมัยและอนาคต ตลอดระยะเวลายาวนานในการทุ่มเทชีวิตและหัวใจให้กับงานดนตรี ขลุ่ยคือชีวิต ชีวิตคือขลุ่ย ด้วยความวิริยอุตสาหะไม่หยุดนิ่งที่จะมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนางานดนตรีให้เข้าถึงชีวิตและจิตใจด้วยปรัชญา เสียงดนตรีที่ดี ต้องเริ่มมาจากจิตใจที่ดี

ผลงาน
คาราบาว
  • ท.ทหารอดทน (พ.ศ. 2526; แบ็คอัพ)
  • เมด อิน ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2527)
  • อเมริโกย (พ.ศ. 2528)
  • ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2529)
  • เวลคัมทูไทยแลนด์ (พ.ศ. 2530)
  • ทับหลัง (พ.ศ. 2531)
  • หากหัวใจยังรักควาย (พ.ศ. 2538)

อัลบั้มเดี่ยว
  • ขอเดี่ยวด้วยคนนะ (พ.ศ. 2532; ร่วมกับเทียรี่และเป้า)
  • ลมไผ่ (พ.ศ. 2533)[3]
  • ธนิสร์ กับ ชาวบ้าน / ชุด ก. (พ.ศ. 2534)
  • ลมชีวิต WIND OF LIFE (พ.ศ. 2536)