7 อุบัติเหตุใกล้ตัวลูกน้อย ที่ต้องระวัง

ไลฟ์สไตล์
7 อุบัติเหตุใกล้ตัวลูกน้อย ที่ต้องระวัง

อุบัติเหตุในเด็กเล็ก ยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย และเป็นข่าวที่น่าสะเทือนใจสำหรับคนในสังคม เพราะเป็นวัยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอันตรายกับตัวเองมากนัก

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
 
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. ได้นำความรู้เรื่อง การป้องกันอุบัติเหตุในเด็กปฐมวัย โดย ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาฝากค่ะ
 
ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า  ที่ผ่านมาพบเด็กเล็กมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุที่สูงขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กขึ้น  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้การดำเนินงานการสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
 
อุบัติเหตุใกล้ตัวเด็กเล็กมีอะไรบ้าง
 
1. การนอนของเด็ก

การเสียชีวิตจากการนอน เกิดจากการนอนคว่ำหน้านาน ๆ ทำให้เด็กขาดออกซิเจน หรือการที่ลูกนอนกับแม่และด้วยความไม่ตั้งใจทำให้แม่นอนทับเด็กจนเสียชีวิต  หรือเด็กนอนทับเด็กด้วยกันจนเสียชีวิต สาเหตุเป็นเพราะเด็กจะนอนหลับสนิทกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าผู้ใหญ่นอนทับเด็ก
 
วิธีการป้องกันคือ จัดให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนนอนหงาย และห่างจากผู้นอนร่วม 1 เมตร ในกรณีที่นอนบนพื้น อย่าให้เด็กนอนใกล้กับสิ่งของที่หล่นทับได้ และป้องกันเด็กตกลงไปติดค้างระหว่างช่องของเตียง
 
2. ของเล่นสำหรับเด็ก

ต้องเป็นของที่มีขนาดไม่เล็กหรือมีชิ้นส่วนแตกหักที่สามารถทำให้สำลักเข้าหลอดลมได้ ต้องมีมาตรฐาน มอก. และไม่มีสาร บีพีเอ (สารเคมีในพลาสติกแข็งที่รบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อสมอง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมากในระยะยาว) และต้องไม่มี ลักษณะที่เป็นด้ามยาวที่เด็กอมเข้าปากได้หรือปลายด้ามทุกด้านต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่า 3.5*5ซม. หรือถ้าเป็นทรงกลม ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 4.2 ซม.
 
3. การคว้าสิ่งของ ดึง ปัด การปีนบ่ายที่สูง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
 
มักเกิดขึ้นในเด็กวัย 6-12 เดือน ไม่ควรวางของร้อนบนโต๊ะที่ไม่มั่นคงเพราะเด็กเดินชนแล้วทำให้ล้มลงได้ง่าย เก็บสายไฟของกาน้ำร้อนให้เรียบร้อยอย่าให้ห้อยอยู่ต่ำในระดับที่เด็กสามารถดึงกระชากได้
 
4. การจมน้ำ
 
เป็นสาเหตุอันดับ 1 ในการเสียชีวิตของเด็ก เพราะพฤติกรรมที่ชอบเล่นน้ำ หรือการเอามือลงไปแกว่งในน้ำอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ การจมน้ำไม่จำเป็นจะต้องอยู่ริมน้ำเสมอไป ซึ่งการปล่อยเด็กให้การอาบน้ำหรือเล่นน้ำในอ่างน้ำ กาละมัง หรือถังน้ำในบ้าน หรือแหล่งน้ำที่ผู้ใหญ่คิดว่าไม่น่าจะเป็นอันตรายกจะทำให้ผู้ใหญ่ประมาท จึงควรมีผู้ใหญ่คอยเฝ้าอยู่ตลอด
 
วิธีการป้องกันคือ เทน้ำออกจากกาละมังเมื่อใช้เสร็จหรือใช้ฝาปิด ปิดประตูห้องน้ำ กั้นพื้นที่ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ
 
5.การเขย่าตัวเด็ก
 
ผลจากการวิจัยพบว่า การเขย่าตัวจะทำให้เส้นประสาทในสมองฉีกขาด การฉีกขาดของเส้นเลือด ทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ และมีการฉีกขาดของเส้นเลือดในลูกตา ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนไม่ควรเขย่าตัวลูกเพื่อให้เด็กหยุดร้องไห้ ถ้าลูกร้องมาก ๆ ให้คนอื่นอุ้มแทน จะได้ไม่รู้สึกรำคาญแล้วใส่อารมณ์กับลูก
 
6.อุบัติเหตุที่เกิดจากรถยนต์และรถจักรยานยนต์
 
การให้เด็กนั่งบนตักหรือบนเบาะรถ โดยไม่มีการป้องกันหรืออุปกรณ์เสริมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ ควรมีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ ส่วนรถจักรยานยนต์คนขับไม่ควรอุ้มเอง อาจจะใช้สายรัดไว้กับตัวผู้ใหญ่
 
7.รถพยุงตัว หรือรถหัดเดิน
 
1 ใน 3 ของเด็กที่ใช้รถพยุงตัว เกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บในขณะใช้บางรายเสียชีวิต ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เรียกว่า รถพยุงตัว ไม่ให้ใช้คำว่า รถหัดเดิน และให้กำกับฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ให้ผู้ดูแลเด็กรู้ว่าอาจมีอันตรายและไม่ช่วยในการหัดเดิน ผู้ใหญ่ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์นี้
 
แม้ว่าบ้านจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็ตาม แต่อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ  เพราะฉะนั้น การจัดการสิ่งเเวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลให้มากขึ้นจะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้

ขอบคุณข้อมูลจาก