ครั้งแรกของการดวลเพลงระหว่าง สุดยอดหมอแคนตาบอด สมบัติ สิมหล้า และเจ้าพ่อเพลงรัก ปั่น-ไพบูลเกียรติ

ครั้งแรกของการดวลเพลงระหว่าง สุดยอดหมอแคนตาบอด สมบัติ สิมหล้า และเจ้าพ่อเพลงรัก ปั่น-ไพบูลเกียรติ

ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา กับงาน สืบสานดนตรี ศิลปินพื้นบ้าน คอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อร่วมกันเชิดชู และอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านไทย

ดนตรีในแต่ละวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันออกไป โดยจะปรากฏอยู่ในแต่ละท้องถิ่นแสดงถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ในปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวที่อาจค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เพื่อให้เอกลักษณ์อันทรงคุณค่ายังคงอยู่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดงานการแสดงดนตรี “สืบสานดนตรี ศิลปินพื้นบ้าน” ขึ้น เชิญศิลปินพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในแขนงการแสดงศิลปะทางดนตรีอันมีเอกลักษณ์ โดดเด่น มารวมตัวกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ผ่านการแสดงคอนเสิร์ตในแบบฉบับวิถีใหม่ท่ามกลางภาวะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องของการเว้นระยะห่าง ทั้งยังนำเสนอในรูปแบบของการถ่ายทอดสดออนไลน์ หรือไลฟ์สตรีม (Livestream) ตามเวลาและสถานที่จริง เพื่อเผยแพร่ให้สามารถรับชมได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดยงานจัดขึ้น ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ภายในงานพบกับการรวมตัวของสุดยอดศิลปินพื้นบ้าน และนักร้อง นักดนตรีร่วมสมัยมากมายที่มาร่วมกันถ่ายทอดผลงานอันทรงคุณค่า พิเศษสุดกับการพบกันครั้งแรกของสุดยอดหมอแคนตาบอดชื่อดังระดับประเทศอย่าง สมบัติ สิมหล้า และ ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว นักร้องมากความสามารถแถวหน้าของเมืองไทยที่มาร่วมกันดวลเพลงพิเศษอย่าง เพลง Sway และเพลงกลับบ้านเรา โชว์สุดยอดเสียงแคนที่ผสมผสานกับเสียงร้องนุ่มๆ ได้อย่างลงตัว

ร่วมด้วยศิลปินคุณภาพอย่าง เจี๊ยบ-วลัย พิพัฒน์เจริญกิจ, หนูตุ่น-อัฐพร กรไชยา (ตุ่น เดอะวอยซ์), ไหมแพร ศิริสาร, ชีน่า-อสมา แมคเคนซี่ (ชีน่า เดอะวอยซ์) ที่จะมาร่วมถ่ายทอดบทเพลงสุดไพเราะ อาทิ สายลมรัก, คนสองคน, ทานตะวัน, ฝันที่หลุด ฯลฯ ให้ฟังกันอย่างเพลิดเพลิน ทั้งยังร่วมกันสืบสานดนตรี ศิลปินพื้นบ้าน แสดงความงดงามเอกลัษณ์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์และสร้างความประทับใจให้งานครั้งนี้

สำหรับการแสดงคอนเสิร์ต “สืบสานดนตรี ศิลปินพื้นบ้าน” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูความงดงามของดนตรีพื้นบ้าน แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังช่วยสนับสนุนในการเผยแพร่ศิลปินพื้นบ้าน ซึ่งมักไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีพื้นที่ในนำเสนอผลงานให้เป็นที่ยอมรับ แสดงให้เห็นถึงพลังของดนตรีที่ศิลปินสามารถนำมาเกี่ยวร้อยไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีในยุคสมัยใดและมาจากชนชาติใด