ประวัติและความสำคัญของ วันมาฆบูชา ที่ชาวพุทธควรรู้!

ไลฟ์สไตล์
ประวัติและความสำคัญของ วันมาฆบูชา ที่ชาวพุทธควรรู้!

ชวนอ่านประวัติและความสำคัญของ วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่คนไทยควรรู ้เพื่อสืบทอดไปสู่ลูกหลาน

วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาท และวันหยุดราชการในประเทศไทย  "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) 
 
ซึ่งคัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ 
 
1. พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย 
2. พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
3. พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
4. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4
 
วันมาฆบูชา
 
ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น 
 
เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
 
วันมาฆบูชา
 
ทั้งนี้ รัฐบาล ขอเชิญร่วมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ณ วัด หรือศาสนสถานใกล้บ้านทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ท่านและครอบครัว รวมทั้งเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป