เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชาและหิ้งพระในบ้าน

ไลฟ์สไตล์
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชาและหิ้งพระในบ้าน

ห้องพระ หิ้งพระ และโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน ล้วนแต่เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคู่บ้านชาวพุทธ เราบูชาพระในบ้านมาตั้งแต่อดีตตามขนบทำเนียมที่ทำสืบทอดกันมา

เรือนไทยสมัยก่อนจะมี หอพระ เป็นส่วนประกอบตั้งอยู่ในตำแหน่งใกล้กับหอนอนของเจ้าของบ้าน อยู่ในทิศที่มีลมพัดผ่านเย็นสบายอย่างทิศเหนือและทิศตะวันออก แดดไม่ร้อน และเป็นตำแหน่งที่ไม่มีคนพลุกผ่านเพื่อให้เกิดความเงียบสงบในการไหว้พระสวดมนต์
 
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา
 
โต๊ะหมู่บูชาแบบลอยตัว
 
ปัจจุบัน หอพระ ในบ้านถูกเปลี่ยนเป็นห้องหับที่เป็นสัดส่วน เรียกกันตามยุคสมัยว่า ห้องพระ ยิ่งบ้านหลังไหนที่เจ้าของบ้านให้ความสำคัญด้วยแล้ว ขนาดของห้องพระก็จะถูกใส่ใจเป็นพิเศษ ตกแต่งอย่างสวยงาม รวมถึงองค์พระบูชาในบ้านก็เช่นกัน การจัดหิ้งพระจึงมักจะจัดแบบโต๊ะหมู่บูชา เริ่มตั้งแต่หมู่ 3 หมู่4 หมู่ 5 หมู่ 7 หมู่9 หมู่12 โต๊ะหมู่บูชาก็มีทั้งแบบโต๊ะลอยตัวที่หาซื้อได้ตามร้านบูชาสังฆภัณฑ์ทั่วไป ข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายทำความสะอาดได้ง่าย อีกแบบคือแบบบิลต์อินที่มัณฑนากรออกแบบให้ตามความเหมาะกับขนาดของห้อง ข้อดีคือสามารถออกแบบให้มีตู้ลิ้นชักสำหรับเก็บอุปกรณ์อื่นๆสำหรับบูชาพระได้ จำพวกหนังสือสวดมนต์ ธูป เทียน เป็นต้น
 
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา
 
โต๊ะหมู่บูชาแบบบิลต์อิน
 
แต่สำหรับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดไม่กว้างขวาง หรือเป็นครอบครัวสมัยใหม่ด้วยแล้ว หิ้งพระเหมือนจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมซึ่งมักจะสร้างเป็นหิ้งพระติดผนัง เรียบน้อย ทันสมัย แต่ก็สื่อถึงการเป็นชาวพุทธได้อย่างแยบยล ตำแหน่งสำหรับวางหิ้งพระมักอยู่ในโถงชั้นบนของบ้าน ตำแหน่งของห้องพระในบ้านควรอยู่ในบริเวณที่เงียบสงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนอบอ้าวจนทำให้เสียสมาธิ และที่สำคัญคือจะรักษาความสะอาดไม่ให้มีฝุ่น ยักไย่ หรือรกรุงรัง วางสิ่งของปะปนกับองค์พระ
 
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา
 
ตามหลักการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่ใช้ในพิธีต่างๆ นั้นจะประกอบไปด้วย พระพุทธรูป พานพุ่มดอกไม้ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป  แต่หากเป็นโต๊ะหมู่บูชาในบ้าน องค์ประกอบอื่นๆ จะเปลี่ยนไป บางบ้านอาจจะมีพระบูชามากกว่า 1 องค์ ทั้งพุทธรูป พระประจำวันเกิด พระอริยะสงฆ์ พระเกจิอาจารย์ พระเครื่อง รวมถึงสัตว์บูชาตามความเชื่ออย่างองค์พญานาค ครุฑ เป็นต้น ซึ่งการจัดวางตามลำดับนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1. พระพุทธรูป
 
พระประธานที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดต้องเป็นพระพุทธรูป นั่นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ที่นิยมบูชานั้น ได้แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นต้น การจัดวางนั้นต้องลำดับตามบารมีขององค์พระ และระวังด้วยว่าอย่าให้พระองค์อื่นในตำแหน่งต่ำกว่าหรือช่อดอกไม้บูชาอยู่ในระดับความสูงเกินกว่าองค์พระประธาน
 
2. พระอรหันต์
 
ในกรณีที่บ้านบูชาองค์พระอรหันต์ ให้วางในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูป ส่วนใหญ่พระอรหันต์ที่นิยมบูชาในบ้านได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระบัวเข็มหรือพระอุปคุต เป็นต้น
 
3. พระอริยสงฆ์
 
ลำดับรองลงมาคือพระอริยสงฆ์ ที่นิยมบูชาในบ้านเรือนได้แก่ หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต ซึ่งหากมีองค์พระพระอริยสงฆ์บูชาในบ้าน การจัดลำดับตามสมณะให้พิจารณาจากการละกายสังขาร แล้วลำดับตามความอาวุโส วางในฝั่งซ้ายขององค์พระพุทธองค์ ไล่มาฝั่งขวาตามลำดับ
 
4. รูปเหมือนสมมติสงฆ์
 
หรือพระเกจิอาจารย์ นอกจากนี้ในบางบ้านยังบูชาพระสมมติสงฆ์ตามศรัทธาส่วนบุคคล อาทิเช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ รวมถึงหลวงปู่ต่างๆ ที่คนไทยผูกพันมาเนิ่นนาน
 
5. พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย
 
ลำดับต่อมาคือรูปเคารพ รูปปั้น ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อาทิ พ่อขุนรามคำแหง พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าตากสินมหาราช และพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9
 
6. เทพฮินดู

ให้เรียงตามลำดับเช่นเดียวกัน คือ พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระนารายณ์ พระลักษมี พระพรหม พระสุรัสวดี พระพิฆเนศ พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ และฤาษี
 
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา
 
7. พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ 
 
หากที่บ้านบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ ให้พิจารณาดูว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระบรมสารีริกธาตุองค์พระพุทธเจ้าให้วางในตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป แต่หากเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ให้วางรองลงมาเรียงตามลำดับเช่นกัน
 
8. อัฐิ รูปบูชาของบรรพบุรุษ
 
หากจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเดียวกันกับองค์พระบูชาให้วางในตำแหน่งต่ำกว่าองค์พระ แต่หากมีพื้นที่สามารถแยกบูชาต่างหากได้
 
9. สิ่งปลุกเสกอื่นๆ
 
แม้ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาจะไม่ระบุให้มีสิ่งบูชาอื่นใด แต่ก็มีความเชื่อส่วนบุคคลที่นับถือบูชาสิ่งปลุกเสก ของขลัง เพื่อปกป้องให้ปลอดภัย ในกรณีที่บ้านบูชามีสิ่งปลุกเสกตามความเชื่อและศรัทธา อาทิ กุมารทอง รักยม นกคุ้ม วัวธนู ควายธนู สามารถวางบูชารวมในหิ้งพระได้แต่ต้องจัดวางในพานบูชาให้เรียบร้อย แต่หากสามารถแยกหิ้งบูชาได้จะดีกว่า
 
สิ่งสำคัญในการจัดวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสะอาด อย่าให้มีฝุ่นหรือยักไย่เกาะไม่ว่าจะเป็นหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่บูชา และห้ามลืมบูชาพระเป็นอันขาด การบูชาพระแบ่งเป็น 2 ด้วยกันคืออามิสบูชา เป็นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และการปฏิบัติบูชา หรือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวะนา หากปฏิบัติบูชาทั้งสองแบบแล้วจะเสริมบารมีให้เจ้าของบ้านยิ่งขึ้นไป
 
ไอเดียตกแต่งหิ้งพระและห้องพระ
 
เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา

เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา

เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา

เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา

เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา

เรียงลำดับพระบนโต๊ะหมู่บูชา
 

เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : คลังภาพนิตยสารบ้านและสวน
 
ขอบคุณข้อมูลจาก: บ้านและสวน
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.baanlaesuan.com