วัดพระพุทธฉาย มหัศจรรย์พระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา

กินเที่ยว
วัดพระพุทธฉาย มหัศจรรย์พระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา

สุดสัปดาห์เรามุ่งหน้าไปเที่ยวยัง “วัดพระพุทธฉาย” ในจังหวัดสระบุรี วัดที่ว่ากันว่ามีเงารูปพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่บนผาหินนั้นแหละครับ ออกเดินทางจากกรุงเทพตอนสายๆ ไม่นานก็มาถึงจุดหมายแล้วครับ

วัดพระพุทธฉาย
 

สุดสัปดาห์เรามุ่งหน้าไปเที่ยวยัง “วัดพระพุทธฉาย” ในจังหวัดสระบุรี วัดที่ว่ากันว่ามีเงารูปพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่บนผาหินนั้นแหละครับ ออกเดินทางจากกรุงเทพมุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรีด้วยเส้นทางพหลโยธิน ไปเรื่อยๆ ไม่นานก็มาถึงทางแยกไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น ซึ่งทางเข้าวัดกับทางเข้าอุทยานแห่งชาติฯ เป็นทางเดียวกัน ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะหลง เพราะมีป้ายกำกับตลอดทางเลยครับ

 
วัดพระพุทธฉาย
 

“วัดพระพุทธฉาย” ตั้งอยู่เชิงเขาพุทธฉาย ในเขตอำเภอเมืองสระบุรี ซึ่งปรากฏรอยภาพเงาพระพุทธเจ้าในลักษณะประทับยืนอยู่บนชะง่อนผา ตามประวัติการค้นพบ มีบันทึกไว้ว่า ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นมีรับสั่งให้ค้นหารอยพระพุทธบาทตามภูเขาทุกแห่ง แล้วได้มาพบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา และพระพุทธฉาย ณ เงื้อมเขาแห่งนี้ จึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดีย์สถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทไว้และโปรดให้สร้างสังฆาราม ให้เป็นสถานที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน หลังจากผ่านเวลามายาวนานกว่า 400 ปี เป็นธรรมดาที่สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่จะชำรุดทรุดโทรมลง จนเมื่อปีพ.ศ. 2537 ได้มีการซ่อมแซมมณฑปหลังเก่าและได้มีการเคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองออก และทุบซ่อมแซมพื้นจึงพบ “รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา” ใต้กอง ทรายหยาบ ซึ่งปัจจุบันรอยพระพุทธบาทเบื้องขวานี้ประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปน้อย บนยอดเขา  นักท่องเที่ยวสามารถขับรถอ้อมขึ้นไปจอดรถด้านบน และเดินขึ้นบันไดต่อไปอีกเล็กน้อย ก็จะได้สักการะรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา พร้อมทั้งยังได้ชมวิวทิวทัศน์รอบๆ เขาพุทธฉาย ซึ่งมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน และแนวเขาสลับกันไปสามารถมองได้ไกลสุดสายตาเลยทีเดียว

 
 
ส่วนพื้นที่วัดบริเวณเชิงเขา ซึ่งกินอาณาบริเวณกว้างขวางและร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมาย เมื่อเดินเข้ามาบริเวณวัดแล้ว เราจะเห็นบันไดนาคซึ่งจะนำเราไปสู่มณฑปพระพุทธฉาย ซึ่งภายในปรากฎภาพเงาพระพุทธเจ้าเป็นรอยสีแดงจางๆ บนหน้าผา มีตำนานเล่าขานเชื่อกันว่าในอดีตกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดนายพรานฆาฏกะ ซึ่งมีทิฎฐิมานะสันดานหยาบจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ ภิกษุฆาฎกะได้ทูลขอติดตามไปด้วย ซึ่งพระองค์ได้ห้ามไว้ เพื่อต้องการใช้ภิกษุฆาฎกะช่วยกันประกาศพระศาสนา ภิกษุฆาฎกะจึงทูลขอสิ่งที่เคารพสักการะไว้ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดอิทธิปาฏิหาริย์ให้เงาของพระองค์ติดไว้ ณ เงื้อมเขา จึงปรากฏเป็นรูปเงาของพระพุทธเจ้าตราบจนทุกวันนี้นั่นเอง  ปัจจุบันพระพุทธฉายนี้เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก ต่างแวะเวียนมาสักการะ ปิดทองบนผาหินอย่างไม่ขาด ทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังจัดเป็นวัดสำคัญของจังหวัดสระบุรีอีกด้วย

นอกจากรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา และพระพุทธฉายแล้ว ถัดจากมณฑปพระพุทธฉายไป ยังมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ให้เราได้สักการะบูชา ใกล้กันยังปรากฏพระปรมาภิไธยย่อของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสระบุรี รวมไปถึงพระปรมาภิไธยของพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ เดินเที่ยวสำรวจรอบๆ วัดจนทั่ว และแวะสักการะพระพุทธรูปต่างๆ แล้ว ก็ได้เวลาออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปในจังหวัดสระบุรี ซึ่งรับรองว่าจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพแบบนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจรออยู่อีกมาก ถ้าอยากรู้ว่าเราจะพาไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ก็อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

 
วัดพระพุทธฉาย
                 
ที่อยู่ : ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี  18000
GPS : 14.458102, 100.947862
เบอร์ติดต่อ : 0 3630 3169, 0 3622 5035
E-mail : contact@watpharaphutthachai.com
Website : http://www.watphraphutthachai.com
เวลาทำการ : 6.00-18.00 น.
ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี
ไฮไลท์ : พระพุทธฉาย หรือเงาภาพพระพุทธเจ้าบนหน้าผาหิน มีลักษณะคล้ายประทับยืนอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
กิจกรรม : สักการะพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา รวมถึงพระพุทธรูปปางต่างๆ ภายในวัด

วิธีการเดินทาง

จากกรุงเทพ มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรีโดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน เมื่อผ่านอำเภอหนองแคก่อนถึงตัวจังหวัดสระบุรี 5 กิโลเมตร (หรือประมาณ กม.ที่ 102) ให้ออกเส้นทางคู่ขนานแล้ว เลี้ยวเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 362 (เส้นทางเลี่ยงเมือง) ตรงมาอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางไปวัดพระพุทธฉายอยู่ทางขวามือ (ทางเข้าเดียวกับอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น) ให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้าย จะเห็นวัดอยู่ด้านหน้า

ข้อมูลเเละภาพประกอบจาก