ถ่ายทอดบทกวีด้วยเสียง! อัลบั้มแรกในไทย Silence is Violence ของ ตุล ไวฑูรเกียรติ

บันเทิง
ถ่ายทอดบทกวีด้วยเสียง! อัลบั้มแรกในไทย Silence  is  Violence ของ ตุล ไวฑูรเกียรติ

เมื่อบทกวีหลบหนีจากหน้ากระดาษครั้งแรก ของ “ตุล ไวฑูรเกียรติ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ตุล อพาร์ตเม้นต์คุณป้า” ศิลปินจากสังกัดสนามหลวงมิวสิก ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ

กับการแสดงบทกวีในรูปแบบ Spoken Word จนมารวมเป็นอัลบั้ม “Silence is Violence” เขียนและอ่านโดย “ตุล ไวฑูรเกียรติ” ที่นำเสนอ 16 บทกวีในรูปแบบของ spoken word หรือการนำบทกวีที่ปกติเสพด้วยการอ่าน มาถ่ายทอดด้วยการอ่านออกเสียง เพื่อให้เสพผ่านการฟัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับการนำเสนองานศิลปะในรูปแบบนี้ 
 
บทกวีส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองและบุคคลได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ขณะที่บางบทเป็นงานที่เขียนไว้ก่อนหน้า รูปแบบการนำเสนอให้อรรถรสที่ผู้รับสารได้รับและการตีความก็อาจต่างไปจากการอ่านผ่านหน้ากระดาษโดยตรง แม้จะเป็นรูปแบบการอ่านบทกวีเหมือนกัน  ในอัลบั้มชุดนี้ก็ยังเพิ่มความแตกต่างด้วยการเลือกให้บางบทมีเสียงแอมเบียนท์ประกอบในขณะที่บางบทเสียงที่ได้ยินมีเพียงเสียงอ่านของตุลเท่านั้น 
 
 
“เป็นเซนส์ของเราเองที่รู้สึกว่าบทไหนจะอยากให้เป็นเสียงอ่านล้วนๆ บทไหนอยากให้มีเสียงประกอบ ที่จริงแล้วจุดมุ่งหมายของผมคืออยากให้บทกวีแข็งแรงที่จะสแตนด์อโลนด้วยตัวมันเองได้ เพราะในต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามีอัลบั้มที่เป็นการอ่านบทกวีเปล่าๆ เลย เสียงที่คนฟังได้ยินก็คือเสียงบทกวีเท่านั้น แต่ตอนที่ทำอัลบั้มนี้ผมคิดว่าเราก็อยู่ในวงการดนตรีอยู่แล้ว เพื่อนๆ หลายคนก็ยินดีที่จะนำบทกวีเราไปตีความเป็นซาวนด์ ซึ่งอาจจะให้อารมณ์อีกแบบ การใส่ซาวนด์เข้ามาจึงเป็นเหมือนการทดลองอีกแบบ หน้าที่ของผมจบที่การเขียนและการอ่านแล้ว ส่วนเสียงที่ได้ยินเป็นการตีความของเพื่อนที่ร่วมงานกัน ทั้งดีเจและซาวนด์ดีไซเนอร์มือดีอย่าง Marmosets (มาร์โมเซ็ทส์), DCNXXX (ดิคอนเน็กซ์), Yaak Lab (ยักษ์แลป) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มศิลปินแนวอิเล็กทรอนิกในไทย” 
 
และบทแรก “สามัญใหม่”  บทเปิดของอัลบั้มซึ่งพูดถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ และเป็นบทที่เขาตั้งใจให้เป็นการบันทึกยุคสมัย บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลกระทบและสิ่งที่ได้เห็นในช่วงโควิด-19  ที่เขาอยากนำเรื่องเหล่านี้มาใส่ไว้ในงานของตัวเอง และบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมีการนำกลับมาฟังใหม่ก็จะสามารถบอกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาใดของบ้านเมือง 
 
 
“ผมอยากนำเรื่องนี้เข้ามาใส่เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นจุดเปลี่ยน ไม่ใช่แค่สำหรับตัวเรา แต่มันมีผลต่อมนุษยชาติ วิธีคิด วิถีการใช้ชีวิต ทุกอย่างเปลี่ยนไป และที่สำคัญช่วงที่ผ่านมานี้ก็มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดทางการเมืองของคนในยุคสมัยใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อทั้งสองเรื่องประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน เราจึงอยากใช้บทกวีบอกเล่าเหตุการณ์นี้ บอกเล่าช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ของเจเนอเรชัน ของวิธีคิด ที่คนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงต้องมาถึง disruptionอย่างไรก็ต้องมาถึง และบางทีก็มาเร็วกว่าที่คิด มาอย่างไม่ทันตั้งตัว” ตุลเล่าถึงความตั้งใจของเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่ร้อยเรียงเป็นบทกวี 
 
Silence is Violence ไม่ได้เป็นเพียงบันทึกของยุคสมัยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีบทกวีอีกหลายรสชาติ ครบทุกแง่มุมของชีวิต บทกวีคือการสื่อสาร เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของงานศิลปะอยากให้ลองมาสัมผัส และจะเข้าใจว่ามนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ การสื่อสารเท่านั้นที่จะทำให้คนเข้าใจ แต่การปิดกั้นจะไม่มีทางทำให้เกิดคำตอบได้ เพราะมนุษย์ต้องถกเถียงกันจึงเกิดคำตอบ 
 
“ศิลปะอาจเปลี่ยนสังคมไม่ได้ แต่ศิลปะเปลี่ยนใจคนหนึ่งคนได้ และหากคนหนึ่งคนนั้นมีพลังพอที่จะเปลี่ยนได้ มันก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ในที่สุด”