"มะเร็งในเด็ก" พบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก

ไลฟ์สไตล์
"มะเร็งในเด็ก" พบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก

มารู้จักกับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเด็ก พร้อมวิธีรับมือหากบัตรหลานของท่านกำลังเข้าข่ายเป็นโรคมะเร็งในเด็ก

แพทย์ชี้มะเร็งในเด็กพบได้ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ โดยมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่าร้อยละ 50 รองลงมา คือ มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมหมวกไต ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมทั้งมารดาติดเชื้อ HIV  หรือบริโภคสารก่อมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์  

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งในเด็ก เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15  ปี สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมีอัตราเกิดโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่  ปัจจุบันประเทศไทย

พบอุบัติการณ์ของเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 1,000 รายต่อปี โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบได้มากกว่าร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเด็ก รองลงมา ได้แก่ โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งต่อมหมวกไต
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็ก เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งจอตา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ เช่น รังสีเอกซ์ (รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) รังสีแกมม่า เป็นต้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว การทานผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง เชื้อราในถั่วลิสง ข้าวโพด อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก เช่น หอม กระเทียม พริกแห้ง การบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งรส สีสันต่างๆ หรือรมควัน ตลอดจนเกิดจากการติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัส  เอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี รวมทั้งการขาดสารบางชนิดของมารดาขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น วิตามินบี 9
 
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า
 
การวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กมีขั้นตอนและวิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือด สำหรับวิธีที่ได้ผลดีและแน่นอนที่สุด คือ การเจาะ ดูด หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบทางเซลล์วิทยาหรือพยาธิวิทยา สำหรับอาการของโรคมะเร็งในเด็กโดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือสามารถระบุอาการต่างๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกต ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกาย มีอาการไข้สูง โดยจะเป็นๆ หายๆ มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย มีจุดเลือดตามลำตัว แขน หรือขา อาการจะคล้ายคนเป็นไข้เลือดออก และอ่อนเพลียง่าย
 
ทั้งนี้ ระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ดังนี้ ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ ยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามมากขึ้น ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตมากขึ้น และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง ระยะที่ 4  ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามรุนแรง แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย
 
โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงของโรคสูง แต่มีโอกาสรักษาให้หายได้  ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก การตอบสนองต่อเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของเด็ก วิธีการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด  การใช้เคมีบำบัด และวิธีรังสีรักษา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่พบว่ามีความรุนแรงของโรคสูง เกิดการแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัด และมีอาการดื้อต่อเคมีบำบัด

สำหรับวิธีป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก  คือ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือสารก่อมะเร็ง จากอาหาร น้ำดื่ม  และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว โดยเฉพาะแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น  อาหารสำเร็จรูป บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และคอยหมั่นสังเกตเด็กหากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที