รับมือข่าวสารอย่างไรในสถานการณ์ Covid -19

ไลฟ์สไตล์
รับมือข่าวสารอย่างไรในสถานการณ์ Covid -19

สิ่งที่ต้องระวังในช่วงนี้ นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว การแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือข่าวลวงนั้นก็น่ากลัวไม่น้อยไปกว่ากัน

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการรับหรือส่งต่อข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อนอันจะนำไปสู่ปัญหา หรือผลกระทบบางอย่างต่อสังคมในวงกว้าง
 
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้มาพร้อมกับการระบาดของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดข่าวลวงข่าวปลอมแพร่กระจายในสื่อไปทั่วโลก สร้างความเข้าใจผิด ในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคระบาด และความปลอดภัยของประชาชน
 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
 
สสส. ได้ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ChangeFusion Wisesight Open Dream Center for Humanitarian Dialogue (HD) มูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อ นำร่องกลไกภายใต้โครงการโคแฟค (Collaboative Fact Checking : Cofact) เปิดพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านเว็บไซต์ cofact.org และโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติ (Chatbot) ไลน์ @cofact เพื่อร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นโควิด-19 เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ทุกคนเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ร่วมตรวจสอบข่าว นำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อของพลเมืองดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อและสังคมสุขภาวะ


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนให้ความสนใจกับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของข้อมูลจำนวนมากนั้น ข้อดีคือทำให้ผู้คนมีความตื่นตัว เตรียมพร้อมรับมือ แต่ข้อเสีย คือทำให้ผู้คนตื่นตระหนก สับสน และปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ทุกวันนี้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสังคมเป็นอย่างมาก มีจำนวนมากขึ้นและพยายามแข่งกันทำเวลาในการเผยแพร่ข้อมูล การมีกลไกหรือระบบบางอย่างช่วยคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องอย่าง Cofact จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงนี้
 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
 
แนวคิดของ Cofact เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง (Civic Tech) กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ (Journalism) โดยมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็นได้ อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวให้ทีมกลั่นกรองได้ จากนั้นก็จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนด้วย รวมทั้งพัฒนางานข่าวเชิงลึก เช่น มีบทความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแสหรือที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและประโยชน์สาธารณะในโครงการ Cofact Journalism
การทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าวหรือ Fact checker และ สร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันนั้น จะช่วยแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัล  ซึ่งทำได้โดยเปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย (Marketplace of Ideas) แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริง (Facts) และความคิดเห็น (Opinion) โดยเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสังคม ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราไม่สามารถเชื่ออะไรได้เลย ก็ไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะมีการสืบค้นข้อเท็จจริงจนประจักษ์ร่วมกัน ย่อมดีกว่าการเชื่อไปโดยไม่ไตร่ตรอง
 

สถานการณ์ของโรคระบาดที่แพร่กระจายไปพร้อมกับข้อมูลข่าวสารในตอนนี้ คือ การมีข้อมูลจำนวนมาก และแข่งกันทำเวลาในการเผยแพร่ จนทำให้ขาดการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ นอกจากนี้การรับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทำให้การรับข้อมูลของเราแคบลง เพราะระบบคัดกรองของเฟซบุ๊กจะคัดกรองเฉพาะเนื้อหา หรือข้อมูลที่เราให้ความสนใจหรืออยากได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเสนอโดยสอดแทรกความคิดเห็นมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง
ข้อมูลที่อาจสร้างปัญหาในช่วงนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดรุนแรง และมีผลถึงชีวิต ทำให้ทุกคนต้องการรู้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการรอดชีวิต ทุกหัวข้อจึงใหม่ น่าสนใจ และดึงดูดใจได้ไม่ยาก ซึ่งมีที่มาจากแหล่งสำคัญ คือ
 
1.สื่อทุกระดับ ทั้งสื่อเดิม สื่อหลัก สื่อรอง

2.ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่เป็นแพทย์ และไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในวงการด้านอื่นๆ

3.คนขายของ ทำให้คนเชื่อถือ และสั่งซื้อมาบริโภค

4.ข่าวลวงที่ถูกส่งต่อข้ามชาติ

5.หน่วยงานของภาครัฐ ทำงานไม่สอดคล้องกัน ไม่มีการปรึกษากันก่อนนำเสนอข้อมูลออกมา ทำให้เกิดความสับสนต่อผู้รับสาร

6.อุบัติเหตุทางการสื่อสารที่ขาดความครบถ้วน

7.คนที่ตั้งใจสร้างข่าวลวง เพื่อสร้างความปั่นป่วนในสังคม

8.การส่งข้อมูลต่อกันของประชาชนที่ไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ถูกแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
 
1.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เช่น พบผู้ป่วยที่ใด จะมีประกาศปิดเมือง สถานที่เสี่ยง ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองที่มากหรือน้อยจนเกินไป

2.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสำคัญผิด เช่น ไวรัสแพร่กระจายผ่านอากาศ สมุนไพรชนิดนี้รักษาหรือป้องกันโควิดได้ฯลฯ  ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวิธีการดูแลสุขภาพ  อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

3.ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเครียดหรือความสับสน เช่น ข้อมูลจากภาครัฐเชื่อถือไม่ได้ มีการปิดข่าว ฯลฯ  ซึ่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ความหวาดกลัว มองข้ามการป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ เราทุกคนต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติผ่านพ้นช่วงเวลาแห่ง ความยากลำบากนี้ไปได้  และหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเหลือประเทศชาติได้นอกจากการดูแลตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำ ของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขแล้ว การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องก่อนทำการเผยแพร่หรือส่งต่อก็เป็นการช่วย ลดปัญหาความสับสนวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้มากทีเดียว ซึ่ง Cofact เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทุกคนจะได้แลกเปลี่ยน และตรวจสอบข้อมูลร่วมกัน เพื่อคัดสรรข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์มากที่สุดก่อนเผยแพร่ออกสู่สังคมต่อไป    

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันตรวจสอบข่าวลวงได้ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และเว็บไซต์ https://cofact.org/

เรื่องโดย  ปัญจวรา บุญสร้างสม Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เพจ Cofact และการเสวนา Cofact vs Covid19 เราควรรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสารอย่างไรให้สมดุล